มองข้ามช็อต โอกาสอีอีซีหลังโควิด

มองข้ามช็อต โอกาสอีอีซีหลังโควิด

แม้ว่าในขณะนี้โควิด-19 จะทำร้ายเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง แต่ถ้ามองข้ามช็อตภายหลังโควิดระบาด ยังเห็นโอกาสอีกมากต่อเศรษฐกิจไทย 

แม้ว่าในขณะนี้โควิด-19 จะทำร้ายเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง แต่ถ้ามองข้ามช็อตภายหลังโควิดระบาด ยังเห็นโอกาสอีกมากต่อเศรษฐกิจไทย โดยเห็นได้จากการประเมินความต้องการบุคลากรทักษะสูงใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ล่าสุดคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งผู้บริหารจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ อีอีซี 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง , ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อประเมินความต้องการบุคลากรชั้นสูงภายหลังจากโควิด-19 ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตบุคลากร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

โดย พบว่าในช่วงก่อนโควิด-19 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีความต้องการบุคลากรทั้งหมด จำนวน 475,668 คน ภายใน 5 ปี นับจากปี 2562- 2566 แต่การประเมินล่าสุดพบว่าผลจากโควิด-19 ทำให้มีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็น 564,176 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 88,508 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 18.6% ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมั่นใจในการขยายการลงทุน และปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัว และมีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ที่จากเดิมต้องการบุคลากร 37,526 คน มีความต้องเพิ่มขึ้นเป็น 91,779 คน เพิ่มขึ้น 54,253 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 144.5% เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคการผลิตเร่งปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้เร็วขึ้น โรงงานต่าง ๆ พยายามเพิ่มการใช้หุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติ เพื่อลดการสัมผัสสินค้าจากแรงงานคน ทดแทนแรงงานคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทำให้ระบบการผลิตสะดุด และลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว รวมทั้งราคาหุ่นยนต์ที่ลดลง 30-40% ก็ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล เดิมต้องการบุคลากร 116,222 คน แผนปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็น 146,339 คน เพิ่มขึ้น 30,177 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 25.9% เนื่องจากโควิด-19 ทำให้ธุรกิจดิจิทัล แอพลิเคชั่นออนไลน์เติบโตสูงขึ้นมากเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งการพัฒนาเพื่อรองรับระบบ 5จี ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ อีอีซี จึงมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้สูงขึ้นมาก

ส่วนอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานลดลงสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน เดิมมีความต้องการ 32,836 คน ลดลงเหลือ 13,917 คน ลดลง 18,919 หรือลดลงถึง 57.6% เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สูงสุด และคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี จึงจะกลับมาฟื้นตัว

นอกจากนี้ จากตัวเลขการขอประกอบกิจการโรงงานใหม่ล่าสุดในรอบ 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2564 พบว่ามีการขอตั้งโรงงานใหม่ทั้งสิ้น 1,894 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 225,710 ล้านบาท มีการจ้างงาน 58,765 คน โดยมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 62.24%ะ ส่วนยอดปิดกิจการ 564 โรงงาน ลดลง 9.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังคงมั่นใจเปิดโรงงานใหม่อย่างต่อเนื่อง และการปิดกิจการก็ลดลง ซึ่งเชื่อว่าหากรัฐบาลเร่งการฉัดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย และเปิดประเทศอย่างระมัดระวัง ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและปรับตัวรับกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