‘แม่ค้าขนมตาลลพบุรี’ ที่อเมริกา

‘แม่ค้าขนมตาลลพบุรี’ ที่อเมริกา

'แม่ค้าขนมตาลลพบุรี' บทความสะท้อนสภาพสังคมในเรื่องการยืมเงินทุนของบรรดาแม่ค้าหาบเร่และผู้ทำกิจการขนาดเล็ก ซึ่งเข้าไม่ถึงธนาคารและโครงการรัฐ

           ย้อนไป 20 ปี นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ตีพิมพ์บทความของผมเรื่อง “แม่ค้าขนมตาลลพบุรี” เนื่องจากสาระของบทความสะท้อนสภาพสังคมจากวันที่ผมยังเป็นเด็กในทุ่งนาเมืองไทยไปจนถึงอเมริกาในปัจจุบัน ผมจึงนำบทความนั้นมาแนบไว้ในหนังสือของผมซึ่งพิมพ์เมื่อปีกลายชื่อ “จดหมายจากชายทุ่ง” (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธิอ่านบ้านนา www.bannareader.com  และฟังเสียงอ่านของคุณสมลักษณ์ หุตานุวัตรได้จาก YouTube)

            บทความดังกล่าวเล่าเรื่องราวของแม่ค้าขนมตาลลพบุรีที่ผมชวนคุยบนรถไฟสายลพบุรี-กรุงเทพฯ ในขณะที่เธอนำหาบกระจาดขึ้นไปบนรถขบวนเดียวกันเพื่อนำขนมตาลไปขายยังจังหวัดอยุธยา  สาระนำที่ผมได้จากการคุยกับแม่ค้าวันนั้นได้แก่การยืมเงินทุนของบรรดาแม่ค้าหาบเร่และผู้ทำกิจการชนาดเล็กซึ่งเข้าไม่ถึงธนาคารและโครงการของรัฐ จำเป็นต้องยืมเงินทุนระยะสั้นจากแหล่งเงินกู้นอกระบบและชำระดอกเบี้ยเป็นรายวัน  ข้อมูลจากแม่ค้าบ่งว่า ดอกเบี้ยที่พวกเธอต้องจ่ายคำนวณออกมาได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 650%  ย้อนไปในสมัยที่ผมยังอยู่ในทุ่งนาเมื่อกว่า 5 ทศวรรษก่อน บ้านผมจำเป็นต้องยืมเงินแบบฉุกเฉินจากคหบดีในตำบล  ตอนนั้น เราจ่ายดอกเบี้ย 5% เป็นรายเดือน 

หลังออกจากเมืองไทยไปทำงานอยู่ในต่างประเทศ ผมทราบว่ามีญาติกู้เงินนอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 7% เป็นรายเดือน  แม้จะโหดมากหากวัดจากอัตราดอกเบี้ยที่ผู้มีโอกาสยืมจากธนาคารจ่าย แต่ 5% และ 7% ที่จ่ายเป็นรายเดือนย่อมไม่โหดเท่าอัตราที่แม่ค้าขนมตาลต้องจ่ายซึ่งผมหลงผิดคิดไปว่ามีอยู่ในประเทศอื่นเท่านั้น เช่น ในช่วงที่ผมทำงานอยู่กับธนาคารพัฒนาเอเซียในฟิลิปปินส์เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ชาวฟิลิปปินส์เล่าให้ฟังว่า พวกแม่ค้าหาบเร่ในกรุงมะนิลามักต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า 5% ต่อวัน นั่นคือ ถ้าตอนเช้ายืมเงิน 20 เปโซเพื่อซื้อสินค้าไปขายในตลาด ตกเย็นต้องนำเงิน 21 เปโซไปคืนให้นายทุน

ไทยและฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนกลุ่มใหญ่เข้าไม่ถึงระบบธนาคารทำให้ต้องกู้เงินนอกระบบซึ่งคิดดอกเบี้ยในอัตราที่มนุษย์ไม่น่าจะคิด  แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีส่วนรับรู้เรื่องในทำนองเดียวกันในสหรัฐ  ผมทราบจากสื่อมานานแล้วว่า มีการกู้เงินนอกระบบโดยเฉพาะในกลุ่มคนจน หรือคนที่ลักลอบเข้าไปในสหรัฐซึ่งมักเข้าไม่ถึงระบบธนาคาร  ผู้ให้กู้อาจติดป้ายโฆษณาตามหน้ากิจการของตนว่าให้ยืมเงินแบบจ่ายคืนในวันเงินเดือนออก (payday loan) นั่นคือ ทุก ๆ 2 สัปดาห์  แต่ผมไม่รู้ว่าเขาคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าไรจนมาทราบจากคนไทยที่ไปติดกับดักของเขาเมื่อไม่นานมานี้เนื่องจากหาทางออกไม่ได้หลังการระบาดของโควิด-19ทำให้ตกงานไปกู้เงิน 1,500 ดอลลาร์จากนายทุนหน้าเลือด 

การกู้เงินดังกล่าวนี้มีคนไทยใจดีช่วยเหลือโดยนำรถยนต์ไปค้ำประกันให้เนื่องจากผู้กู้ไม่มีทรัพย์สินมีค่าสำหรับใช้ในการค้ำประกัน  ตามสัญญา ทุก 2 สัปดาห์ ผู้กู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงิน 398 ดอลลาร์ หรือ 796 ดอลลาร์ต่อเดือน  หากไม่จ่ายและปล่อยให้ดอกเบี้ยพอกพูนจนใกล้ค่ารถยนต์ที่เจ้าของเงินตีราคาไว้ เขาจะยึดรถไปขายทอดตลาดเพื่อล้างหนี้  ข้อมูลดังกล่าวนี้มีค่าเท่ากับอัตราดอกเบี้ยกว่า 50% ต่อเดือนซึ่งไม่ต่างกับอัตราที่แม่ค้าขนมตาลลพบุรีจ่ายมากนัก

ข้อมูลที่อ้างถึงเหล่านั้นคงใช้เป็นฐานของการมองต่อไปได้หลายแง่มุม อาทิ ชาวไทยที่คิดจะไปเสี่ยงโชคยังอเมริกาน่าจะหาข้อมูลรอบด้านมาพิจารณาก่อนตัดสินใจเพราะอเมริกาในสมัยนี้อาจมิใช่สวรรค์ดังคำร่ำลืออีกต่อไป  ก่อนตัดสินใจกู้เงินจากใครด้วยเหตุผลอะไร คิดถึงผลที่อาจตามมาว่าจะเป็นแบบไหนได้บ้าง  การเอาเปรียบกันแบบไร้มนุษยธรรมมีอยู่ทั่วไปในสังคมมนุษย์ทั้งในสังคมก้าวหน้าและสังคมล้าหลัง  การเอาเปรียบกันทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงยาก  หากปล่อยให้เลวร้ายต่อไป ความเหลื่อมล้ำจะทำให้สังคมล่มจม.