จาก ‘เงิน’ จนถึง ‘Stablecoin’

จาก ‘เงิน’ จนถึง ‘Stablecoin’

ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง (Defi) ซึ่ง Stablecoin ถือเป็นกลไกสำคัญในระบบการเงินแบบ Defi

          ฉบับนี้ ผู้เขียนขอเล่าถึง “เงิน” ในระบบการเงินเดิม และ “Stablecoin” ในโลกการเงินยุคใหม่


หน้าที่และบทบาทของเงิน

        หากจะเข้าใจ “เงินก็ต้องเข้าใจ หน้าที่และบทบาทของเงินในระบบเศรษฐกิจก่อน ซึ่ง เงิน มีคุณสมบัติที่สำคัญสามประการ คือ

1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หมายความว่า เงินมีหน้าที่เป็นตัวกลางที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถชำระค่าสินค้า/บริการได้

2) เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการวัดมูลค่า กล่าวคือ เมื่อเราจะใช้เงินเพื่อชำระราคา ก็หมายความว่า เงินมีคุณสมบัติในการใช้เป็นเครื่องมือในการวัดหรือเทียบมูลค่าของสินค้า/บริการดังกล่าวได้ เช่น ข้าวจานละ 5 บาท เป็นต้น

3) เป็นเครื่องรักษามูลค่า หมายความว่า หากเทียบ “เงิน” กับ “สินค้า” พบว่า สินค้าอาจเสื่อมสภาพตามกาลเวลาเพราะโดยสภาพไม่อาจเก็บมูลค่าไว้ได้นาน เช่นข้าวที่เราซื้อไว้ 5 บาท ไม่นานก็เน่าเสีย ทำให้มูลค่าลดลง และขาด “สภาพคล่อง” ในการเป็น “สินทรัพย์” ดังนั้น เราจึงนิยมเก็บเงินไว้แทนสิ่งอื่น เนื่องจากสามารถเปลี่ยนเป็นสินค้า/บริการได้โดยง่าย มีสภาพคล่องสูง และมีคุณสมบัติในการรักษามูลค่าได้ดี

       วิวัฒนาการของเงิน

        เดิมที เงิน มักสื่อความหมายถึง วัตถุที่มีรูปร่าง จับต้องได้ เช่น เงินเหรียญกษาปณ์ และธนบัตร ต่อมาด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมของระบบชำระเงิน ทำให้เกิดระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล เช่น บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต (Payment cards) ซึ่งการชำระเงินรูปแบบนี้ยังคงใช้ “เงิน” เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอยู่ (เพราะมีการอนุญาตให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีลูกค้าหลังจากมีการทำธุรกรรม)

จนต่อมา ได้มีการใช้ e-money ซึ่งเป็นการใช้ระบบข้อมูลที่มีการบันทึกเพื่อเก็บ “มูลค่าของเงิน” ไว้ในไมโครชิพของสมาร์ทการ์ด หรือ ในเครือข่ายของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแม้จะไม่ได้ใช้ “เงิน” เป็นสื่อกลางโดยตรง แต่ก็มีการเก็บมูลค่าของเงินไว้เพื่อใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้า/บริการในอนาคต (ในลักษณะ Prepaid)

จนปัจจุบัน เงิน ถูกพยายามสร้างให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลผ่านรูปแบบของคริปโทเคอร์เรนซี (คริปโท) ในลักษณะต่าง ๆ โดยใช้ Blockchain และ Smartcontract เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน


Stablecoin คือ คริปโท ประเภทหนึ่ง

       ในทางปฏิบัติ เราสามารถจำแนกคริปโทออกได้เป็นสามประเภท ได้แก่

1) CBDC หรือแบบที่ธนาคารกลางเป็นคนออก เช่น ดิจิทัลหยวนของจีน

2) แบบ Decentralized หรือ แบบที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นคนออก ไม่มีกลไกรักษามูลค่า และไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น Bitcoin และ Ether 3) Private-entity issued หรือคริปโทประเภทที่ออกโดยองค์กรเอกชน  และมักมีการสร้างกลไกรักษามูลค่าของเหรียญให้คงที่ ซึ่งStablecoin จัดอยู่ในคริปโทประเภทนี้

