อยากกินข้าวไทยที่ผงาดทวงคืนแชมป์โลก!

อยากกินข้าวไทยที่ผงาดทวงคืนแชมป์โลก!

ข้าวหอมมะลิไทย 105 ชนะเลิศรางวัล 'ข้าวดีที่สุดในโลก' World's Best Rice Award 2020 แต่จะมีคนไทยสักกี่คนที่ได้ลิ้มรสชาติข้าวแชมป์โลกนี้

        ไทยกลับมาทวงแชมป์ได้อีกครั้ง !

         ข้าวหอมมะลิไทย 105 ชนะเลิศรางวัล"ข้าวดีที่สุดในโลก หรือ World's Best Rice Award 2020 "ในการประกวดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกปีในงานประชุมข้าวโลก ( World Rice Conference ) โดย The Rice Trader สหรัฐฯ  ระหว่าง 1-3 ธ.ค. 2563  นับเป็นแชมป์ครั้งที่ 6 จากที่จัดมาทั้งหมด 12 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2552  เวียดนามและกัมพูชาที่เคยล้ม "แชมป์ไทย"ได้ในปี 2561 และ 2562 ครั้งนี้อยู่อันดับ 2 และอันดับ 3 

แน่นอนว่าได้แชมป์ย่อมดีกว่าไม่ได้  แต่ก็เหมือนการประกวดอื่น ๆ เช่นหนังสือ  เครื่องประดับ  ฯลฯ  รางวัลชนะเลิศอาจเพิ่มชื่อเสียงยี่ห้อและยอดขายบ้าง หรือว่าอาจไม่เพิ่มยอดขายแม้กระทั่งในการส่งออกนักเพราะข้าวดีขายแพง  เจอเศรษฐกิจไม่ดี  คนซื้อน้อยลง   หรือไม่บางทีผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรสนิยม  (  taste shift ) ไม่รู้สึกรู้สาใดนักที่จะกินข้าวถูกกว่าคุณภาพด้อยลง   มีเงินก็ไม่(รู้จัก)ซื้อของดีกิน  แบบเดียวกับหนังสือดีไม่มีคนซื้ออ่าน    ผู้ผลิตผู้ค้าย่ามใจไม่ได้

การสร้างตลาดเพิ่มให้ข้าวดีข้าวแพงจึงเป็นทางออกโดยเฉพาะการบริโภคในประเทศ จะไม่จัดให้ข้าวแชมป์โลก เป็นของขวัญปีใหม่"คนละครึ่ง" สักครั้งหรือ  กระทรวงพาณิชย์ที่แถลงหน้าบานข้าวไทยทวงคืนแชมป์โลก เหมือนการท่องเที่ยวนั่นแหละ  อย่าคิดและค้นคว้าวิจัยแต่เรื่องเงินมาจากนอกประเทศ  คนในประเทศก็อยากเที่ยวและอยากเข้าถึงข้าวดี

โดยทั่วไปคนไทยยังเข้าไม่ถึงข้าวดี  ไม่รู้จะซื้อหาจากช่องทางใดแม้ว่าจะมีเงินซื้อและอยากลอง  คนพะเยาเองเคยลำบากหาซื้อข้าวสารหอมมะลิพะเยาที่ได้รางวัลชนะเลิศ  ก็จึงไม่แปลกที่ในฐานะนักท่องเที่ยวไปถึงพะเยาก็เจอปัญหาเดียวกันหาซื้อไม่ได้   

เรื่องนี้น่าคิด   ผู้ว่าฯพะเยาหลังๆ มานี้ทำนโยบายให้ร้านอาหารเสิฟข้าวสวยหอมมะลิพะเยา ได้รับความร่วมมือ  แต่ก็ได้ยินผู้บริโภคบ่นว่าแพงจัง บางร้านจึงมีข้าวสวยราคาถูกกว่าให้เลือก

ทั้งหาซื้อไม่ได้และราคาที่ว่า "แพง"  เป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตก โดยทั่วไปแชมป์มวยนางงามดาราคืนถิ่นเป็นข่าวครึกโครมกว่าข้าวของท้องถิ่นชนะเลิศรางวัลอะไรมาเสียอีก  ส่วนหนึ่งที่บ่นว่าแพง อาจเพราะเราคนไทยไม่ค่อยสนใจไม่(สามารถ)พิถีพิถันนักกับข้าวสารข้าวสวยที่กิน ไม่ว่าที่บ้านและร้านอาหารทั่วไป  แม้แต่ในร้านอาหารดีและแพง  เราจะบ่นหนักอาหารไม่อร่อย  แต่ไม่ว่ากันนักเรื่องคุณภาพข้าว   

