ใครเป็นเจ้าของฉัน? (สุนัขจรจัด)

ใครเป็นเจ้าของฉัน? (สุนัขจรจัด)

'สุนัขจรจัด' ยังเป็นปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่และยังไม่มีวิธีจัดการที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สาเหตุหนึ่งมาจาก ผู้เลี้ยงสุนัขขาดความรับผิดชอบ

"ผู้เลี้ยงสุนัข" ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุนัข เมื่อดูแลไม่ได้ก็นำสุนัขมาปล่อยทิ้งในที่สาธารณะหรือปล่อยให้เป็นภาระของวัดจนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในด้านสุขอนามัย ด้านความปลอดภัย และด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม

แม้หลายครั้งที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดโดยใช้มาตรการหลายอย่าง เช่น การนำสุนัขจรจัดมาพักพิงยังศูนย์พักพิงสุนัข การทำหมัน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการขึ้นทะเบียนสัตว์จัดทำบัตรประจำตัวสัตว์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น มาตรการทางกฎหมายก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญแต่กลับพบว่ายังไม่มีความชัดเจนนัก ความคลุมเครือของกฎหมายเองก็เป็นเหตุให้เกิดความสับสนว่าแท้จริงแล้วใครต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาสุนัขจรจัดสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้คนในสังคม

พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้ให้คำนิยามคำว่าเจ้าของสัตว์ หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย ส่วนพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ได้ให้นิยามเจ้าของ ซึ่งหมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครอง ในกรณีของสัตว์หากไม่ปรากฏเจ้าของหรือไม่สามารถหาเจ้าของได้ให้หมายความรวมถึงผู้เลี้ยง ผู้ให้ที่อยู่อาศัย และผู้ควบคุมสัตว์ด้วย

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการทำละเมิดจากสัตว์ไว้ตามมาตรา 433 ว่า “…เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น…” ซึ่งยากจะตีความให้ชัดเจนว่า “ผู้รับเลี้ยงรับรักษา” มีขอบเขตแค่ไหนถึงจะเรียกว่ารับเลี้ยงรับรักษา ซึ่งหากตีความตามตัวบทกฎหมายนี้โดยตรงจะสามารถเข้าใจได้ว่าผู้รับเลี้ยงรับรักษานั้นมิใช่เจ้าของเดิมตั้งแต่แรกเริ่ม แต่อาจเป็นผู้ดูแลชั่วคราวด้วยผลของสัญญาหรือในกรณีที่เจ้าของเดิมสละการครอบครองสัตว์ดังกล่าวนั้นแล้วจึงรับมาอยู่ในความดูแลแทน

ในประเด็นนี้ คุณเฉลิมวุฒิ ศรีพรหม ได้กล่าวไว้ในความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายอันเกิดจากสุนัขว่า หากเป็นในกรณีที่สุนัขจรจัดมีผู้ให้ที่อยู่อาศัยในชายคาบ้านก็ควรให้ถือว่าเจ้าของบ้านเป็นเจ้าของสัตว์นั้นแล้วโดยไม่ต้องพิจารณาพฤติการณ์อื่นที่จะชี้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ เช่น การให้อาหาร การออกค่ารักษาพยาบาลให้สัตว์ตัวนั้น ๆ แต่ก็จะมีปัญหาอีกว่าในกรณีที่เป็นสัตว์พลัดหลงโดยที่เจ้าของเดิมยังไม่ได้สละการครอบครอง ผู้ที่ให้ที่พักพิงในชายคาจะเป็นเจ้าของสัตว์นั้นหรือไม่ ความเป็นเจ้าของทางพฤตินัยยังคงคลุมเครือในการตีความอยู่มาก

ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานในประเด็นการกำหนดผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดจากสัตว์นั้น ผู้รับเลี้ยงรับรักษา หมายถึง ผู้ซึ่งดูแลรักษาสัตว์นั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้ อาจรับดูแลรักษาโดยสัญญา เช่น ผู้รับจ้างเลี้ยงสัตว์หรือสัตวแพทย์ หรืออาจรับเลี้ยงไว้โดยข้อเท็จจริงก็ได้ เช่น เพื่อนบ้านไปต่างประเทศ เราเห็นสุนัขอดอาหารไม่มีใครดูแล ก็เลยเอามาเลี้ยงดูให้ โดยให้อาหารและให้มาอยู่ในบ้าน หากในระหว่างนั้นเกิดไปกัดใครเข้า เราก็ต้องรับผิด ทั้งนี้ ผู้เช่าหรือยืมสัตว์ก็ถือว่าเป็นผู้ดูแลรักษาตามความหมายนี้เช่นกัน (ฎ. 973/2479, ฎ. 1067/2496, ฎ. 889/2510)

สำหรับกรณีสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของอย่างแท้จริงทั้งทางด้านนิตินัยและพฤตินัยมีเพียงแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เป็นบรรทัดฐานในเรื่องนี้คือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1751/2559 ได้วินิจฉัยไว้ว่า องค์การบริหารส่วนตำบลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่สัตว์จรจัดในชุมชนทำละเมิด โดยหากพบเจอสัตว์จรจัดที่ไม่มีป้ายประจำสัตว์แล้วไม่จับสัตว์มาควบคุมไว้ในความดูแล องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นมีความผิดฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จะเห็นได้ว่าผู้รับผิดชอบในประเด็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของจะต้องเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ดังนั้นประเด็นที่ว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สัตว์หรือเป็นผู้ครอบครองหรือเป็นผู้รับเลี้ยงรับรักษาสัตว์จึงมีความสำคัญ ซึ่งหากไม่ปรากฏบุคคลดังกล่าวความรับผิดจะต้องตกอยู่กับของหน่วยงานได้กล่าวมาในข้างต้น

กล่าวโดยสรุปในทางปฏิบัติคงเป็นไปได้ยากที่จะสืบหาเจ้าของสุนัขจรจัดเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ต่างคนก็ต่างอ้างว่าไม่ได้เป็นเจ้าของสุนัข ไม่เคยให้อาหาร ไม่เคยให้ที่พักพิง ทำให้เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้วสืบหาเจ้าของสุนัขจรจัดไม่ได้ ภาระทั้งหมดก็คงตกอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ต้องเข้ามารับผิดชอบจากการขาดความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงสุนัข

ผู้เขียนเห็นว่า ประเทศไทยควรผลักดันมาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลงโทษผู้เลี้ยงสุนัขที่ขาดความรับผิดชอบอย่างจริงจัง

*บทความโดย ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน ภิรวิชญ์ มาเรือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์