จีนจัดการกะเหรี่ยง 'บางกลอย' อย่างไร

จีนจัดการกะเหรี่ยง 'บางกลอย' อย่างไร

ข่าวกะเหรี่ยงบางกลอย ถูกเผาบ้าน พาลงพื้นราบโดยเฮลิคอปเตอร์ สร้างความรู้สึกแบบผสมผสาน แต่ถ้าเป็นประเทศจีนจะจะจัดการกับกะเหรี่ยงบางกลอยอย่างไร

          ที่ผมยกตัวอย่างประเทศจีนนั้น เพราะจีนมีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน และก็ทำให้ผลสำเร็จด้วย นี่คือส่วนดีที่ควรให้การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง  แต่ก็มีบางกระแสบอกว่า ถึงแม้จีนจะบรรลุการยกระดับฐานะของประชาชน แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างชนชั้นบนสุดกับชนชั้นกลาง-ระดับล่าง (ชนชั้นยากจนแทบจะหมดไปแล้ว) แต่นั่นก็เป็นเพียงคำนินทาของพวกที่ “ไม่เอาจีน” เป็นสำคัญ

          การลดทอนของจำนวนคนจนในจีนเป็นดังนี้ (https://bit.ly/30PJNmX):

  1. ถ้าถือเกณฑ์ที่รายได้ 1.9 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน (60 บาท) ก็พบว่า ณ ปี 2558 มีคนจนเพียง 0.7% ที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ และถ้านับถึงปี 2564 ก็คงเหลือไม่ถึง 1% แล้ว ในขณะที่ ณ ปี 2533 มีคนจีนถึง 66.2% ที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว
  2. ถ้าใช้มาตรฐานที่ 3.2 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน (100 บาท) ก็พบว่า ณ ปี 2558 มีคนจนเพียง 7% ที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ ในขณะที่ ณ ปี 2533 มีคนจีนถึง 90% ที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว
  3. ถ้าใช้มาตรฐานที่ 5.5 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน (170 บาท) ก็พบว่า ณ ปี 2558 มีคนจนเพียง 27.2% ที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ ในขณะที่ ณ ปี 2533 มีคนจีนถึง 98.3% ที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว

          Numbio ได้จัดทำค่าจ้างมาตรฐานของคนในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 24,078 บาทต่อเดือน ในขณะที่ในปักกิ่งอยู่ที่ 43,947 บาทต่อเดือน และคุณหมิงเป็น 24,548 บาทต่อเดือ(https://bit.ly/3r0Pedy)  ผมจำได้ว่าเมื่อปี 2529 หลังจบปริญญาโทแล้วไปเรียนต่อที่ประเทศเบลเยียม สถาปนิกจีนมีรายได้เดือนละ 400 บาท ในขณะที่ไทยมีรายได้ประมาณ 2,000 บาทเข้าไปแล้ว  แต่ขณะนี้กลับต่างกันจากหน้ามือเป็นหลังมือ แสดงว่าจีนมีพัฒนาการในยกระดับฐานะของประชาชนจริงๆ

          หลายท่านคงเคยเห็นชาวจีนชนกลุ่มน้อย แบบชาวเขาที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง คนเหล่านี้เดินทางเข้าเมืองก็แสนยาก การศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนก็จำกัด รายได้ก็แสนต่ำ รัฐบาลก็พยายามส่งเสริมให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  แต่ก็มีหลายส่วนที่ต้องย้ายชุมชนลงมาข้างล่าง ลงมาอยู่ในพื้นที่พื้นราบ ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่บนภูเขาสูงเสมอไป ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะเปลี่ยนแปลงไปในระดับหนึ่ง

          แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างหนึ่งก็คือการทำเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบ “Homestay” หรืออาจเพียงเดินทางไปชมในเวลากลางวัน เพื่อเข้าถึงวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย ซึ่งทำให้ชนกลุ่มน้อยมีรายได้จากการขายสินค้าหัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นรายได้ที่สูงกว่าการทำเกษตรกรรมด้วยซ้ำไป ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนในการทำนาแบบไร่เลื่อนลอยหรือไร่หมุนเวียน หรือไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น

          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีประเทศไทยก็คือเหล่ากะเหรี่ยงคอยาวที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งในอดีตอยู่ในเขตประเทศเมียนมา แต่อพยพมาอยู่ในไทยเพราะเกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อย แล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในไทย กลายมาเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวหลายแห่งที่มีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนมาเที่ยวไม่ขาดสาย เพียงแต่ในช่วงนี้อาจจะไม่มีนักท่องเที่ยวเพราะปัญหาโควิด-19

161606860533

https://bit.ly/3vxD92G 

          ในจีนมีการ “ถอนรากถอนโคน” (Uproot) ชาวเขาเผายี (Yi) หรือลีซอกลุ่มหนึ่ง ชาวเขากลุ่มนี้อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เช่น แถวมณฑลยูนาน มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง รวมทั้งในไทย ลาวและเวียดนาม มีประชากรรวมๆ ประมาณ 9 ล้านคน (https://bit.ly/30OZn1Y) แต่อยู่อย่างกระจัดกระจาย โดยมากมักอยู่บนดอยหรือเขาสูงเช่นชาวเขาทั่วไปที่เห็นในประเทศไทย

          การถอนรากถอนโคนต่อชาวเขาเผายีนี้ เขานำชาวเขาจาก 38 หมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขาแถวยูนานมาอยู่รวมกันในเมืองเดียว (https://bit.ly/3vxD92G) ไม่ใช่ให้พวกเขาอยู่บนภูเขาเช่นเดิม เพื่อแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาการศึกษาของเด็กและเยาวชน เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด (ที่อาจจะมีเช่นในกรณีประเทศไทย) และแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางการเมืองโดยการทำให้เป็นคนจีน

          ชาวเขาเหล่านี้ได้รับการจัดสรรที่ดินและสร้างบ้านให้อย่างเรียบร้อย และชาวบ้านได้มีอาชีพทำสวนแอปเปิ้ลทำให้มีรายได้ที่มั่นคงเป็นของตนเอง  ปัญหารายได้ต่ำก็จะหมดไป ที่สำคัญเด็กๆ ที่แต่เดิมพูด/เขียนภาษาจีนแทบไม่ได้ ก็สามารถเรียนภาษาจีนเช่นเดียวกับชนส่วนใหญ่ของประเทศ  ถ้าพวกเขาไม่สามารถพูด/เขียนจีนได้ ก็คงจะไม่สามารถที่จะก้าวต่อไปให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ทัดเทียมคนจีนทั่วไปได้

          อันที่จริงประเทศไทยก็เคยมีการย้ายยกอำเภอมาแล้วด้วยซ้ำ เช่น อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีทั้งวัด บ้าน สถานที่ราชการและที่อยู่อาศัย ก็ย้ายมาตั้งอยู่ในที่ใหม่  ส่วนตัวเมืองแม่เมาะเดิมก็กลายเป็นเหมืองถ่านหินไป มีการขุดถ่านหินมาใช้เป็นอันมาก ทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในเวลาต่อมา ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ประเทศไทยก็คงจะพัฒนาน้อยกว่าที่เป็นอยู่นี้อย่างแน่นอน

          บางคนอาจเกรงว่าการย้ายชาวบ้านออกจากหมู่บ้านเดิม จะทำให้สูญเสียอัตลักษณ์เดิม หลุมฝังศพก็คงหายไป แต่เราไม่ควรให้ “คนตายขายคนเป็น”  เมื่อมีความจำเป็นต้องย้ายด้วยการเวนคืน ก็ต้องไป  คนไทยที่รวยๆ เมื่อต้องประสบกับการเวนคืนเพื่อก่อสร้างถนน ก็ต้องย้ายไป  อันที่จริงคงไม่มีรัฐบาลใดอยากไปยุ่งกับความผาสุกของประชาชน แต่การเวนคืนเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ  ขนาดชาวบ้านคนไทยทั่วไปยังต้องอยู่ใต้อำนาจการเวนคืน ชาวเขาก็คงต้องปฏิบัติตาม จะมีอภิสิทธิ์เหนือคนไทยก็คงไม่ได้

          ส่วนวัฒนธรรมของประชาชนก็คงไม่หายไปไหนหลังจากการย้ายชุมชน อารยธรรมของชาวเขาก็คงยังอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหนแต่อย่างใด  ดูอย่างวัฒนธรรมจีน คนจีนย้ายไปทั่วโลกก็ยังรักษาวัฒนธรรมจีนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ชาติอื่นก็เช่นกัน ชาวเขาก็เช่นกัน  หมู่บ้านที่ย้ายไปอยู่ใหม่ก็อาจพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว Homestay ก็ยังสามารถทำได้ และน่าจะสะดวกกับการท่องเที่ยวมากกว่าจะไปดูบนที่ๆ รถไม่อาจเข้าถึง  ผู้สูงวัย คนพิการ เด็กและสตรีมีครรภ์ก็ยังสามารถไปเที่ยวชื่นชมวัฒนธรรมชาวเขาได้

          ปัญหาสำหรับประเทศไทยก็คือ เราจัดการให้พวกชาวเขาอยู่อย่างผาสุกหลังการย้ายถิ่นได้หรือไม่ จะจัดการได้โดยละมุนละม่อมในการย้ายถิ่นได้หรือไม่ จัดหาอาชีพและรายได้ให้เพียงพอหรือไม่ หรืออาจให้พวกเขามีอาชีพในการลาดตระเวนดูการบุกรุกทำลายป่า เพื่อมารายงานเพื่อการป้องปรามอย่างทันท่วงที ก็ยังสามารถทำได้ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ไม่ไปทำไร่เลื่อนลอยบนเขาอีก  ชาวเขาคงไม่มีสิทธิทำไร่เลื่อนลอย เพราะถ้าครอบครัวหนึ่งต้องใช้ที่ดินถึง 150 ไร่ และถ้าคนไทยอื่นอยากทำแบบนี้บ้าง ประเทศไทยคงต้องมีขนาดใหญ่กว่านี้ 10 เท่าจึงจะเพียงพอความต้องการได้

         จัดการชาวเขาและชนกลุ่มน้อยให้ดี ต้องดูตัวอย่างจากประเทศจีน.