การกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์

การกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์

โครงสร้างตลาดและการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านกิจการโทรทัศน์ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างการกำกับดูแล

บทความโดย ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

โทรทัศน์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2416 โดยนายลีโอนาร์ด เมย์ และได้เกิดการแพร่ภาพเป็นการส่งกระจายภาพและเสียงออกไปในรูปสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศสหราชอาณาจักร  ส่วนจุดกำเนิดของโทรทัศน์ไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 เป็นวันออกอากาศแพร่สัญญาณอย่างเป็นทางการวันแรกของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด

ในปี พ.ศ. 2510 โทรทัศน์ไทยเริ่มมีการพัฒนาจากระบบขาวดำเปลี่ยนเป็นระบบสี โดยสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นสถานีโทรทัศน์สีแห่งแรกของไทย และพัฒนาต่อมาจนปี พ.ศ. 2557 กสทช. ได้ประกาศทดลองออกอากาศโทรทัศน์แบบทีวีดิจิทัล ซึ่งได้เข้ามาแทนที่ทีวีอนาล็อกและเป็นผลให้ผู้ชมสามารถเลือกชมรายการได้หลายช่องมากขึ้นด้วยภาพและเสียงที่มีความคมชัดสูง

ในส่วนบทบัญญัติของกฎหมาย พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ได้ให้ความหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรทัศน์ไว้ในมาตรา 4 ไว้ว่า  “วิทยุโทรทัศน์” หมายความว่า วิทยุคมนาคมที่แพร่ภาพและเสียงเพื่อให้บุคคลทั่วไปรับได้โดยตรง  

ส่วนคำว่า “กิจการโทรทัศน์” หมายความว่า กิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรทัศน์ซึ่งให้บริการการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมและฟังการให้บริการนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะส่งโดยผ่านระบบคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบรวมกัน หรือกิจการอื่นทำนองเดียวกันที่ กสทช. กำหนดให้เป็นกิจการโทรทัศน์

นอกจากนี้ กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรทัศน์ คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้แบ่งกิจการโทรทัศน์ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ และกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ โดยตามพระราชบัญญัตินี้ได้ให้ความหมายของกิจการทั้ง 2 ประเภทไว้ในมาตรา 4 ดังนี้

“กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่” หมายความว่า กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ซึ่งต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

“กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่” หมายความว่า กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ซึ่งไม่ต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

หากพิจารณาเปรียบเทียบกับการกำกับดูแลการให้บริการกิจการโทรทัศน์ในต่างประเทศ ดังเช่นในประเทศเกาหลีใต้ กิจการที่อยู่ภายใต้การควบคุมได้แก่ เคเบิลทีวี กิจการโทรคมนาคม กิจการวิทยุ กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ภายใต้กฎหมาย Internet Multimedia Broadcasting Business Act 2013, Telecommunications Business Act 2015 และ Broadcasting Act 2015 จะพบว่ามีการแบ่งการกำกับดูแลออกเป็นด้าน ๆ เป็นการเฉพาะ โดยจะมีแต่ละหน่วยงานแบ่งหน้าที่ในการกำกับดูแล

สำหรับประเทศไทยใช้บทกฎหมายกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในการกำกับดูแล เช่น ในเรื่องการกำกับดูแลการเผยแพร่เนื้อหา มีกฎหมายกำกับดูแลด้านการเผยแพร่เนื้อหาอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน  โดยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 กำหนดให้ “ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือ กิจการโทรทัศน์ต้องตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุง หรือระงับรายการที่มีเนื้อหาสาระอันต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมาย”

สำหรับมาตรการในการลงโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องนี้ จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 โดยผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการจัดทำเนื้อหารายการ และตรวจสอบผู้ผลิตเนื้อหาในช่องรายการของตน หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วจะต้องได้รับโทษ โดยโทษนั้นมีความรุนแรงในสองระดับ ได้แก่ การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต

ปัจจุบันโครงสร้างตลาดและการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรทัศน์ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาทางเทคโนโลยี ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันการหลอมรวมสื่อที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการแพร่ภาพกระจายเสียงและการให้บริการโทรคมนาคมเลือนลางลง จนไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างการกำกับดูแล

เนื่องจากการกำกับดูแลกิจการทั้งสองประเภทถูกแยกออกจากกัน จึงไม่สามารถกำกับดูแลกิจการหลอมรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้อาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงการสร้างกลไกการกำกับดูแลร่วมเพิ่มเติมจากการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้งยังจำเป็นต้องมีการออกแบบกฎระเบียบที่ชัดเจน และการสร้างการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการที่ใช้แพลตฟอร์มเดียวกันและข้ามแพลตฟอร์มประกอบกันด้วยเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการผูกขาดตลาดลงและลดความเสี่ยงจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อไป.