ใช้มาตรการ 'คนละครึ่ง' แค่เท่าที่จำเป็น

ใช้มาตรการ 'คนละครึ่ง' แค่เท่าที่จำเป็น

สถานการณ์ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงตามราคาตลาดโลกในปัจจุบัน จนทำให้สินค้าหลายชนิดปรับราคาขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อประชาชนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน มีการสอบถามถึงมาตรการคนละครึ่งเฟส5 เป็นระยะๆ

มาตรการลด และบรรเทาภาระค่าครองชีพจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังจะหมดอายุลงในเดือน ก.ค.นี้ แต่สถานการณ์สงคราม ความขัดแย้ง และการคว่ำบาตรยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ง่ายๆ

ในสัปดาห์นี้หน่วยงานเศรษฐกิจรัฐบาลมีกำหนดนัดหารือกันถึงการต่ออายุ หรืออาจมีมาตรการเพิ่มเติมออกมารองรับ

มีคำถามเป็นระยะๆว่าหนึ่งในมาตรการของภาครัฐที่จะออกมารอบใหม่จะมี “คนละครึ่งเฟสที่5” ออกมาด้วยหรือไม่หลังจากที่โครงการในเฟสที่ 4 หมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนคำตอบจากรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการนี่้ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนมากนัก

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์บอกว่ามาตรการคนละครึ่งจะมีต่อหรือไม่หน่วยงานเศรษฐกิจต้องดูข้อมูลหลายๆด้านประกอบกัน เช่น ตัวเลขการบริโภคของประชาชนและภาคเอกชนลดลงหรือไม่ หรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

แม้ว่าในขณะนี้เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะเหลือวงเงินอยู่อีกประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจริงๆแล้วก็พอที่จะทำมาตรการคนละครึ่งได้ แต่เรื่องที่สำคัญกว่าคือไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการที่จะทำต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินเป็นจำนวนมาก

ที่ผ่านมาในอดีตมีบางโครงการที่มีการทำต่อเนื่องในระยะยาวแล้วสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นโครงการที่ต้องทำตลอดไป ยกตัวอย่างเช่นโครงการรถเมล์ รถไฟฟรี กว่าที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ในส่วนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ต้องใช้เวลานับ10 ปี

สิ่งที่เลขาฯสภาพัฒน์พูดถือว่าถูกต้อง แม้ว่าคนละครึ่งจะเป็นนโยบายที่ “ประชานิยม” คือคนจำนวนมากชื่นชอบ และจะว่าไปก็เป็นโครงการที่ฝ่ายการเมืองก็ถููกใจเพราะนำไปขาย ขยายต่อได้ แต่หากพิจารณาในเรื่องวินัยทางการเงินการคลัง โครงการนี้ไม่สามารถใช้ต่อเนื่องในระยะยาว

ที่ผ่านมาตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับโควิด-19มีการออกมาตรการคนละครึ่งมาแล้ว 4 รอบ ใช้วงเงินรวมกันถึง 222,300 ล้านบาทแบ่งเป็นโครงการคนละครึ่งเฟสที่ 1 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ 10 ล้านคน โครงการคนละครึ่งเฟสที่ 2 วงเงิน 22,500 ล้านบาทผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ 15 ล้านคน

ส่วนโครงการคนละครึ่งเฟส 3 มีการอนุมัติโครงการ 2 รอบ โดยใช้ วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ 31 ล้านคน และในรอบที่ 2 เพิ่มเติมใช้วงเงินเพิ่มเติมอีก 4.2 หมื่นล้านบาท มีผู้ได้รับสิทธิ์ 28 ล้านคน และคนละครึ่งเฟสที่ 4 ใช้วงเงินไป 34,800 ล้านบาทผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ 29 ล้านคน

ในภาวะที่สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึง "ทรัพยากรการเงิน" ที่มีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเงินกู้หรือเงินงบประมาณ การใช้เม็ดเงินของภาครัฐยิ่งต้องมีประสิทธิภาพ ตรงเป้าหมายมากที่สุดการพิจารณาว่าจะใช้มาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ในการดูแลค่าครองชีพประชาชนหรือไม่ หรือกล้าที่จะบอกประชาชนว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการนี้ “เท่าที่จำเป็น” ถือว่าเป็นความกล้าหาญทางการเมืองที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

...ส่งสัญญาณชัดเชนให้ประชาชนไม่เสพติดนโยบายที่เรียกว่า “ประชานิยม”