แซนด์บ็อกซ์ สตาร์ทอัพ และระบบนิเวศดิจิทัล

แซนด์บ็อกซ์ สตาร์ทอัพ และระบบนิเวศดิจิทัล

 สตาร์ทอัพ (Start-Up) ซีรีย์เกาหลีที่กำลังได้รับความนิยมสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจุดเด่นของเนื้อหาที่เน้นเล่าเรื่องของกลุ่มคนหนุ่มสาว

    กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ใฝ่ฝันจะสร้างธุรกิจใหม่ของตนเอง โดยอาศัยการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับทักษะการเขียนโค้ดสร้างโปรแกรมทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมา เพื่อแข่งขันกันสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะสามารถตอบโจทย์เชิงธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมเกาหลีและประชากรทั่วโลก

ผลผลิตเหล่านี้บางส่วนก็ออกมาในรูปแบบของบริการแบบ Over the top services (OTT) เพื่อเผยแพร่ให้บริการในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยที่ความสำเร็จของกลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะว่า ได้รับการผลักดันช่วยเหลือมาจากหน่วยงานเอกชนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือน แซนด์บ็อกซ์ ที่มีพี่เลี้ยงคอยแนะนำและขับเคี่ยวคนเหล่านี้ให้สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่มีประโยชน์และมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ โดยมีเดิมพันคือโอกาสในการได้รับการสนับสนุนด้านเงินร่วมทุนในเบื้องต้น  

ส่วนในชีวิตจริงนั้น บริการแบบ OTT คือการให้บริการด้านเนื้อหาสาระ (content) ในระบบเครือข่ายอิสระที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ดังนั้นผู้ใช้บริการ OTT จึงต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ (เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ สมาร์ททีวี เป็นต้น) และความสามารถในการเข้าถึงบริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ บริการ OTT ถือเป็นบริการในระบบนิเวศดิจิทัลสมัยใหม่ (New digital ecosystem) ซึ่งมีโครงสร้างหลักที่ประกอบด้วย

(ก) เจ้าของแฟลตฟอร์มที่ให้บริการ OTT ซึ่งอาจมีสำนักงานที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศหรือไม่ก็ได้

(ข) ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ Internet Service Providers (ISPs) ที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการ OTT กับลูกค้าผู้ใช้บริการ

(ค) ลูกค้าผู้ใช้บริการที่เป็นคนทั่วไปหรือบริษัทเอกชน

และ (ง) อุตสาหกรรมผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารดิจิทัลในหลากหลายรูปแบบเป็นต้น

ทั้งนี้ธุรกิจบริการ OTT อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

(1) ผู้ให้บริการ OTT ที่ขายบริการให้กับผู้ใช้บริการโดยตรงโดยมีการเก็บเงินค่าใช้บริการด้วย โดยการเก็บค่าบริการอาจทำได้โดยผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (ISPs) อีกต่อหนึ่งก็ได้ ตัวอย่างของบริการประเภทนี้ได้แก่ บริการแบบ Cloud และ Skype เป็นต้น

(2) ผู้ให้บริการ OTT ประเภทให้ใช้ฟรี โดยผู้ให้บริการได้รายได้จากค่าโฆษณาที่รับเข้ามา ตัวอย่างของบริการประเภทนี้ได้แก่ Facebook, Google และ YouTube เป็นต้น

(3) ผู้ให้บริการ OTT ประเภทที่ให้บริการเชื่อมโยงสาระเนื้อหา (content) และ/หรือผลงานนวัตกรรมของนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้ไปถึงผู้ใช้บริการรายย่อย สตาร์ทอัพ และธุรกิจทั่วไป ตัวอย่างเช่น บริการของ Apple iTunes และ Amazon เป็นต้น

ในปัจจุบัน บริการแบบ OTT จึงมีศักยภาพสูงทั้งในแง่ของการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ หรือสตาร์ทอัพ และเป็นทางเลือกในการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปถึงผู้คนทั่วโลกด้วย ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อมในการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารการจ้างงาน การศึกษา แฟลตฟอร์มการค้า และบริการด้านบันเทิง ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการ OTT ในระดับโลกบางรายที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการจำนวนมาก จึงอาจมีอำนาจต่อรองในเชิงตลาดที่เหนือกว่าผู้ให้บริการ ISPs ภายในประเทศอยู่ค่อนข้างมาก (อ้างอิงจาก Panel Discussion Position Paper Regulation OTTs Final PS.pdf ของ ITU)

