ผูกขาดตลาด VS. อำนาจเหนือตลาด...เหมือนหรือต่าง?

ผูกขาดตลาด VS. อำนาจเหนือตลาด...เหมือนหรือต่าง?

นิยาม ตลาดผูกขาด (Monopoly) หรือการผูกขาดตลาด ในทางเศรษฐศาสตร์คือ ตลาดที่มีผู้ผลิต/ผู้ขายรายเดียว ซึ่งจะถูกเรียกว่า ผู้ผูกขาด (Monopolist)

ในขณะที่นิยามการผูกขาด ตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งผลการรวมธุรกิจ พ.. 2561 ระบุว่า การผูกขาด หมายความว่า การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้า หรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดขายตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป

               ในขณะที่ประกาศ กขค. เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมี “อำนาจเหนือตลาด” มีใจความโดยรวมที่ระบุถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ไว้ 2 กรณี กล่าวคือ หนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าหรือบริการตลาดใดตลาดหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป และสอง ผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรกในตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป โดยจะต้องมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

กล่าวถึงการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ซีพีฯ) และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (เทสโก้ฯ) ที่ได้รับการวิพากษ์อย่างกว้างขวางในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการผูกขาดตลาด และการมีอำนาจเหนือตลาด

การควบรวมธุรกิจระหว่าง ซีพีฯ และเทสโก้ฯ ก่อให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้น...จริงหรือ??!!??

               จากนิยามการผูกขาดข้างต้น สามารถตอบคำถามแรกได้อย่างชัดเจนว่า การควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดตลาด โดยยืนยันจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง ซีพีฯ และเทสโก้ฯ ซึ่งได้แบ่งโครงสร้างตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ออกเป็น 3 ประเภทคือ หนึ่ง ประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) สอง ประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) และสาม ประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ผู้ประกอบธุรกิจในประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต  เช่น เทสโก้-โลตัส บิ๊กซีซูเปอร์มาเก็ต ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ ฯลฯ ผู้ประกอบธุรกิจในประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ท็อปส์มาร์เก็ต ตลาดโลตัส วิลล่ามาร์เก็ต ฯลฯ และผู้ประกอบธุรกิจในประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น เทสโก้-โลตัสเอ็กเพลซ แฟมิลี่มาร์ท มินิบิ๊กซี ฯลฯ จะเห็นได้ว่า การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดผู้ผลิตเพียงรายเดียวในตลาดแต่ละประเภท

               คำถามที่สอง การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ขอควบรวมธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ แสดงให้เห็นว่า ในปี พ.ศ. 2562 ตลาดประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้-โลตัส มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 47 ในขณะที่บิ๊กซีซูเปอร์มาเก็ตมีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 40 อันดับ 3 คือ ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ มีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 2 นั่นหมายความว่า ตลาดประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ทั้งเทสโก้ฯ และบิ๊กซีฯ ถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ในขณะที่ท็อปส์ฯ ไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ถึงร้อยละ 10  ตลาดประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต ท็อปส์มาร์เก็ต ถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือประมาณร้อยละ 27 ตลาดโลตัสมีส่วนแบ่งตลาดรองลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 และอันดับสามคือ วิลล่ามาร์เก็ต มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 5 จึงกล่าวได้ว่า ในตลาดประเภทนี้ไม่มีผู้ประกอบธุรกิจรายใดถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดรวมกันทั้ง สามรายแรกของผู้ประกอบธุรกิจไม่ถึงร้อยละ 75 ตลาดประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เซเว่น-อีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ประมาณร้อยละ 75 อันดับสอง คือ เทสโก้ฯ เอ็กเพลซ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 10 จึงกล่าวได้ว่า เซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการควบรวมธุรกิจ และมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 หลังการควบรวมธุรกิจ

             ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) มุ่งเน้นประชาสัมพันธ์เพื่อให้สังคมได้เข้าใจอย่างถูกต้องคือ ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ไม่ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ. ศ. 2560 หากแต่จะมีความผิดก็ต่อเมื่อ ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด มีพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม

              ในส่วนของรายละเอียดที่เป็นเหตุผลของ กขค. ที่ตัดสินในคดีการควบรวมธุรกิจระหว่างซีพีฯ และเทสโก้ฯ จะปรากฏในผลคำวินิจฉัย ซึ่งต้องเปิดเผยสู่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับสาธารณะชนในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 ควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ถูกต้อง รวมถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อมิให้สาธารณะชนเข้าใจผิดและละเลยที่จะใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 และ สขค.