ตัวเลขความเสียหาย จากโควิด-19 ช่วงสงกรานต์

ตัวเลขความเสียหาย  จากโควิด-19 ช่วงสงกรานต์

เมื่อโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง ในช่วงก่อนสงกรานต์ ถือเป็นฝันร้ายที่กลายเป็นจริง สำหรับทุกคน โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ขาย

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ประมาณการตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ที่อาจจะต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี อยู่ที่ 1.13 แสนล้านบาท จากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 1.4 แสนล้านบาทหากอยู่ในช่วงภาวะปกติ ถึงแม้ว่ารัฐจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการอุดหนุนต่างๆ อาทิ เราชนะ คนละครึ่ง หรือแม้กระทั่ง เราเที่ยวด้วยกัน

เทศกาลสงกรานต์ของไทยนั้นมีชื่อเสียงไปทั่วโลก นักท่องเที่ยวต่างประเทศเรียกสงกรานต์ของเราว่า Water festival และส่วนใหญ่ก็วางแผนเตรียมตัวเตรียมใจมาเที่ยวไทยในช่วงนี้เพราะอากาศที่ร้อนจับใจตรงกันข้ามกับในประเทศในซีกโลกเหนือส่วนใหญ่ที่ยังไม่คลายหนาวถึงแม้จะอยู่ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ

ฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยประกอบไปด้วยการส่งออก การท่องเที่ยว การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งในขณะนี้จะเห็นได้ว่าฟันเฟืองนั้นเกือบทุกตัวนั้นก็ต่างอ่อนเพลียจากผลกระทบของโรคระบาด ยอดการส่งออกตก การใช้จ่ายของประชาชนต่ำเพราะคนไม่มีเงิน เหลือแค่ภาคของการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีความพยายามอุดหนุนเอาเงินในส่วนนี้ออกมากระตุ้นหล่อลื่นระบบเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่รัฐตั้งใจปั้นให้เป็นเรือธงที่จะดึงรายได้เข้าสู่ระบบเพิ่มความคล่องตัวในไทยมากขึ้น หากไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น การใช้ภาคประชาชนก็จะเพิ่มขึ้น รายรับจากภาษีก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ถือว่าเป็นงานหินในการโปรโมทการท่องเที่ยวในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะแต่เดิมไทยเรานั้นทำรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว รายได้จากนักท่องเที่ยวทั้ง ไทยและต่างประเทศรวมกันในปี 2562 ปีก่อนโควิดนั้นแตะระดับ 3 ล้านล้านบาทซึ่งถือว่าสูงมาก โดย 2 ล้านล้านบาทนั้นมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และ 1 ล้านล้านบาทนั้นมาจากนักท่องเที่ยวไทย

ขณะที่ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวไทยในปีที่แล้วลดลดจาก 1 ล้านล้านบาทแต่เดิมเหลือเพียง 7 แสนล้านบาท หรือลดลงกว่า 30% ถึงแม้ว่ารัฐจะอุดหนุนกระตุ้นผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันแล้วก็ตาม จึงเห็นได้ว่าขณะนี้ในเมืองท่องเที่ยวส่วนใหญ่โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวที่เน้นรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ สมุย ภูเก็ต ที่เคยครึกครื้นนั้นกลับร้างผู้คน เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ไม่มีคนบริการโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจเล็กๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

การแพร่ระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนเทศกาลที่สำคัญที่สุดของไทยอย่างสงกรานต์ เทศกาลที่โดยปกติแล้วคนทำงานจะเดินทางกลับภูมิลำเนา บางคนเก็บเงินมาทั้งปีเพื่อกลับบ้าน เพื่อพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนหน่อนใจ พบปะญาติผู้ใหญ่ ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญเหนือเทศกาลใดๆ

ภายใต้ความไม่แน่นอนนี้ รัฐอาจจะประกาศรณรงค์ให้สงกรานต์นี้เป็นปีที่ 2 ที่จะขอร้องให้ประชาชนหยุดเชื้อเพื่อชาติ แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สมควรได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เช่นเดียวกับความรู้สึกของประชาชนที่ผิดหวังตั้งแต่สงกรานต์และปีใหม่ปีที่แล้ว

รัฐมีทางเลือกในการกระชับพื้นที่เสี่ยง สั่งงดกิจกรรมเสี่ยง เพื่อให้เศรษฐกิจภาพรวมยังคงเดินหน้าต่อไปได้

การจะใช้โมเดลแบบหลายประเทศในตะวันตกที่ให้ประชาชนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเดินทาง ในกิจกรรมต่างๆ อย่างไม่มีขอบเขตนั้นอาจมีผลดีในทางเศรษฐกิจแแต่ย่อมต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงจากการระบาดในวงกว้าง

ในฐานะประชาชน เราก็ดำเนินชีวิตด้วยสติ เลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เลี่ยงกิจกรรมรวมตัวแออัด ฉลองสงกรานต์กับคนที่เรารักกับครอบครัวและเพื่อนใกล้ชิด ดำเนินชีวิตต่อไปด้วยสติครับ สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ล่วงหน้าครับ