บทบาทของภาครัฐเองในบางเรื่องก็อาจมีผลเสมือน “แซนด์บ๊อกซ์ที่คอยช่วยสนับสนุนเหล่าสตาร์ทอัพให้อยู่รอดได้เช่นกัน แต่ในทางตรงกันข้าม นโยบายบางนโยบายของรัฐเองที่อาจมุ่งแต่ผลประโยชน์ในระยะสั้นมากเกินไป ก็อาจเป็นเสมือน กำแพงปราการที่คอยขัดขวางความสำเร็จของเหล่าสตาร์ทอัพได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐต้องการจะจัดเก็บภาษีจากรายได้โฆษณาของผู้ให้บริการ OTT (เช่น Facebook, YouTube หรือบริษัทพัฒนาแอบพลิเคชั่นด้านนวัตกรรมใหม่) เพื่อที่ภาครัฐจะได้มีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น โดยที่ภาครัฐอาจเลือกใช้วิธีทางอ้อมด้วยการหันไปบวกเพิ่มในราคาค่าใช้บริการ ISPs ให้สูงขึ้นแตกต่างกันไปตามประเภทของผู้ใช้บริการของ ISPs ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้ก็อาจทำให้ภาครัฐต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ที่เรียกว่าปัญหา “two-side platforms” ได้เช่นกัน

กล่าวคือ วิธีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบข้ามไปถึงอุปสงค์ต่อบริการ ISPs ในกลุ่มประชาชนทั่วไปให้ต้องปรับลดไปด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่าประชาชนเหล่านี้ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการในอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่ให้บริการ OTT (เช่น Facebook หรือ YouTube) อยู่ด้วยเช่นกัน คนเหล่านี้ก็เลยพากันใช้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของ ISPs ลดลงตามไปด้วยถ้าหากว่าบริการแบบ OTT ของ Facebook และ YouTube ถูกทำให้มีคุณภาพลดลง (เฉพาะในหมู่ผู้ใช้บริการ OTT ในประเทศนี้เท่านั้น เป็นต้น) เพื่อแก้ลำภาครัฐโดยการอัดเพิ่มโฆษณาแทรกเพิ่มเข้ามาชดเชยกับรายได้ที่ต้องเสียให้กับมาตรการเพิ่มภาษีของรัฐ

ซึ่งการอัดโฆษณาแทรกเข้าไปมากเกินไปนี้ ก็จะทำให้ผู้ใช้บริการแบบ OTT (เช่น Facebook) ในประเทศนี้ต้องเสียเวลาไปกับโฆษณาที่หลีกเลี่ยงได้ยากขึ้นนั่นเอง จนในที่สุดพวกเขาก็อาจใช้งานในแพลตฟอร์มของระบบ ISPs น้อยลงไปด้วย กลายเป็นว่ารัฐเองก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจาก Facebook หรือ YouTube ได้มากขึ้นตามที่ต้องการ แต่กลับซ้ำร้ายมีผลเสียไปถึงเหล่าสตาร์ทอัพที่ไม่สามารถจะเข้าถึงบริการ OTT ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับที่ให้บริการในประเทศอื่น ทำให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ขาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และโอกาสในการนำเสนอผลงานนวัตกรรมใหม่ของพวกเขาสู่สายตาตลาดโลกในระดับที่ทัดเทียมกับประเทศอื่น

ในทางกลับกัน หากภาครัฐส่งเสริมให้เหล่าผู้ให้บริการ OTT ได้มีการแข่งขันให้บริการที่ดีและเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมในประเทศได้มากขึ้น ก็น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ในประเทศ ให้พัฒนาก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในระบบนิเวศดิจิทัลสมัยใหม่และอยู่รอดได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมต่อไปในระยะยาว  

*บทความโดย ศ.ดร. อารยะ  ปรีชาเมตตา,กนิษฐา หลิน