5 คำทำนายในปี 2021 (ตอนที่ 1/2)

5 คำทำนายในปี 2021 (ตอนที่ 1/2)

ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอน ตรรกะแห่งพุทธพจน์เป็นจริงเสมอ แม้แต่คำทำนายปี 20 ของผู้เขียนที่มักมองโลกอย่างระมัดระวังแล้ว ก็ยังดูไกลความจริง

นั่นเป็นเพราะปี 2020 เป็นปีแห่งอาถรรพ์ ที่โรคร้ายแห่งศตวรรษได้มาระบาดทั่วโลก และทำให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากกว่าประชากรประเทศไทย และผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน และกำลังจะเข้าสู่ 2 ล้านคนในกลางปีหน้า และยิ่งไปกว่านั้น โรคร้ายยังได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สงครามเย็น และการพัฒนาของโลกอย่างไม่มีวันหวนกลับ

 การเปลี่ยนแปลงทั้งห้านั้นได้แก่

(1) COVID ที่ได้นำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี และจะทำให้เกิด "รอยแผลเป็น" ต่อเศรษฐกิจตลอดไป

(2) ประธานาธิบดีทรัมพ์แพ้เลือกตั้ง และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหมดยุคกระแสชาตินิยมขวาจัดทั่วโลก

(3) การลงทุนโลกในภาพรวมเติบโตดีมาก สวนทางกับเศรษฐกิจ ผลจากการอัดฉีดภาคการเงินการคลังทั่วโลกที่จะมีไปอีกพักหนึ่ง (4) สงครามเย็นที่มีแนวโน้มเปลี่ยนรูปแบบไป จากการเผชิญหน้าโดยตรงและใช้เครื่องมือเก่าอย่างภาษีศุลกากร เป็นรูปแบบใหม่ที่ใช้พันธมิตรมากขึ้น และ

(5) เอเชียมีแนวโน้มที่จะผงาดขึ้นมาเป็นยิ่งใหญ่ แทนที่ซีกโลกตะวันตก

 

ด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบ "พสุธาพลิก" (Tectonic Shift) เช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนมองว่าปี 2021 จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ โดยขอฉายภาพ 5 คำทำนายของปี 2021 ดังนี้

 1.วัคซีนจะมาช้ากว่าคาด แต่ยารักษา COVID และเครื่องตรวจจะเป็นความหวัง และผู้คนจะชินกับ “New Normal”

 

 แม้วัคซีนจะเป็นความหวังของชาวโลก และเริ่มอนุมัติให้ฉีดได้ตั้งแต่ปลายปี 2020 ในบางราย แต่การอนุมัติวัคซีนหลายรายจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น Astra Zenica อาจได้รับการอนุมัติในไตรมาสแรกของปีหน้าแทนที่จะภายในปีนี้ ทำให้การฉีดให้กับประชาชนล่าช้า โดยผู้เขียนคาดการณ์ว่า วัคซีนทั่วโลกจะฉีดได้เพียง 2.4 ล้านโดสในครึ่งปีแรก และ 4 ล้านโดสในครึ่งปีหลัง ทำให้พลโลกได้รับการฉีดประมาณ 2.4 พันล้านคนในปี 2021 หรือประมาณ 30% ของประชากรโลกที่ 7.7 พันล้านคน ซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศยังค่อนข้างยาก และทำให้เหตุการณ์สำคัญอย่างโอลิมปิคในญี่ปุ่นที่เลื่อนมาจากปี 2020 ยังไม่สามารถเปิดได้ ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวเต็มที่

 

แต่ความหวังเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ยารักษา COVID โดยเฉพาะ Dexamethasone ซึ่งเป็น Steriod และ Remdesevir ที่เคยเป็นยารักษา Ebola จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยที่ติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนั้น เครื่องมือทดสอบที่ง่ายขึ้น สามารถทดสอบได้ด้วยตนเอง รวมถึงการทำ Social distancing อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้คนใช้ชีวิตได้มากขึ้น แต่การพบปะเป็นกลุ่มใหญ่ รวมถึงการเดินทางระหว่างประเทศจะยังถูกคุมเข้มโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก

 2.เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ “หลุม” แบบ “ช้อน” แบบ “ตัว K” โดยเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปถ้าวัคซีนได้รับอนุมัติ แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนจะไม่ฟื้นกลับมาได้ในทันที เนื่องจากวัคซีนต้องได้รับการอนุมัติและการแจกจ่ายทั่วโลกต้องใช้เวลา ทำให้การฟื้นตัวในแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับ

(1) จำนวนผู้ติดเชื้อและการได้รับวัคซีน ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับต่ำ จะฟื้นตัวดีกว่า

