บทบาท’ไทย’ ใน ‘เวทีโลก’ ต้องไม่จบแค่เจ้าภาพเอเปค

บทบาท’ไทย’ ใน ‘เวทีโลก’ ต้องไม่จบแค่เจ้าภาพเอเปค

ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 และการประชุมที่เกี่ยวข้องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมได้อย่างดีในระดับหนึ่ง เห็นได้จากการชื่นชมจากผู้นำเขตเศรษฐกิจ รวมทั้งสื่อต่างประเทศที่ได้เดินทางมายังประเทศไทยรวมกว่า 5,000 คน

ไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพเอเปคในปีนี้สามารถผลักดันปฏิญญา 2 ฉบับ ทั้งปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC2022 และ Bangkok Goals ให้ผู้นำได้ให้การรับรองร่วมกัน ก่อนจะส่งต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคให้สหรัฐฯรับไม้ต่อในปีต่อไป

การได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง APEC ที่มีสมาชิกกว่า 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรกว่า 2,800 ล้านคน และมีGDP รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 59% ของโลก ถือว่ามีความสำคัญ และพิเศษในตัวเองอยู่แล้ว

เพราะสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปคสูงมาก แบ่งเป็นการค้าในเอเปค 69.8% ส่วนการค้านอกเอเปคอยู่ที่30.2% กลุ่มเอเปคจึงเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

โดยการผลักดันแนวทาง “BCG” ผ่าน “Bangkok Goals” และการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือFree Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมได้ผลักดันได้รับการยอมรับ

บทบาท’ไทย’ ใน ‘เวทีโลก’ ต้องไม่จบแค่เจ้าภาพเอเปค

ทั้งนี้เมื่อมองไปในภายหน้าทั่วโลกยังมีปัญหาและความท้าทายที่รออยู่อีกมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งในแต่ละภูมิภาค ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่บางครั้งปัญหาใหญ่เกินกว่าที่ประเทศใดจะแก้ปัญหาได้โดยลำพัง ทำให้หลายประเทศต้องหันมาร่วมมือกันในการพัฒนา และแก้ปัญหาต่างๆร่วมกัน การหารือรูปแบบทวีภาคี และพหุภาคีจึงยังมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ในภูมิภาคอาเซียนมีหลายประเทศที่เข้ามาท้าชิงบทบาทการนำของประเทศไทย หากไม่รวมสิงคโปร์ที่มีบทบาทในเวทีต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็ยังมีเวียดนามในฐานะแหล่งลงทุนใหม่ของโลก อินโดนิเซีย ที่มีตลาดขนาดใหญ่ และทรัพยากรมากมาย ประเทศไทยต้องสร้างบทบาทให้ได้รับความสนใจจากนานาประเทศเช่นกัน

อย่างไรก็ตามยังมีหลายเรื่องที่ในฐานะชาติสมาชิก และเจ้าภาพของการจัดเอเปคครั้งนี้ต้องคิด ต้องทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทย“ในเวทีโลก”

เวทีการเมืองระหว่างประเทศปัจจุบันมีความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนมากขึ้น มีประเด็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันของมหาอำนาจของโลกในแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีรากฐานมาจากปัญหาที่หลากหลายที่สั่งสมก่อนหน้านี้ และซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศทรุดตัว และต้องใช้เวลาในการเยียวยาฟื้นฟู

ในสภาวะที่โลกยังต้องการความร่วมไม้ร่วมมือในทุกๆด้าน และประเทศไทยต้องการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการค้า และการลงทุนจากต่างประเทศ 

สิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำต่อเนื่องก็คือจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยยังมีบทบาทในเวทีโลก รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับภูมิภาค และในระดับนานาชาติแม้ว่าการเป็นเจ้าภาพเอเปคจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม