เศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ยาก หาก ‘กิโยตินกฎหมาย’

เศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ยาก หาก ‘กิโยตินกฎหมาย’

ประเทศไทยคุมสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ได้ดี แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากวิกฤตนี้ยังไม่ดีขึ้น แม้รัฐบาลได้ออกหลายมาตรการเพื่อเยียวยา

มาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจมีทั้ง (1) นโยบายการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ (2) นโยบายการคลัง ช่วยเรื่องการลดหย่อนภาษีและกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” “การจ้างงาน 4 หมื่นตำแหน่ง” เป็นต้น แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร และจะชะลอลงเมื่อโครงการเหล่านี้สิ้นสุดลง ประกอบกับกระสุนของรัฐบาลที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกไม่นานจะหมดไป เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ย นโยบายการเงินที่ใช้อยู่เป็นอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำแล้ว ส่วนการดำเนินนโยบายการคลัง ก็ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษี ในขณะที่ต้องใช้เงินอัดฉีดเข้าระบบเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าระบบแล้ว 1.9 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นการกู้ถึง 1 ล้านล้านบาท หากเงินจำนวนดังกล่าวหมดไปรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มได้ยากขึ้น เพราะติดเพดานหนี้สาธารณะ รัฐบาลจึงต้องหาเครื่องมืออื่นมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

 

รัฐบาลควรทำอย่างไร?

 จากปัญหาเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องเกินกว่า 10 ปี ของประเทศญี่ปุ่น ช่วงปี 2012 รัฐบาลของนายชินโซะ อาเบะ ได้ประกาศใช้นโยบายลูกธนูสามดอกหรือที่เรียกว่า Abenomics  ธนูดอกแรกคือนโยบายการเงิน  และลูกธนูดอกที่สองคือนโยบายการคลัง แต่การดำเนินนโยบายทั้งสองด้านมีข้อจำกัด เช่น เกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อหากใช้นโยบายการเงินมากไป หรือปัญหาติดเพดานหนี้สาธารณะกรณีใช้นโยบายการคลังมากเกินไป อาเบะจึงใช้ธนูดอกสุดท้ายคือนโยบายโละและปรับปรุงกฎระเบียบ หรือ กิโยตินกฎหมาย (Regulatory Guillotine) ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคเอกชน  ใช้ขนานไปกับธนูสองดอกแรก ธนูดอกสุดท้ายนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเน้นแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับแรงงาน อำนวยความสะดวกการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนของอุตสาหกรรมภายในประเทศด้านการสาธารณสุข และด้านการเกษตร

 สำหรับประเทศไทย ภาคธุรกิจและภาคประชาชนก็ติดปัญหารับภาระต้นทุนต่อปีสูงมาก จากการปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาครัฐเช่นกัน

 ทีดีอาร์ไอได้ทำการศึกษาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตเพื่อปรับปรุง ปรับลดกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัย พบว่า ในจำนวนกฎหมายที่ศึกษาทั้งสิ้นมี 1,094 กระบวนงาน มีจำนวน 1,026 กระบวนงาน (ร้อยละ 85)  เกิดจากกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น หรือล้าสมัย ซึ่งหากภาครัฐยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวตามข้อเสนอจากผลการศึกษา จะช่วยให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจประหยัดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ถึง 133,816 ล้านบาทต่อปีหรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP เท่ากับช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้

 การพิจารณากฎระเบียบที่ไม่จำเป็นและล้าสมัย ทีมผู้ศึกษาวิจัยพิจารณาจากการคำนวณภาระต้นทุน เมื่อธุรกิจหรือประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ผ่านชุดคำถาม หรือ Checklist ซึ่งพัฒนาโดยองค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) วิธีดังกล่าวครอบคลุมการวิเคราะห์ใน 3 มิติ คือ (1) ความชอบด้วยกฎหมาย เช่น กฎหมายมีฐานอำนาจถูกต้องหรือไม่ (2) ความสอดคล้องเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น กฎหมายที่ใช้อยู่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจหรือไม่ ล้าสมัยหรือไม่ และ (3) ความเหมาะสมในทางปฏิบัติ เช่น บทลงโทษได้สัดส่วนหรือไม่ อัตราค่าธรรมเนียมได้สัดส่วนหรือไม่

 จุดเด่นของวิธีการนี้คือ กระบวนการทบทวนเป็นระบบ มีขั้นตอนการวิเคราะห์ที่ชัดเจน และผู้ทบทวนใช้ชุดคำถามเดียวกันในการวิเคราะห์กฎหมายทั้งหมดที่ศึกษา ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ตามแนวทางนี้ทำให้ทราบว่ากฎระเบียบเรื่องใดควรยกเลิกหรือควรปรับปรุงอย่างไรเพื่อลดภาระให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ยังสามารถประเมินได้อีกด้วยว่าหากภาครัฐทำตามข้อเสนอแนะแล้วจะประหยัดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของประชาชนได้เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่  ซึ่งประเมินได้จากส่วนต่างของต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายก่อนการปรับปรุงกฎหมายตามข้อเสนอแนะเทียบกับต้นทุนหลังการปรับปรุงกฎหมายตามข้อเสนอแนะ

 

ธนูดอกที่สามควรเล็งเป้าไปที่ไหนถึงได้ผล?

สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากการใช้มาตรการการเงิน การคลัง ควรเริ่มฟื้นเศรษฐกิจด้วยการปรับปรุงกฎหมาย ตามข้อเสนอส่วนหนึ่งจากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอได้เสนอแบ่งการปรับปรุงกฎหมายเป็น 3 ระยะ เล็งไปที่ 3 เป้าหมาย ดังนี้

  • ระยะสั้น เป้าหมายคือ เร่งแก้ปัญหากลุ่มเปราะบาง ได้แก่ การจ้างงานคนพิการ การขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหา และการจ้างงานพนักงานรักษาความปลอดภัย
  • ระยะกลาง เป้าหมายคือ ช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้ฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ การฟื้นฟูกิจการและธุรกิจรักษาความปลอดภัย
  • ระยะยาว เป้าหมายคือ เตรียมความพร้อมเปิดประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แก่ ธุรกิจสปา เกสต์เฮ้าส์ และการผลิตคราฟท์เบียร์

 แต่รัฐบาลจะยิงธนูดอกที่สาม (ปรับปรุงกฎหมาย) อย่างไร จึงสำเร็จตรงเป้าทั้ง 3 ระยะ ผู้เขียนขอเสนอในบทความวาระทีดีอาร์ไอในครั้งหน้า

*บทความโดย ภูมิจิต ศรีอุดมขจร  และเทียนสว่าง ธรรมวณิช