ความท้าทายในการแก้ปัญหาหนี้ (ASSET  WAREHOUSING)

ความท้าทายในการแก้ปัญหาหนี้ (ASSET  WAREHOUSING)

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้ความพยายาม ความอดทนในการร่วมมือแก้ไขปัญหาหนี้ที่เกิดจากการแพร่ของโรคอุบัติใหม่

ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สถาบันการเงิน ธุรกิจ Non-bank รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชนทั้งรายใหญ่ SMEs และธุรกิจรายย่อย ได้ร่วมกันประคองสถานการณ์ภาคเศรษฐกิจโดยรวม ให้ยังคงดำรงอยู่ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัญหาหนี้ที่เกิดจากโควิด-19 ยังไม่จบ

โรคอุบัติใหม่ โควิด-19 เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่  ลูกหนี้ทุกรายพร้อมเพียงกันไม่มีรายรับจากธุรกิจหลักที่เป็นที่มาของรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจภาคบริการท่องเที่ยว คงไม่มีใครสามารถคาดเดาเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ จะเกิดเมื่อไร เวลาไหน

โดยเฉพาะเมื่อเกิดแล้วจะใช้เวลานานขนาดไหนเพื่อใช้ในการรักษาเยียวยา หรือแม้แต่วิธีการในการแก้ไขปัญหาแบบเดิม ๆ ที่เคยใช้ได้ผล คงไม่มีใครการันตีได้ว่าจะนำมาใช้กับการแก้ไขปัญหาในรอบนี้ได้ อาจจำเป็นต้องคิดนอกกรอบ เพราะเหตุอุบัติใหม่ ต้องมีแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหา

ในมิติของลูกหนี้ เมื่อมีปัญหาในการชำระหนี้ก็คงมีหน้าที่เข้าไปเจรจาแก้ไขปัญหากับสถาบันการเงิน สร้างความเชื่อมั่น ชี้แจงปัญหาที่เกิดสาเหตุแนวทางแก้ไข ทำให้เชื่อได้ว่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติเข้ามาประมาณเท่าไร เมื่อไร เพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการชำระหนี้   น่าจะพูดแทนลูกหนี้ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้เลยว่า

โอกาสที่จะทำเงินให้กลับมาได้เหมือนปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่โควิด-19 คงไม่เห็นใน 2-3 ปีนี้ จากปาฐกถาพิเศษในวันนักข่าวของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 กว่าเราจะเอา100 กว่าประเทศทั่วโลกที่ติดกลับมาหายพร้อมเพียงกัน อย่างน้อยคงต้องใช้เวลา 5-7 ปี โดยทุกคนมีการฉีดวัคซีนแล้ว

ต่อเมื่อมาตรการพักชำระหนี้จาก โควิด-19 หมดลง ลูกหนี้ต้องหาเงินชำระหนี้อย่างน้อยก็ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะประเมินได้ถึงความเสี่ยงที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ย และเป็นหนี้ผิดนัดและเป็น NPL ภายในสิ้นปีนี้จำนวนมาก  ธนาคารคงต้องดำเนินการคดีบังคับขายทรัพย์สินหรือตีโอนทรัพย์เหมือนเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง

ผู้ค้ำประกันจะถูกไล่เบี้ยเรียกชำระหนี้ในส่วนที่ขาดและถูกฟ้องล้มละลาย ลูกหนี้หรือทรัพย์ก็จะถูกขายไปให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์รับซื้อ bad loan ไปบริหารจัดการต่อไป ซึ่งขบวนการจัดการ bad loan อาจใช้เวลา 5-10  ปี เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ

จึงเป็นที่มาของความท้าทายในการแก้ไขปัญหาหนี้ยุคโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว จากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุด ด้วยมาตรการ Asset Warehousing 

Asset Warehousing โกดังเก็บหนี้ เป็นการจัดการหนี้ดีไม่ให้เป็นหนี้เสีย ชื่อนี้เริ่มได้ยินตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว การแพร่ระบาดรอบสอง ยิ่งเป็นแรงส่งอย่างดีที่เร่งให้มาตรการนี้เกิดเป็นรูปธรรม โดยล่าสุด ท่าน รมต.กระทรวงการคลังก็ออกมารับลูกทั้งเรื่องการจัดสรรเงินจำนวน 1 แสนล้านบาท 

พร้อมทั้งการสนับสนุนโนบายด้านภาษีเพื่อส่งเสริมให้เกิด มาตรการ Asset Warehousing  นับว่าเป็นความโชคดีของลูกหนี้ ที่มีทางเลือกให้เดินในการแก้ไขปัญหาหนี้ 

จากข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย หลักการเป็นการจัดการหนี้ชั่วคราวสำหรับลูกหนี้ที่มีหลักประกัน เริ่มที่เจ้าหนี้รับตีโอนทรัพย์จากลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ ให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืนทรัพย์สินในอนาคตด้วยราคาตกลง ลูกหนี้เช่าทรัพย์สินดำเนินกิจการต่อไปได้โดยเสียค่าเช่า

มาตรการดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดของผู้เกี่ยวข้อง  โดยมีประเด็นในเรื่องการคำนวณราคาค่าเช่า ผลตอบแทนต่าง ๆ ต้องมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเป็นภาคสมัครใจทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เป็นต้น

หลักการเช่นนี้ก็ไม่ต่างกับการแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่ธนาคารเคยปฎิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่ธนาคารคงเลือกหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพและมีโอกาสในการจำหน่ายต่อในราคาสูงกว่าราคาตีโอนชำระหนี้ ถึงแม้จะให้สิทธ์ในการซื้อคืนแก่ลูกหนี้ เงื่อนไขการซื้อคืนก็ถูกกำหนดจากธนาคาร

ซึ่งหากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้ หลักทรัพย์ก็จะถูกธนาคารนำไปจำหน่ายต่อไป ในระหว่างที่ทรัพย์เป็นชื่อธนาคาร ก็จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากได้มา การดูแลรักษาทรัพย์ ค่าภาษี ประกัน เป็นต้น แน่นอนธนาคารย่อมผลักเป็นภาระต่อให้ลูกหนี้  ธนาคารอาจได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องกันสำรองจากลูกหนี้รายนี้

สำหรับลูกหนี้ปัญหาใหญ่อีกประการไม่แพ้กันคือความต้องการสภาพคล่องเพื่อต่อลมหายใจออกไป ให้ยืนหยัดอยู่ได้จนกว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับมาสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกับปี 2562 ภาระดอกเบี้ยที่ไม่ต้องจ่ายจากการโอนทรัพย์เพื่อปลดหนี้ ถูกทดแทนด้วยค่าเช่าที่ต้องจ่ายธนาคาร ต้องหาเงินเพื่อค่าใช้จ่ายประจำเดือน เลี้ยงพนักงาน มีความเป็นไปได้ที่จะมีการผิดสัญญาการตีโอนชำระหนี้หรือสัญญาเช่ากับธนาคาร เป็นปัญหาทางคดีความใหม่แทนคดีจากสัญญาเงินกู้

หากเรามองว่าเป็นการแก้ปัญหาหนี้ดี ข้อเสนอทางเลือกให้มีการจัดตั้งกองทุนหรือมีหน่วยงานที่สามารถ รับโอนทรัพย์จากลูกหนี้และซื้อหนี้ที่ดีของลูกค้ากลุ่มนี้จากธนาคาร

เพื่อนำมาบริหารให้เป็นสินทรัพย์ที่ดีต่อไป สามารถให้สินเชื่อลูกหนี้ ใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน  อาจไม่มีการคิดค่าเช่าการใช้ทรัพย์สินหรือคิดน้อยมากเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร ผลประโยชน์จะอยู่ที่ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อใหม่

และผลประโยชน์ที่ได้เมื่อมีการซื้อทรัพย์คืนจากลูกหนี้ มีแหล่งเงินทุนจากธนาคารเดิมรองรับเมื่อลูกหนี้มีความพร้อมที่จะขอซื้อทรัพย์สินคืน  สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ไปต่อ ก็ให้เวลาในการขายทรัพย์พร้อมลูกหนี้รับรองส่วนต่างหากขายทรัพย์ได้ราคาต่ำกว่าที่ตกลง 

ประเทศไทยเคยมีบทเรียนสำคัญในครั้งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียครั้งใหญ่ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม การเลิกปิดกิจการจำนวนมาก ครั้งนี้ต่างกันตรงที่ทุกภาคส่วนมีความพยายามอย่างมากที่ร่วมกันป้องกัน ให้โอกาสต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว

มาตรการ Asset Warehousing  โกดังเก็บหนี้ อาจเป็นหนึ่งในแนวทางที่ดีนำมาใช้แก้ไขปัญหาหนี้ได้ตรงจุดกับสถานการณ์โรคภัยพิบัติใหม่ และสิ่งนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางการเงินของประเทศ ไม่เตะกระป๋องตามถนนไปเรื่อย ๆ ตามที่ท่าน วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการประเทศไทยพูดไว้.

*บทความโดย วงศกร  พิธุพันธ์

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล