หยุดเกษตรเช่า หนุนเกษตรร่วม: ทางออกในภาวะวิกฤต

หยุดเกษตรเช่า หนุนเกษตรร่วม: ทางออกในภาวะวิกฤต

ในวิกฤตหลายๆครั้ง ภาคเกษตรเป็นแหล่งพักฟื้นประคองชีวิตของใครหลายคน รวมถึงวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ด้วย

บทความโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล, สุทธิเกียรติ ชุนประสาน

ภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยมาตลอด และมีคนอยู่ในภาคเกษตรสูงถึงกว่า 13 ล้านคนหรือร้อยละ  34 ของกำลังแรงงานทั้งระบบ  อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาภาคการเกษตรไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง เพราะจากข้อมูลพื้นที่การเกษตรและจำนวนเกษตรกร พบว่า จำนวนเกษตรกรรายย่อยลดลง คนจำนวนมากหันหน้าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการมากยิ่งขึ้น

        ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเกษตรกรรายย่อยมีที่ดินจำกัดเผชิญกับต้นทุนต่อหน่วยที่สูง โอกาสทำแล้วคุ้มหรือได้กำไรจึงยาก ผลผลิตต่ำแต่ความเสี่ยงสูง ราคาผันผวนรุนแรง ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนหนี้สินของเกษตรกรมีจำนวนมากทั้งจากที่กู้ยืมเพื่อมาทำการเกษตรและใช้ในการดำรงชีวิต สุดท้ายแล้วคนรุ่นหลังๆ จึงมีมุมมองต่ออาชีพเกษตรกรว่าเป็นอาชีพที่ยากจน รายได้ต่ำ ไม่สามารถทำให้ลืมตาอ้าปากได้

  • ในปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนเนื้อที่ที่ถือครองเพื่อการเกษตร 149 ล้านไร่ โดยเนื้อที่ดังกล่าวเป็นของเกษตรกรเอง 72 ล้านไร่หรือร้อยละ 48 พูดง่ายๆ ว่า กว่าครึ่งของเกษตรกรในประเทศไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ทำให้ต้องเช่าที่ดินทำกิน นั่นจึงทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรนั้นสูงขึ้นกว่าการมีที่ดินเป็นของตนเอง เพราะยังมีค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เจ้าของที่ดิน
  • เหตุการณ์แบบนี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้เพราะประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เข้มข้นกว่านี้ หมายความว่า จำนวนคนวัยแรงงานทั้งประเทศจะลดลง ภาคการเกษตรเองนั้นก็จะเหลือเพียงแรงงานสูงวัย ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ชี้ว่า ความสูงวัยของหัวหน้าครัวเรือนมีความสัมพันธ์กับผลิตภาพต่อไร่และผลิตภาพต่อแรงงานอีกด้วย

 

หากไม่มีคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานมารับช่วงต่อ ประกอบกับภาวะหนี้สินของเกษตรกรที่ต้องแบกรับ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรต้องขายที่ดินทำมาหากินทิ้งไป เกษตรกรอิสระรายเล็กรายย่อยก็จะยิ่งจะค่อยๆ เลิกไปหรือเปลี่ยนไปเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงาน หรือที่เจ็บช้ำที่สุดก็คงเป็นการทำเกษตรเช่า ซึ่งต้องเช่าที่ดินที่ตนเองได้เคยมีไว้ในครอบครองเพื่อมาทำการเกษตร

        หากปล่อยให้สถานการณ์เรื้อรังไปแบบนี้ พื้นที่ทำการเกษตรที่ถือครองโดยเกษตรกรเองอาจจะยิ่งลดน้อยลง จนแทบไม่เหลือเลย แต่ เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอเพราะเราเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาสนใจอาชีพเกษตรกรมากยิ่งขึ้น คนรุ่นใหม่มีแนวคิดกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอยากพัฒนาชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้น หรือแม้แต่คนในเมืองที่ไม่เคยข้องเกี่ยวกับเกษตรเลย  ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อยากหลีกหนีความวุ่นวาย สภาพแวดล้อมที่กดดันในเมือง หันไปพึ่งพิงการทำการเกษตรมากยิ่งขึ้น

        ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก Year in Search 2020 Thailand ที่จัดทำโดย Google ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมของคนได้เปลี่ยนแปลงไปโดยหันมานึกถึงคนอื่นมากขึ้น คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน หลายคนมองหาวิธีการที่จะทำประโยชน์ให้สังคม ที่สำคัญคนมีความพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการค้นหาเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ (digital transformation) ที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 35

       เราทราบกันดีว่าการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้นมีพลัง  การทำเกษตรร่วมก็สามารถทำได้จากแพลตฟอร์มนี้เช่นกัน  เช่น ประกาศตามหาและดึงคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ เก่งเทคโนโลยีหรือคนที่มีความสนใจในการทำเกษตร มาทำงานร่วมกับเกษตรกรสูงวัยผสมผสานผนึกกำลังคนสองช่วงอายุ ที่มีที่ดินอยู่ในครอบครองอยู่แล้ว มีความรู้ ความชำนาญในการทำเกษตรแบบดั้งเดิม

นี่เป็นอีกไอเดียที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาวงจรเกษตรเช่าที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร ไม่มีคนสืบสานต่อ รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนากระบวนการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าและการเข้าถึงตลาดช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มากขึ้น มีหนี้สินที่ลดลง

        การทำเกษตรร่วมเป็นการปรับมุมมองจากการทำเกษตรแบบเดิมที่แรงงานหรือผู้ประกอบการถูกจำกัดแค่คนในพื้นที่ชุมชนหรือละแวกใกล้เคียงเท่านั้น  การทำเกษตรร่วมเป็นการนำ Platform ที่มีอยู่แล้วและมีผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วประเทศมาต่อยอดในการทลายข้อจำกัดด้านพื้นที่และการสื่อสาร เพิ่มโอกาสในการรับรู้ และดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจมาสู่ภาคเกษตรกรรมได้

การออกแบบนโยบายและกลไกเพื่อยกระดับภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการวางนโยบายเกษตรในภาวะที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ  สถานการณ์ความสูงวัยของครัวเรือนก็ยังมีความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่ การผนึกกำลังภูมิปัญญาของแรงงานสูงอายุ เข้ากับความสามารถด้านเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่อาจสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และบรรเทาผลกระทบจากสังคมสูงวัยไปได้

เมื่อเรามองเห็นวิกฤตในอนาคต  อย่าได้ละเลย  เพราะอนาคตแก้ได้ตั้งแต่วันนี้ และนี่อาจเป็นโอกาสอันดีในวิกฤตที่เราได้เห็นคนรุ่นรุ่นใหม่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากของไทย.