Green Meetings

Green Meetings

การทำงานในองค์กรต่างๆ มักมีการประชุมหารือเป็นประจำ ทั้งในกลุ่มเล็กๆและการจัดอย่างเป็นทางการ ล้วนต้องใช้ทรัพยากรและพลังงาน ก่อให้เกิดขยะตามมา

เรียบเรียงโดย สุพรรณิภา หวังงาม นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ประจำสำนักเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TBCSD)

แม้ทุกวันนี้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือการประชุมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยไม่ค่อยมีข้อจำกัดเรื่องเวลามากนัก และช่วยลดการใช้พลังงานในการเดินทางไปได้มาก แต่การประชุมในสถานที่จริงก็ยังมีการดำเนินการกันอยู่เนื่องจากมีจุดเด่นบางประการซึ่งการประชุมออนไลน์ยังทดแทนไม่ได้ โดยเฉพาะการสื่อสารที่ชัดเจนและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน 

 หากองค์กรต้องจัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรมในสถานที่จริง จะทำอย่างไรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 การจัดประชุมสีเขียวในองค์กร หรือ Green Meetings  เป็นเรื่องที่องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ให้ความสนใจมาตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา มีองค์กรเข้าร่วมดำเนินงานกว่า 170 องค์กร ทั้งองค์กรสมาชิก TBCSD หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และมหาวิทยาลัย

 

ในปี 2564 นี้ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการจัดประชุมสีเขียวในองค์กรจากเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ภายใต้โครงการ TBCSD Green Meetings เพื่อนำเสนอแนวทางและรณรงค์ให้องค์กรต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้การจัดประชุมเป็นกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดประชุมในองค์กรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สำหรับแนวทางการจัดประชุมสีเขียวในองค์กร (ฉบับปรับปรุงใหม่) นี้ ประกอบด้วย 6 แนวทาง เริ่มตั้งแต่การวางแผน การเตรียมการ และการดำเนินงาน (ดังภาพ) ซึ่งมุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในภาพรวม 

อยากเข้าร่วมขบวนการ Green Meetings เตรียมตัวได้ตั้งแต่ตอนนี้ 

องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TBCSD จะเริ่มเปิดรับสมัครหน่วยงาน/องค์กรที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ TBCSD Green Meetings เพื่อปฏิบัติการตามแนวทางการจัดประชุมสีเขียวในองค์กร (ฉบับปรับปรุงใหม่) ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2564 นี้เป็นต้นไป หน่วยงาน/องค์กรที่มีความสนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tei.or.th/tbcsd/ หรือ http://www.tei.or.th/th/index.php

 

หน่วยงาน/องค์กรที่สนใจ สามารถขอการรับรองได้ 3 แบบ ได้แก่ แบบทั่วไปซึ่งเป็นการตรวจประเมินเพื่อขอการรับรองอายุ 3 ปี หรือแบบต่ออายุการรับรองเมื่อครบกำหนด 3 ปี หรือแบบยกระดับใบรับรอง (เมื่อผ่านการรับรองมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี นับจากวันที่ตรวจประเมินครั้งสุดท้าย) โดยหน่วยงาน/องค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการจัดประชุมสีเขียวในองค์กรไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม

ในส่วนการตรวจประเมินและให้การพิจารณารับรอง Green Meetings Certification จากองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จะมีการประเมินใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับดีเยี่ยม (GM3) ระดับดีมาก (GM2) และระดับดี (GM1) จึงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับหลายองค์กรที่เข้าร่วมโครงการฯ หากต้องการจะประสบความสำเร็จในการดำเนินงานดังกล่าว ก็ต้องร่วมกันลงมือทำตามแนวทางต่าง ๆ อย่างพร้อมเพรียง

 

162565411772

Green Meetings เรื่องเล็กๆ ที่ช่วยสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในองค์กรและสังคม

 ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าการที่หน่วยงาน/องค์กรจะได้รับเมื่อเข้าร่วมโครงการ Green Meetings คือ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายและประหยัดงบประมาณขององค์กรได้ในระยะยาว จากการลดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ และการอนุรักษ์พลังงานจากกิจกรรมการประชุม โดยมีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการดำเนินการจัดประชุมที่องค์กรนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตามหลักการ Green Meetings มีส่วนช่วยลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในภาพรวม 

นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างชื่อเสียงทางบวกและภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นขององค์กร ทำให้องค์กรได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชมต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชุมชน จากการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่นหรือวิสาหกิจชุมชน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและชุมชนในท้องถิ่นดีขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็น “องค์กรสีเขียว” (Green Organization) และเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Organization) ควบคู่กับชุมชน/สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เป็น “องค์กรต้นแบบ” ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับองค์กรอื่น ๆ เกิดการขับเคลื่อนและนำไปปฏิบัติตามอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 

หลายองค์กรได้เห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีการทำงานของพนักงานที่ชัดเจน ในการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างทัศนะที่ดีให้แก่พนักงาน ทำให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจในการเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าขององค์กร และเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้องค์กรเกิดความยั่งยืน 

การจัดประชุมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในองค์กรต่าง ๆ จึงไม่เพียงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างสมดุลที่ยั่งยืนให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอีกด้วย รวมทั้ง เป็นการจุดประกายความสนใจ และเป็นการสร้างแรงผลักดันให้กับทุกภาคส่วนในการร่วมพลังและสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนต่อไป.