ข้าวสารถุงที่ซื้อบริโภคกันทั่วไประบุน้อยมากหรือไม่ระบุเลยว่าเป็นข้าวพันธุ์ใดผลิตปีไหน  ผู้ซื้อดูยี่ห้อผู้บรรจุถุงเป็นหลัก (ซึ่งก็อาจไม่ใช่ผู้ผลิตข้าวสาร) ต่างจากแต่เดิมที่ซื้อปลีกข้าวสารเป็นลิตรหรือกิโลกรัม(ซึ่งกลับมานิยมกันใหม่ในร้านขายข้าวไฮเอนด์ )  มักปักป้ายบอกว่าเป็น ข้าวอะไร   พันธุ์อะไร   ข้าวใหม่   ข้าวเก่า  หรือข้าวเก่า ๒ ปี   ถ้าแหล่งภูมิศาสตร์มีความสำคัญ ก็จะระบุเช่นว่า  ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย  (เยี่ยมมากนำมามูลกะทิ)   ข้าวสังข์หยดพัทลุง ฯ

พอกล่าวได้ว่าทุกวันนี้คนไทยที่ไม่เกี่ยวข้องฤดูกาลปลูกข้าวแทบจะไม่แยกแยะอะไรเกี่ยวกับข้าวที่ซื้อที่กิน  ไม่รู้ความแตกต่าง "ข้าวใหม่" "ข้าวเก่า" ไม่รู้จักทั้งชื่อและหน้าตาตลอดจนรสชาติของข้าวนานาพันธุ์  ศักยภาพการรู้จักข้าวและรสข้าวของเราเสื่อมถอยจนเราคนในประเทศที่ได้ชื่อว่าปลูกและส่งออกข้าวดีที่สุดในโลกกลับมีข้าวกินไปตามยถาตลาดบงการ  ไร้การดูแลเอาใจใส่จากสถาบันเกี่ยวข้อง  การวิจัยพัฒนาข้าวไทยมุ่งแต่ส่งออกเป็นหลักทั้งรสชาติ คุณภาพและการจำหน่ายเข้าถึง     

การที่ผู้บริโภค(ในประเทศ)ไม่พิถีพิถัน  สำนึกน้อย  สืบสาวไปก็โยงถึงผู้ผลิต  ตั้งแต่เกษตรกร  โรงสี  ผู้จำหน่าย   ที่บกพร่องในการแยกแยะ  คัดเลือก   และการปลูกมาตั้งแต่เมล็ดพันธุ์  จนส่งผลถึงผู้บริโภค  ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นวงจรมานาน  

เราเพิ่งบริหารจัดการคุณภาพเมล็ดพันธุ์เมื่อ 20 กว่าปีนี้เอง อื่น ๆ เช่น ลดปลูกข้าวด้อยคุณภาพ ก็เพิ่งรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ที่ต้องแก้ทุกข์ใหญ่จำนำข้าวทุกเมล็ดทิ้งมรดกไว้  คือเร่งผลิตเอาเมล็ดมาก ๆเป็นหลัก  นาบางแห่งปลูกข้าว 7 ครั้งในสามปี เป็นข้าวนาปรังคุณภาพต่ำทั้งนั้น 

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเตือนพักใหญ่แล้วว่าส่งออกข้าวปีนี้ในช่วงเดียวกัน มกราคม-พฤษภาคม ลดลงจากปีที่แล้วและมีแนวโน้มจะลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า คู่แข่งจะมากขึ้น โดยเฉพาะจีนที่จะเริ่มส่งออกข้าวไปขายในแอฟริกา  จีนเป็นดาวรุ่งดวงใหม่เรื่องข้าว   เดินตามหลายประเทศในการวิจัยพัฒนาพืชเกษตรทุกด้านเมื่อตั้งใจผลิต เช่นญี่ปุ่นซึ่งเคยเขียนถึงมาแล้ว

ขนมปังที่คนฝรั่งเศสกินเป็นอาหารแป้งหลักนั้นรัฐบาลเฝ้ารักษามาตรฐานเสนอสนองผู้บริโภค   เพราะหมายถึงชื่อเสียงยี่ห้อและเพื่อควบคุมการผลิตทั้งวงจร   กว่าสองทศวรรษแล้วที่เริ่มเงินอุดหนุนผู้ผลิตขนมปังดี ๆให้อยู่ได้ในภาวะแข่งขันและให้โรงเรียนจัดขนมปังดีให้เด็กได้ลิ้มรสช่วงอาหารกลางวัน  ด้วยเกรงลิ้นคนในชาติจะกลายเป็นลิ้นจระเข้โดยเฉพาะเด็ก ๆหากได้กินแต่ขนมปังซุปเปอร์มาร์เก็ตเก็บได้เป็นอาทิตย์   ซึ่งห่างไกลลิบคุณภาพขนมปังแบบดั้งเดิมที่ร้านขนมปังอบขนมปังท่อนยาวกรอบนอกนุ่มในที่เรียกว่าบาแกต ( baquette ) วันละสองรอบ คือ ตีสี่และบ่ายสองบ่ายสาม กินสุกใหม่วันต่อวัน

พูดแล้วท้องร้องจ๊อก ๆ อยากกิน ข้าวแชมป์โลก !