ความร่วมมือ‘จีน-อาเซียน’ยุคหลังโควิด

ความร่วมมือ‘จีน-อาเซียน’ยุคหลังโควิด

โลกยุคหลังโควิด-19 อยู่ในบริบทที่ผมเรียกว่า Pandemic New Normal ซึ่งมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากขึ้นจากการเกิดโรคระบาดถี่ขึ้น

ผมได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาผ่านระบบออนไลน์ในการประชุม International Forum for New Inclusive Asia 2020 (IFNIA 2020) จัดโดย Centre for New Inclusive Asia ประเทศมาเลเซีย ร่วมกับ Institute of the Belt and Road Initiative แห่งมหาวิทยาลัยซิงหัว ประเทศจีน Center for Global & Strategic Studies ประเทศปากีสถาน และ Verite Research ประเทศศรีลังกา โดยประเด็นหลักของการประชุมในปีนี้ คือ “BRI-Impact of the COVID-19 Pandemic, Changing Reality and the Way Forward” และหัวข้อที่ผมบรรยาย คือ “China-ASEAN Cooperation in the Post Pandemic Era”

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูเหมือนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียน มาตรการปิดเมืองและปิดพรมแดน ได้ปิดกั้นการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมทั้งทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกขาดตอน ทำให้บรรษัทข้ามชาติกระจายความเสี่ยงโดยใช้ China Plus One Strategy ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังอาเซียนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี โควิดทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนมากขึ้น ผลักดันให้จีนร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้นในหลายด้าน ทั้งด้านการค้า เทคโนโลยี สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงถดถอย ทำให้จีนกลายเป็นตลาดที่ประเทศในอาเซียนต้องพึ่งพามากขึ้น

ถึงกระนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนต้องเผชิญความท้าทาย ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ การขาดดุลทางการค้าต่อประเทศจีน และความไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการภายใต้ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ขณะที่รัฐบาลจีนมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ต้องลดวงเงินลงทุนในต่างประเทศ และหันมามุ่งเน้นตลาดในประเทศมากขึ้น ด้วยนโยบาย “Dual Circulation”

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังสร้างความท้าทายแก่อาเซียน เนื่องจากภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจ รัฐบาลจีนได้เสนอความช่วยเหลือและผลักดันให้บริษัทขนาดใหญ่ของจีนให้ความช่วยเหลือทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่วอชิงตันจะเข้ามามีส่วนร่วมกับภูมิภาคนี้มากขึ้น เช่น การกีดกันสมาชิกอาเซียนจากการเข้าร่วมธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) และการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีน และการออกกฎหมายและการริเริ่มต่าง ๆ เพื่อกีดกันอิทธิพลของจีน

โลกยุคหลังโควิด-19 อยู่ในบริบทที่ผมเรียกว่า Pandemic New Normal ซึ่งมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากขึ้นจากการเกิดโรคระบาดถี่ขึ้น อาเซียนจำเป็นต้องทบทวนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียน

๐จาก ‘การเติบโต’ สู่ ‘ความมั่นคง’

ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้น จากเดิมที่เน้นเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความร่วมมืออาเซียนกับจีนควรมุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองมากขึ้น เช่น การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศมากขึ้น การปรับโครงสร้างการอุตสาหกรรมให้หลากหลายมากขึ้น การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นและมีทางเลือกของซัพพลายเออร์มากขึ้น การร่วมมือกันพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าระหว่างประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีความยืดหยุ่นสูง

๐จาก ‘โครงสร้างพื้นฐานกายภาพ’ สู่ ‘โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม’

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ยังมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แต่ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมควบคู่ไปด้วย เนื่องด้วยเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงมากขึ้น ขณะที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโรคระบาด และจากปัจจัยด้านอื่นๆ จะทำลายระบบเดิม และทำให้สมรรถนะแบบเดิมไม่สามารถแข่งขันได้

ความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียน จึงควรให้น้ำหนักกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมมากขึ้น อาทิ การพัฒนาทุนมนุษย์ การพัฒนาชนบท การพัฒนาภาคเกษตร การพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาฐานข้อมูลประชาชนและเศรษฐกิจนอกระบบ เป็นต้น

๐จาก ‘บนลงล่าง’ สู่ ‘ล่างขึ้นบน’

โครงการลงทุนภายใต้ความริเริ่มแถบและเส้นทางได้รับการวิจารณ์ว่า เป็นการริเริ่มโดยรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุน โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาดังที่กล่าวแล้ว นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับองค์กรและประชาชนยังมีความจำกัด ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนในประเทศไม่ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือเท่าที่ควร ในสถานการณ์หลังโควิดที่เศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และเงินลงทุนระหว่างประเทศมีจำกัดมากขึ้น

ประเทศในอาเซียนจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและประชากรมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนในโครงการต่างๆ จะถูกจับตามองมากขึ้นว่า จะคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ และมีความต้องการระดมทรัพยากรจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนมากขึ้น 

จีนและอาเซียนจึงควรร่วมมือกันกำหนดมาตรฐานด้านกระบวนการริเริ่มและดำเนินโครงการ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตลอดวงจรชีวิตของโครงการ เช่น กระบวนการประชาพิจารณ์ การจัดทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA & HIA) การจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญอิสระเป็นที่ปรึกษาโครงการ การร่วมมือระหว่างบริษัทท้องถิ่นและต่างชาติ การส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจ และระหว่างประชาชน เป็นต้น

๐จาก ‘แข่งขัน’ สู่ ‘ร่วมมือและแข่งขัน (Coopetition)’

ภายใต้การแข่งขันของมหาอำนาจ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเสี่ยงด้านความมั่นคง และอาจถูกกดดันและแทรกแซงจากมหาอำนาจมากขึ้น การพัฒนาความร่วมมืออาเซียนกับจีน จึงควรพยายามทำให้เกิดการแข่งขัน (competition) และความร่วมมือ (cooperation) ระหว่างมหาอำนาจ เพื่อรักษาดุลอำนาจของมหาอำนาจ

การดำเนินโครงการลงทุนต่างๆ ควรเปิดให้มีการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ เพื่อให้ประเทศได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด และกระจายการพึ่งพาเงินทุนจากหลายแหล่ง รวมทั้งส่งเสริมให้มีความร่วมมือกันและแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างมหาอำนาจ เพื่อลดแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนมีแนวโน้มพัฒนามากขึ้น เนื่องจากจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอนาคต อย่างไรก็ดี โลกหลังโควิดมีความถดถอยและความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งมีความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น 

การพัฒนาประเทศและความร่วมมือกับมหาอำนาจ จึงต้องมียุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดและรอบคอบ เพื่อให้ประเทศมีโอกาสได้รับประโยชน์สูงสุด และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด จากการแข่งขันของมหาอำนาจ