IOP โปรแกรมยกระดับความสามารถ ทางนวัตกรรมของเอสเอ็มอี

IOP โปรแกรมยกระดับความสามารถ  ทางนวัตกรรมของเอสเอ็มอี

IOP เป็นโปรแกรมที่พัฒนาจากโมเดลพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Model : IOM ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวประชาสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมกับ สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ก่อตั้งโปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Program : IOP เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์อัพไทย ที่จะช่วยให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่ต้องการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพด้วยนวัตกรรม

IOP เป็นโปรแกรมที่พัฒนาจาก โมเดลพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Model : IOM ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โมเดล IOM นำเสนอแนวทางการพัฒนาศักยภาพและความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ให้เติบโตด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ที่เป็นระบบ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ทำให้ประเมินและติดตามศักยภาพด้านนวัตกรรมขององค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยแบ่งโครงสร้างของโมเดลออกเป็น 3 ระดับ-8 มิติ-24 องค์ประกอบ-50 เกณฑ์ชี้วัด เพื่อให้ครอบคลุมมุมมองของการบริหารจัดการนวัตกรรมขององค์กรทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกได้อย่างครบถ้วน

และที่สำคัญก็คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้เปิดเผยรายละเอียดของโมเดล IOM ต่อสาธารณะ และยังได้จัดทำระบบการประเมินองค์กรด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ สำหรับผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบสมรรถนะด้านการจัดการนวัตกรรมของตนเองได้ใช้ฟรีอีกด้วย

โครงสร้างในระดับสูง 3 ระดับ ประกอบด้วย (1) ระดับยุทธศาสตร์ (2) ระดับปฏิบัติการ และ (3) ระดับสนับสนุน

ระดับยุทธศาสตร์ ให้ความสำคัญกับ มิติของการกำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรม ที่ประกอบด้วยวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์นวัตกรรม โดยผู้บริหารต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์นวัตกรรมที่สอดคล้องกับวิสัยในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร โดยยุทธศาสตร์นวัตกรรมต้องเหมาะสมกับบริบทขององค์กรและผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรทุกกลุ่ม และการกำหนดค่านิยมร่วมด้านนวัตกรรมให้กับบุคลากรอย่างทั่วถึง

ร่วมไปกับ มิติของการมุ่งเน้นนวัตกรรมที่ตอบสนองการเติบโตของธุรกิจ ที่มีการติดตาม จัดเก็บ และใช้ข้อมูลเชิงลึกของตลาด ในการวางแผนการตลาด กำหนดทิศทางเป้าหมาย และการวางแผนการมีส่วนร่วมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการขององค์กร

ระดับปฏิบัติการ ประกอบด้วย มิติของการมี กระบวนการนวัตกรรม ที่เน้นการใช้ข้อมูล การจัดการความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร การจัดการให้มีการสื่อความเกี่ยวกับนวัตกรรมขององค์กรไปตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเครือข่ายพันธมิตรนวัตกรรม ตลอดจนมิติของกระบวนการบริหาร ผลลัพธ์นวัตกรรม ที่มุ่งเน้นความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ผลประกอบการหรือผลตอบแทนทางการเงินที่เกิดจากนวัตกรรม และผลลัพธ์เชิงการสร้างองค์ความรู้ให้กับองค์กร

ระดับสนับสนุน ประกอบด้วยมิติของ การจัดการบุคลากร ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงให้เป็นผู้นำนวัตกรรม ที่มีความเข้าใจในเรื่องนวัตกรรมอย่างพอเพียงที่จะให้คำแนะนำและสนับสนุนกระบวนการนวัตกรรมขององค์กร พร้อมเปิดโอกาสให้มีการปฏิสัมพันธ์ กระตุ้น และผลักดันความคิดของบุคลากรให้เกิดเป็นนวัตกรรม และมีการวางแผนจัดการองค์กรอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อบทบาทของบุคลากรในการร่วมพัฒนานวัตกรรม

มิติของ การจัดการองค์ความรู้ขององค์กร ตั้งแต่การจัดเก็บรวบรวมองค์ความรู้ที่สำคัญ ระบบการแสวงหาความรู้ใหม่จากภายนอกองค์กร ระบบการถ่ายทอด แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของบุคลากรที่จะเกิดประโยชน์ต่อองค์กร ต่อเนื่องไปถึงมิติของ การจัดการวัฒนธรรมองค์กร ที่ปลูกฝังค่านิยมการพัฒนาปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง การทำงานร่วมกันทั้งในสายงานและข้ามสายงาน การสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ

มิติของ การจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น เช่น เวลา งบประมาณ และทรัพยากรอื่น ทั้งในระดับนโยบาย มีบุคลากรหรือหน่วยงานรับผิดชอบ มีแผนงานการลงทุนด้านเทคโนโลยี การสรรหาบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถด้านนวัตกรรมเพิ่มเติม ตลอดจนการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กร

แนวทางการบริหารจัดการในทุกมิติของโมเดล IOM นี้ ผู้บริหารองค์กร หรือ เอสเอ็มอี ที่สนใจจะประเมินตนเองเพื่อให้ทราบระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมขององค์กร เข้าใช้บริการได้ที่เว็ปไซต์ www.iop.nia.or.th ซึ่งจะมีรายละเอียด คำอธิบาย และช่องทางติดต่อสอบถามในกรณีที่มีปัญหา หรือ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยสะดวก

ขอบคุณข้อมูลที่มีประโยชน์ จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)