โดยในทางปฏิบัติ ผู้ออก Stablecoin มักเลือกสร้างกลไกรักษามูลค่าในสามลักษณะ คือ แบบที่ใช้เงินตราหนุนหลัง (Fiat-backed) หรือแบบที่ใช้สินทรัพย์หนุนหลัง (Asset-Backed) หรือแบบที่ไม่มีสิ่งใดหนุนหลังแต่ใช้กลไกของ Smart contract และอัลกอริทึ่มในการรักษามูลค่าของเหรียญไว้แทน

 Stablecoin คือ การสร้างสื่อกลางเพื่อรักษามูลค่า

     ดังนั้น เมื่อประสงค์ให้ Stablecoin เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าและทำธุรกรรมทางการเงินได้ไม่ต่างจากเงิน ก็ต้องพยายามให้ Stablecoin เป็น “สินทรัพย์” ที่มี “สภาพคล่อง” ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะมีสภาพคล่องได้ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่า “สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้า/บริการได้ง่ายเพียงใด” และ “มีความเสี่ยงในการลดลงของมูลค่าได้น้อยแค่ไหน

        ดังนั้น ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ จึงเป็นที่มาในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างกลไกให้ Stablecoin สามารถเก็บรักษามูลค่าได้ตามวิธีการที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อพยายามให้เกิดกระบวนการ “เสถียรภาพในค่า” และให้มีสภาพใกล้เคียงกับเงินและระบบการเงินที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุดในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อหวังผลในการเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการให้บริการทางการเงิน

กฎหมายและการกำกับดูแล

      ปัจจุบันการกำกับ Stablecoin ในต่างประเทศมีความหลากหลายและอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำกับดูแล เช่น จีน ประเทศที่กำลังจะมีสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง มีแนวทางในการห้ามซื้อขาย/ขุดคริปโทที่ออกโดยภาคเอกชน ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ไม่ห้ามการออก Stablecoin แบบใช้เงินตราหนุนหลัง และมีการกำกับดูแลในลักษณะที่ใกล้เคียงกับ e-Money

       สำหรับประเทศไทย พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 กำหนดให้ “เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” หมายถึงเงินเหรียญกษาปณ์และธนบัตรที่ออกโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้น ดังนั้น หากพิจารณา Stablecoin  ตามกฎหมายปัจจุบัน จะไม่มีคุณสมบัติเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่ในอนาคตอาจถูกกำกับในฐานะที่เป็นระบบหรือบริการชำระเงินภายใต้ พ.ร.บ. ระบบชำระเงิน 2560

         ซึ่งมาตรา 12 และ 16 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวรองรับการกำกับดูแลในกรณีที่มีการใช้ระบบชำระเงินหรือบริการชำระเงินซึ่งนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ (ซึ่งต้องผ่านการทดสอบการให้บริการโดย ธปท. ก่อน)


       ดังนั้น ในทางปฏิบัติ หากเป็นการออก
Stablecoin ประเภทใช้เงินบาทหนุนหลังอาจสามารถกำกับในลักษณะใกล้เคียงกับ e-Money ได้ (แต่ต้องพิจารณารายละเอียดของการออกและความเสี่ยงในการใช้งานประกอบด้วย)

อย่างไรก็ดี หากเป็นการออก Stablecoin โดยใช้สกุลเงินต่างประเทศ (Fx-Backed) หรือสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ตลอดจนการใช้กลไกของอัลกอริทึ่ม ยังคงเป็นประเด็นท้าทายของกฎหมายการเงินและการกำกับดูแลของภาครัฐในปัจจุบัน  

กฎหมายและการใช้งานในปัจจุบัน

      ดังนั้น การใช้ Stablecoin เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินของเอกชน เช่น ชำระค่าสินค้า/บริการระหว่างกัน ถือเป็นสัญญาระหว่างเอกชน ซึ่งสิทธิ หน้าที่ ความรับผิด และผลทางกฎหมาย เป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ทำธุรกรรมต้องศึกษาและพิจารณาความเสี่ยงด้วยตนเอง เพราะไม่ใช่กิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับของภาครัฐ

เช่น ความเสี่ยงจากการผันผวนของมูลค่า ความน่าเชื่อถือของผู้ออกเหรียญและแพลตฟอร์ม ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และความเสี่ยงจากการถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยมิชอบ

       ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่ากฎหมายไม่ได้จะตามเทคโนโลยีทันในทุกแง่มุม เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กฎหมายหรือแนวกำกับดูแลจากภาครัฐต้องใช้เวลาเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม ดังนั้น “การส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับผู้บริโภค” คือ สิ่งที่ทำได้ก่อนในลำดับแรก.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน