ต้อนรับปี 2564 ด้วยสติและปัญญา

ต้อนรับปี 2564 ด้วยสติและปัญญา

ขอต้อนรับแฟนคอลัมน์ 'เศรษฐศาสตร์บัณฑิต' และผู้อ่านทุกท่านสู่ปี 2021 หรือ พ.ศ.2564 ขอให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง

ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและในสิ่งที่ปรารถนา ช่วยกันทำหน้าที่พลเมืองที่ดี โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของส่วนรวม เพราะเป็นเรื่องสำคัญร่วมกันของพวกเราทุกคน

อาทิตย์ที่แล้วผมเขียนถึงปี 2020 ที่จบไปว่าเป็นปีที่หลายคนอยากลืมแต่ลืมไม่ได้ เพราะทุกคนทั่วโลกลำบาก มีการสูญเสียมาก ทั้งจากภัยของโควิด-19 และจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ที่สำคัญกรณีของประเทศเรา วิกฤติคราวนี้ก็เปิดให้เห็นถึงความอ่อนแอหลายอย่างที่ประเทศมี ที่ต้องแก้ไข เพื่อลดอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่จะมีต่ออนาคตของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลายอย่างที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วก็ให้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์แก่เราหลายเรื่อง ที่จะสำคัญต่อการต่อสู้กับโควิดและการฟื้นเศรษฐกิจที่เราต้องทำต่อในปีนี้ และบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่เราสามารถภูมิใจได้เกี่ยวกับสิ่งที่ประเทศมี

อย่างแรกคือ ความสามารถของคนไทยในการปรับตัวกับวิกฤติที่เกิดขึ้น นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียได้กล่าวแก่คนอินเดียทั้งประเทศเมื่อเดือนที่แล้วว่า สิ่งหนึ่งที่วิกฤติโควิด-19 ชี้ให้เห็นคือ ความสำคัญของความสามารถของประเทศที่จะเผชิญกับปัญหาและดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาใครในยามวิกฤติ หรือ Self- reliance ซึ่งผมเห็นด้วยและในความเห็นของผมสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติและความเข้มแข็งสูงสุดที่ประเทศควรมี

ในเรื่องนี้ ภูมิใจได้ว่าประเทศเรามีมากพอควร เพราะประเทศสามารถปรับตัวและประชาชนอยู่ได้ในสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นสถานการณ์ที่ลำบากต่อคนจำนวนมาก เห็นได้จากความร่วมมือของทุกคนในช่วงล็อกดาวน์เพื่อหยุดการระบาด แม้ตัวเองจะต้องหยุดค้าขาย หยุดทำงาน ไม่มีรายได้ แต่ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อหยุดการระบาดเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ นอกจากนี้ เราเห็นประชาชนช่วยเหลือกัน แบ่งปันกัน ดูแลกันให้อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็น จัดตั้งโรงทาน การบริจาคของ อาหารให้คนอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้คนอื่นที่เดือดร้อนมากสามารถฝ่าฟันวิกฤติไปด้วยกัน ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ

แม้การระบาดได้ปะทุขึ้นใหม่เดือนที่แล้ว ความพร้อมที่ประชาชนจะร่วมมือกันก็ไม่ได้จางหายไป ยังพร้อมที่จะปฏิบัติตนเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังตามคำแนะนำของสาธารณสุข เพื่อไม่ให้การระบาดขยายตัวและกระทบคนทั้งประเทศ สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อความอยู่รอดของสังคม และจะเป็นปัจจัยช่วยให้ประเทศเราสามารถฝ่าฟันวิกฤติต่อไปได้อีกในปีนี้

เรื่องที่สอง เป็นข้อเท็จจริงที่เราเห็นชัดเจน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แยกกันไม่ออก คือ ถ้าไม่มีการระบาดในประเทศเหมือนช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วจนถึงเดือนธันวาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะกลับมา นำไปสู่การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม ถ้าการระบาดในประเทศเกิดขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะถูกกระทบ และอาจจะหยุดชะงักลงถ้าการระบาดรุนแรง และหรือทางการออกมาตรการลดการติดต่อของประชาชนเพื่อลดการระบาด ดังนั้น ในแง่นโยบายชัดเจนว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่ได้ถ้าการระบาดยังไม่หยุด ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐทำจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อการลดการระบาด และไม่สร้างความเสี่ยงให้การระบาดในประเทศเกิดขึ้น อันนี้สำคัญมาก

เรื่องที่สาม คือ กลุ่มคนรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากในวิกฤติคราวนี้ และถ้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใช้เวลา กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบนานตามไปด้วยจากการไม่มีงานทำ ธุรกิจต้องหยุด ไม่มีรายได้ กระทบทั้งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ดังนั้น ในแง่นโยบายเพราะรัฐบาลมีทรัพยากรจำกัดและทั้งหมดเป็นเงินกู้ การใช้ทรัพยากรภาครัฐช่วยเศรษฐกิจจะต้องเป็นแบบมีเป้าหมายชัดเจน ไม่หว่านไปทั่ว แต่ต้องมุ่งไปช่วยเหลือกลุ่มคนที่เดือดร้อน ซึ่งได้เริ่มแล้วเช่น มาตรการคนละครึ่ง

ตรรกะก็คือเราต้องพยายามปรับตัวและช่วยตัวเอง แต่ใครที่ลำบากและช่วยตัวเองไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ ในรูปแบบที่แชร์ความรับผิดชอบและแชร์ภาระ ดังนั้น ในปีนี้ถ้าความช่วยเหลือยังจำเป็น การให้ความช่วยเหลือแบบมีเป้าหมายจึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำต่อไป ถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์และเหตุผลของการดำเนินนโยบายสาธารณะ

นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากปีแรกของวิกฤติโควิด ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับสถานการณ์ต่อเนื่องในปีนี้ ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร

สำหรับปี 2021 ชัดเจนว่าวิกฤติโควิดทั้งในแง่สาธารณสุขและเศรษฐกิจคงจะยังไม่จบง่ายๆ เพราะการระบาดยังเร่งตัวอยู่ในหลายประเทศ ทำให้สำหรับเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การระบาดของโควิดอาจยืดเยื้อถึงกลางปีนี้ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจบ้านเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เราต้องเตรียมใจและเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติอย่างมีสติและด้วยปัญญา คือ ระมัดระวัง ไม่ประมาท และช่วยเหลือกันฝ่าฟันวิกฤติโดยใช้เหตุใช้ผล

ปี 2021 นี้มีสามเรื่องที่จะเป็นพลวัตสำคัญในเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม เพราะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสถานการณ์การระบาดและวิกฤติเศรษฐกิจในปีนี้ได้อย่างสำคัญ

อันแรกก็คือ เรื่อง "วัคซีน" ที่เป็นความหวังของการหยุดการระบาด และนำเศรษฐกิจกลับไปสู่โลกของความปลอดภัย ไม่มีโรคระบาดโควิด-19 เหมือนก่อนปี 2020 เรื่องวัคซีนนั้นขณะนี้มีความไม่แน่นอนมาก ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ราคา การกระจายวัคซีนให้กับคนในประเทศว่าจะใช้กลไกตลาดหรือรัฐบังคับให้ทุกคนต้องฉีด รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนระหว่างประเทศมีกับประเทศจน ประเด็นเหล่านี้ปัจจุบันยังไม่มีคำตอบ แต่คำตอบจะต้องมีในที่สุด และถ้าคำตอบออกมาดี เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย วัคซีนก็อาจเป็นตัวแปรที่จะเปลี่ยนพลวัตของการระบาดและวิกฤติเศรษฐกิจคราวนี้ได้อย่างรวดเร็ว

สอง นโยบายของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญได้ ทั้งต่อการหยุดการระบาดในสหรัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และนำระบบการค้าและการลงทุนโลกกลับเข้าสู่ระบบพหุภาคีเหมือนเดิม ในเรื่องนี้ทุกคนหวังให้สหรัฐกลับไปทำหน้าที่ผู้นำเศรษฐกิจการเงินโลกเหมือนแต่ก่อนในฐานะประเทศอันดับหนึ่ง และรวมพลังประเทศต่างๆ ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศให้เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีที่เป็นภัยกับทุกประเทศ เช่น ปัญหาสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน สิ่งเหล่านี้เป็นภัยต่อมนุษยชาติโดยรวม และการแก้ไขเพื่อความอยู่รอดต้องมาจากความร่วมมือของทุกประเทศ

สาม การก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ปีที่แล้วความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัลเทคโนโลยีตั้งรับและปรับตัวกับผลกระทบที่มาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของประชาชนสามารถปรับตัวตามได้ จากจุดเริ่มต้นนี้ ในปีนี้ มั่นใจได้ว่า เทคโนโลยีจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งเพื่อช่วยในการปรับตัวในสถานการณ์วิกฤติ เช่น การเรียนออนไลน์ และทำงานที่บ้านหรือเปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคม เช่น สินค้าออนไลน์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

สิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมต้องปรับตัวมาก เพื่อรับนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ภาครัฐจึงมีหน้าที่ที่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดูแลการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง และใช้เทคโนโลยีปรับปรุงประสิทธิภาพและการให้บริการของภาครัฐเอง เหล่านี้คือ สิ่งที่ภาครัฐรวมถึงรัฐบาลบ้านเราต้องทำ ไม่ใช่เพื่อให้ประเทศเราตามประเทศอื่นๆ ได้ทันเท่านั้น แต่เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถของตนเองหาประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อปรับมาตรฐานความเป็นอยู่ของตนเองและของคนในประเทศให้ดีขึ้น

นี่คือสามประเด็นที่ต้องติดตามในปี 2021 ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ หลายอย่างที่จะเกิดขึ้นตามมา

สวัสดีปีใหม่ครับ