ความปลอดภัย สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม

ความปลอดภัย สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม

บทความในวันนี้  ผมจะไม่พูดถึง “สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้” เนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาวิเคราะห์และให้ข้อมูลทางวิชาการมากมายอยู่แล้ว 

ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรณีการเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติกของ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ  เมื่อเช้ามืดของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นี้     นอกจากจะทำให้มีผู้บาดเจ็บ 30 ราย และเสียชีวิต 1 รายแล้ว  ยังได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนและชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงงานในรัศมี 1-5 กิโลเมตร เพราะต้องอพยพหนีภัยในเวลาเกิดเหตุ  ซึ่งขณะนี้ยังประเมิน ความสูญเสียไม่เสร็จสิ้น

ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน  ก็ยังมีการเก็บซากอาคารและทำการกำจัดมลพิษทางดิน น้ำ และอากาศ  โดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ สั่งการ  และดำเนินการต่างๆ มากมาย

กรณีนี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)  และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารเคมี ที่ตกค้างในพื้นที่อย่างเร่งด่วน  โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการต่างๆ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชน  ผู้ประกอบกิจการโรงงานและคนงานอย่างใกล้ชิด

จากการตรวจประเมินเบื้องต้น  ขณะนี้ทราบว่ายังมีสารสไตลีนโมโมเมอร์ตกค้างอยู่จำนวนหนึ่ง  ซึ่งได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขและกำจัดมลพิษต่างๆ ให้หมดอันตราย

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันสำหรับ “โรงงานที่มีความเสี่ยง เป็น 2 ระยะ คือ

(1) ระยะสั้น ได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดทำหนังสือแจ้งให้โรงงานปฏิบัติตาม แผนการบริหารความเสี่ยง อย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานเคมีภัณฑ์ 446 โรงงาน  โดยให้ประสานกับสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเร่งด่วน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ในทุกช่องทาง

(2) ระยะยาว ได้กำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จัดลำดับอันตรายของโรงงานที่มีความเสี่ยงและตรวจสอบอย่างเป็นระบบ โดยให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “Safety Application” เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบและเก็บข้อมูลโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีการใช้สารเคมีอันตรายมากน้อยเพียงใด เก็บอย่างไร ป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีอย่างไร รวมถึงวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันการดำเนินการต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

บทความในวันนี้  ผมจะไม่พูดถึง “สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้” เนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาวิเคราะห์และให้ข้อมูลทางวิชาการมากมายอยู่แล้ว  แต่จะพูดถึงผลกระทบของอุบัติเหตุอันตรายต่อสังคมไทยในภาพรวม

เราลองนึกทบทวนย้อนหลังดูว่า  เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกี่ครั้งกี่หนแล้วในบ้านเรา อาทิ

  • รถแก๊สคว่ำที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
  • โป๊ะล่มที่ท่าเรือข้ามฟากท่าพระจันทร์
  • ตึกโรงแรมชื่อดังถล่มที่โคราช
  • ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาที่นครปฐม
  • ไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งกลาง กทม.
  • ไฟไหม้คอนโดมิเนียมที่หัวมุมถนนราชประสงค์
  • ไฟไหม้โรงแรมชื่อดังที่ชายหาดจอมเทียนพัทยา
  • ไฟไหม้โรงงานไทยออยล์
  • และอื่นๆ อีกมากมายที่กลายเป็น “อุบัติเหตุซ้ำซากที่ไม่รู้จักจบสิ้น

            เหตุการณ์ร้ายแรงข้างต้นนี้  ทำให้เราพอจะสรุปได้ว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ขาดการเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องจริงจังจากสังคมไทย  แต่เราก็ให้ความสำคัญเป็นครั้งๆ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ คือทำแบบ “วัวหายล้อมคอกและ ไฟไหม้ฟางเสมอๆ

            เราจึงอยู่ใน “วังวนของอุบัติเหตุอันตรายซ้ำซาก

            โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของ สิทธิในการรับรู้(Right to Know) ของผู้คนที่อยู่รอบโรงงาน หรือ ใกล้บริเวณที่เสี่ยงภัยต่างๆว่า  โรงงานทำอะไร ใช้วัตถุดิบหรือสารเคมีอะไรบ้าง  มีพิษหรืออันตรายมากน้อยเพียงใด  เก็บไว้ที่ใด  มีจุดเสี่ยงอะไรบ้าง เป็นต้น แทนที่จะวนเวียนกับคำถามที่ว่า  โรงงานตั้งอยู่ก่อน หรือ บ้านพักอาศัยอยู่ก่อนหรือกล่าวโทษกันไปมา  โดยลืมการเตรียมการป้องกันที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า

            ความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุร้ายแรงที่มีผลต่อชุมชนโดยรอบ  จึงมีค่าเกินกว่าที่จะคาดหมายได้ และเป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องอีกมากมายเดือดร้อนไปด้วย

ดังนั้น “ความรับผิดชอบต่อสังคมบนพื้นฐานของแนวความคิดเรื่อง ความยั่งยืนหรือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development : SD)  จึงเป็นเรื่องที่ ผู้นำต้องผนวกเอาไว้ในนโยบายและยุทธศาสตร์ขององค์กรเสมอและจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย ครับผม !