(2) การพึ่งพิงภาคท่องเที่ยวและบริการ ประเทศที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวและบริการสูงจะฟื้นตัวช้ากว่า

(3) ภาคเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ โดยหากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ จะอ่อนแอ/ ฟื้นตัวช้ากว่า

 

 ภาพดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตได้ดีที่สุดในปี 2021 ได้แก่ จีน ที่จะเติบโตในระดับ 6-7% และการฟื้นตัวจะเป็นแบบเครื่องหมายไนกี้ รองลงมาได้แก่สหรัฐ (ประมาณ 3-4%) ที่ฟื้นตัวขึ้นจากฐานต่ำและวัคซีน แต่การเมืองจะเป็นตัวฉุดรั้ง ทำให้การฟื้นตัวเป็นรูปแบบช้อน (คือเป็นหลุมก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น) ขณะที่เศรษฐกิจไทย (3-4%) ยูโรโซน (2-3%) และญี่ปุ่น (1-2%) จะฟื้นตัวต่ำกว่าจากการพึ่งพิงความต้องการจากต่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่สูงกว่า และทำให้การฟื้นตัวเป็นรูปแบบแอ่ง รวมถึงระดับการฟื้นตัวไม่เท่ากัน (เป็นรูป K-shape) โดยภาคเกษตรและอุตสาหกรรมฟื้นตัวดีขึ้นกว่าภาคบริการ (ดูรูปที่ 1)

160745184979

 รูปแบบการฟื้นตัวของ 5 เขตเศรษฐกิจสำคัญ (จีน สหรัฐ ไทย ยูโรโซน และญี่ปุ่น)

ที่มา: SCBS, ผู้เขียน

3.สงครามเย็นภาคสอง: จาก Superman เป็น Avenger

ในยุคของทรัมพ์ สหรัฐประกาศสงครามเย็นกับจีนผ่านการรบ 4 สมรภูมิ คือ การค้า เทคโนโลยี การลงทุน และด้านความมั่นคง โดยเน้นทำสงครามแบบ "ฉายเดี่ยว" แบบ Superman เช่น ขึ้นภาษีนำเข้ากับจีน และแบนบริษัทเทคฯ จีน เป็นต้น 

แต่ในยุคไบเดน สงครามเย็นจะไม่หายไป แต่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการรบแบบ "รวมพล" เหมือน Avenger มากขึ้น โดยในส่วนการค้า จีนเดินแต้มก่อนหลังจากได้เข้าร่วมสนธิสัญญาการค้า RCEP ขณะที่รัฐบาลไบเดนจะเริ่มเดินเกมในเอเชียมากขึ้นผ่านความร่วมมือกับอาเซียน TPP รวมถึง APEC รวมถึงบีบให้จีนต้องยอมทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน เช่น มาตรฐานสินค้า การคุ้มครองแรงงาน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการลดทอนอิทธิพลและขนาดของรัฐวิสาหกิจในเศรษฐกิจ แลกกับการลดภาษีนำเข้าที่เคยขึ้นในสมัยของทรัมพ์

 

ในส่วนสมรภูมิเทคโนโลยี จะเข้มข้นขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนพัฒนาด้านเทคโนโลยีมาก โดยให้เงินอุดหนุนกับบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่เผยแผ่อิทธิพลด้านเทคโนโลยีของตนให้กับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ไบเดนมีแนวโน้มที่จะทำนโยบายสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐและพันธมิตรมากขึ้น เช่น ผ่อนคลายกฎหมายต่อต้านการผูกขาด เพื่อให้บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ยุโรป และเอเชียได้เติบโตขึ้น รวมถึงทำความร่วมมือกับด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตร และลดนโยบายเชิงลบระหว่างกันเอง เช่น การเก็บภาษี Digital tax ของยุโรป เป็นต้น

 

กล่าวโดยสรุป สงครามเย็นในยุคต่อไปจะเป็นการหาพันธมิตรเพื่อกดดันอีกฝ่ายมากขึ้น ซึ่งประเทศในเอเชียจะเนื้อหอม ทั้งจีนและสหรัฐจะพยายามชักจูงเข้าเป็นพวก นอกจากนั้นทั้งคู่ยังจะใช้นโยบายพึ่งพาตนเอง โดยลดการพึ่งพิง Supply chain จากต่างชาติให้น้อยที่สุดผ่านแนวนโยบาย Dual circulation ของจีน และ Made in all of America มากขึ้น

 

วัคซีนจะมาช้า เศรษฐกิจฟื้นแบบหลุม และสงครามเย็นแบบ Avenger รวมพล คือ 3 คำทำนายแรกในปี 2021 ส่วนอีก 2 คืออะไรนั้น โปรดติดตาม