กรณีศึกษาวัคซีน ‘Sinovac’ กับการระบาดใหม่ในชิลี

กรณีศึกษาวัคซีน ‘Sinovac’ กับการระบาดใหม่ในชิลี

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคล่าสุดของรัฐบาลจะสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาสังคม

การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนต่ำ จนทำให้ต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือปิดกิจการถาวร ถือเป็นการบ้านที่รัฐควรให้ความสนใจและให้น้ำหนักเท่า ๆ กับความพยายามในการบริหารจัดการควบคุมโรค

เพราะประเทศ ไทยของเรานั้นไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดใหญ่แต่เพียงเท่านั้น ตัวเลขจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศที่มีทั้งหมดกว่า 2 ล้านธุรกิจนั้นถือเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็กหรือ SMEs กว่า 99.5% ดังนั้นการจ้างงานที่ธุรกิจ SMEs นั้นรับภาระความรับผิดชอบถือเป็น 70% ของการจ้างงานในประเทศ

การล้มป่วย หยุดชะงักในทางธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการล้มหายตายจากของ SMEs จึงหมายถึงการชะงักงันในทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อธุรกิจ SMEs จำต้องหยุดกิจการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสมดุลการเงิน กล่าวคือ รายรับหายไปขณะที่รายจ่ายยังคงที่ ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะหยุดกิจการ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อลูกจ้าง เมื่อเงินเดือนหดหายการใช้จ่ายจึงต้องตระหนี่ถี่ถ้วนมากขึ้น ซึ่งกระทบเป็นห่วงโซ่ในการจับจ่ายใช้สอย

เมื่อกำลังซื้อลดลงเพราะเงินในกระเป๋าลดลงจึงทำให้ยอดขายของก็ลดลง เกิดการจ้างงานที่ลดลงเพราะสินค้าหรือบริการที่จะผลิตออกไปนั้นไม่มีคนซื้อ เกิดเป็นวัฏจักรแบบนี้จนเกิดภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ

การผ่อนปรนมาตรการการควบคุมโรคของรัฐบาลล่าสุดที่อนุญาตให้สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ตลอดจนสถานประกอบการนวด คลินิกเสริมความงาม ร้านทำเล็บและร้านสัก ได้เปิดทำการอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขและข้อปฎิบัติที่รัดกุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจึงเป็นเรื่องที่ดี และสมควรได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรคที่อยู่บนสมมติฐานว่าประชาชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ รวมถึงในธุรกิจหรือแวดวงราชการที่ได้รับการผ่อนคลายก่อนหน้านี้ที่วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้วนั้นยังมีช่องว่าง กล่าวคือ วัคซีนในบางชนิดที่ไทยเรานำมาฉีดให้กับประชาชนนั้นยังไม่สามารถป้องกันการติดโรคซ้ำได้

ประเทศชิลี ถือเป็นกรณีศึกษาที่ไทยสมควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้ว่าชิลีจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกกระจายให้ประชากรคิดเป็นร้อยละของประชากรกลุ่มเสี่ยงแล้วกว่า 75% แต่ก็ยังการแพร่ระบาดของเชื้อระลอกใหม่

ณ วันที่ 10 มิ.ย. ชิลีที่ได้กระจายวัคซีนไปแล้วกว่า 23 ล้านโดสนั้นพบว่า เป็นวัคซีนของ Sinovac 17.2 ล้านโดส ซึ่งคิดเป็น 75% ของวัคซีนทั้งหมดที่ชิลีใช้ ส่วนที่เหลืออีก 25% นั้นเป็นของ Pfizer และ AstraZeneca

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขของชิลีพบว่า ประชาชนผู้ติดเชื้อโรคนั้นกว่า 73% นั้นยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส และเป็นคนที่อายุต่ำกว่า 49 ปีถึง 74% ขณะที่รายงานทางการแพทย์ระบุถึงหนึ่งในสาเหตุของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่จำนวนผู้ติดเชื่อเพิ่มสูงขึ้นในระดับ 7,000 รายต่อวันนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะระยะเวลาการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน

เพราะไทยก็ใช้วัคซีน Sinovac เช่นเดียวกันกับชิลี ดังนั้น ทั้งภาครัฐและประชาสังคมจึงไม่ควรนิ่งนอนใจว่าเมื่อได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วร่างกายจะปลอดภัยหยุดรับหรือแพร่เชื้อได้ ขณะที่ทฤษฎีการเข้าสู่ภาวะมีภูมิคุ้มกันหมู่ที่ 70% ของประชากรนั้น ก็ยังมีเงื่อนไขเรื่องของการฉีดวัคซีนจนครบ 2 เข็มและร่ายกายได้สร้างภูมิคุ้มกันจนสำเร็จแล้ว