การประชุม APEC 2022: พลวัตสู่ความยั่งยืน

สวัสดีครับ นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็จะถึงเวลาเริ่มประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting) ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐที่มีวาระการประชุมครอบคลุมทั้งประเด็นด้านความท้าทายและโอกาสในการผลักดันความร่วมมือเชิงนโยบายในระดับพหุภาคี

ซึ่งจะจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 18-19 พ.ย. 2565  ในปีนี้ประเทศไทยได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมอีกครั้งในรอบ 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นการประชุมแบบพบหน้าอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก หลังจากที่ผู้นำต้องประชุมในรูปแบบออนไลน์ในสองปีที่ผ่านมา

เป็นที่ทราบกันดีว่าพลวัตของความร่วมมือภายใต้เอเปคครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าในปี 2564 การค้าของไทยกับกลุ่มเอเปคซึ่งมีสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ มีมูลค่า 385.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.5 ของการค้าไทยกับทั่วโลก

โดยไทยส่งออกไปเอเปค มูลค่า 195.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72 ของการส่งออกรวมของไทย และนำเข้าจากเอเปค มูลค่า 190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71 ของการนำเข้ารวมของไทย

ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพเป็นผู้กำหนดหัวข้อหลัก (Theme) ในงานประชุมเอเปคครั้งนี้ ซึ่งค่อนข้างจะมีความพิเศษกว่าปีก่อนๆ โดยมีสาระสำคัญที่ชูประเด็นด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจน นั่นคือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open. Connect. Balance.) หมายถึงเปิดทุกโอกาสให้ทุกภาคส่วน

และเชื่อมโยงทุกมิติทางเศรษฐกิจเพื่อการฟื้นฟู อาทิ การเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ความเชื่อมโยงข้อมูลทางดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมการเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกมิติที่มากกว่าการแสวงหากำไรในระยะสั้น ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน  

 ตัวอย่างไฮไลท์ความร่วมมือที่ประเทศไทยมุ่งเน้นสำหรับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในปีนี้ คือความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ เป็นต้น  นอกจากนี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญภายใต้หัวข้อการสร้างสมดุลรอบด้าน (Balance) คือพลังงานหมุนเวียน

ซึ่งจุดนี้เองเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยในการชูโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” เป็นแนวคิดหลักเพื่อสนับสนุนการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับสร้างผลกำไร

ภายใต้การประชุมย่อยภายใต้ APEC 2022 มีการประชุมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในมุมมองด้านความยั่งยืนคือ การประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม ซึ่งมีการจัดประชุมคู่ขนาน (Side Meeting) เกี่ยวกับเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) โดยมีผู้แทนจากธนาคารกลางจากเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมถึงสถาบันการเงินชั้นนำ รวมทั้งกรุงศรีและมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เพื่อหารือและให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายร่วมกัน

 นอกจากนี้ ยังมีการประชุมสำคัญที่เป็นที่จับตาของภาคเอกชน ได้แก่ APEC CEO Summit 2022 ซึ่งจัดในวันที่ 16-18 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากเป็นที่รวมของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในระดับโลก รวมทั้งผู้นำภาคเอกชนชั้นนำที่จะมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และพิจารณาประเด็นที่เร่งด่วนในการส่งเสริมกิจกรรมและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

โดยจะมีการกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ Innovation’s Next Frontier, The Circular Economy, Inclusive Growth เป็นต้น กล่าวได้ว่าเวทีเอเปคภาคเอกชนแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในระดับโลกเลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้ บางท่านได้แสดงความเป็นห่วงว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศตลอดทั้งปีที่ผ่านมา จะกระทบการเข้าร่วมประชุมเอเปคของผู้นำโลกในช่วงปลายปีนี้หรือไม่ แต่จากข้อมูลที่เปิดเผยล่าสุด ผู้นำจากหลายเขตเศรษฐกิจได้ให้การยืนยันการเข้าร่วมประชุมที่ประเทศไทยแล้ว

 และที่สำคัญ การได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในครั้งนี้ จะยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่ได้ก้าวผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ด้วยความยืดหยุ่นในการปรับตัว (Resilience) อีกทั้งมีความพร้อมในการจัดงานระดับนานาชาติเพื่อต้อนรับผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่างๆ ซึ่งสะท้อนสถานะและบทบาทของไทยบนเวทีโลก  นอกจากนี้

ยังมีเนื้อหาการประชุมในภาพรวมที่สอดคล้องกับแนวโน้มกระแสหลักของโลกในด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมั่นใจได้ว่าความสำเร็จของงานนี้น่าจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนานาประเทศต่อประเทศไทย อันจะต่อยอดไปสู่การกระตุ้นการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยวของเรา ตามที่มุ่งหวังได้อย่างแน่นอนครับ