ฤาคือแสงแห่งหัวรถจักร

ฤาคือแสงแห่งหัวรถจักร

และแล้ว หลังจากปีแห่งอาถรรพ์ได้เข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย ก็ได้เกิด 2 ข่าวที่เป็นดั่งแสงสว่างแห่งปลายอุโมงค์ที่ให้ความหวังแก่มวลมนุษย์ชาติ

อันได้แก่ ความหวังจากว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ และข่าวดีวัคซีนที่จะยุติการแพร่ระบาดของโรคร้าย

ข่าวทั้งสองนำไปสู่ความรู้สึกสบายใจสุดขีด (Euphoria) ให้กับนักลงทุน หนุนให้ดัชนีหุ้นในหลายตลาดกลับไปสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยอย่างมหาศาลในช่วงเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามเรายังกังวลว่า แสงตรงหน้านั้นอาจไม่ใช่แสงจากฟ้าปลายฝนที่สดใส แต่อาจเป็นแสงไฟหน้าหัวจักรรถไฟที่กำลังวิ่งเข้ามาเสียมากกว่า

โดยในส่วนของประธานาธิบดีสหรัฐ แม้ว่า โจ ไบเดน จะมีคะแนนผู้เลือกตั้ง (Electoral College) มากกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ค่อนข้างขาด ซึ่งจะทำให้ความพยายามของทรัมป์ที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะไม่น่าจะสัมฤทธิ์ผล รวมถึงท่าทีของไบเดนที่ดูเป็นสุภาพบุรุษ มีความรอมชอม น่าจะทำให้การบริหารราชการคล่องตัวกว่าทรัมป์ที่ก้าวร้าว

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่พรรค Democrat ของไบเดนชนะไม่ขาด โดยไม่สามารถครองเสียงข้างมากทั้งสองสภาได้ จะทำให้การบริหารราชการยุ่งยากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นที่ต้องขอมติจากรัฐสภา เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การทำงบประมาณ การปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ และการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

ในส่วนของการค้นพบวัคซีนของ Pfizer Inc. และ BioNTech และของ Moderna ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค COVID-19 ถึงกว่า 95% รวมถึงวัคซีนของบริษัทอื่น ๆ เช่น ของ AstraZeneca ที่มีข่าวว่าใช้ได้ผลดีกับผู้สูงอายุนั้น จะทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติเร็วขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและสันทนาการ

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังดังกล่าวยังเสี่ยงสูง เนื่องจากวัคซีนยังต้องผ่านการพิสูจน์จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกก่อน นอกจากนั้น ด้วยอัตราการผลิตปัจจุบันทำให้คาดว่าวัคซีนของ Pfizer Inc. และ BioNTech จะสามารถฉีดให้คนได้เพียง 25 ล้านคนในปีนี้และ 650 ล้านคนในปีหน้า ยิ่งไปกว่านั้น วัคซีนของบางบริษัทต้องเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ทำให้ยากต่อการขนส่ง ประเด็นต่าง ๆ จะทำให้การแจกจ่ายวัคซีนแก่ประชาชนทั่วโลก (โดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้ว) เป็นวงกว้างทำได้อย่างเร็วประมาณครึ่งหลังของปี 2021 และประเทศกำลังพัฒนาอย่างกว้างขวางในปี 2022

 แม้ว่าข่าววัคซีนจะเป็นปัจจัยบวก แต่วัคซีนจะยังมาไม่ถึงจริง แต่สิ่งที่เป็นจริง ณ ปัจจุบัน คือจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีมากขึ้นทั่วโลก โดยจำนวนผู้ป่วยใหม่เฉลี่ยต่อวันอยู่ในระดับ 5-6 แสนราย ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางการในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป และหลายมลรัฐในสหรัฐ เริ่มปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศพัฒนาแล้วเริ่มชะลอลง เช่น ยอดค้าปลีกและการขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ รวมถึงตัวเลขภาคบริการยุโรป

เรามองว่า ปัจจัยเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2021 ชะลอลง และมีส่วนกดดันทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้าด้วยเช่นกัน

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 จะหดตัวเพียง -6.4% จากไตรมาส 2 ที่หดตัว -12.1% แต่เราเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 1 ปี 2021 จะยังคงติดลบ ก่อนจะฟื้นขึ้นในไตรมาส 2 เนื่องจากเราเชื่อว่าการปิดเมืองมากขึ้นในต่างประเทศตามภาวะการแพร่ระบาดระลอก 2-3 ประกอบกับวัคซีนที่ยังต้องใช้เวลาอนุมัติ และแจกจ่ายในประเทศเจริญแล้วก่อนที่จะมายังประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจใน 2 ไตรมาสหน้ายังหดตัว แต่จะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป โดยเราเชื่อว่า การบริโภคเอกชนในประเทศจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะดึงเศรษฐกิจไทยขึ้น ผลจาก (1) เศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว (2) มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐ และ (3) รายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2021 นั้นจะถูกกดดันด้วยปัจจัย 3 ประการ คือ

(1) ภาวะ COVID ที่ลากยาว และการแจกจ่ายวัคซีนมาถึงไทยที่ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้เศรษฐกิจที่พึ่งพิงต่างประเทศ เช่น การท่องเที่ยวและการส่งออกนั้น ยังถูกกดดัน ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ เช่น การบริโภคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ จะฟื้นตัวได้บ้างตามมาตรการการคลัง

(2) ภาคบริการจะยังถูกกดดันจากการท่องเที่ยวและความกังวลของผู้บริโภค (Consumer risk-averse) ทำให้จะยังหดตัวหรือเติบโตต่ำ ขณะที่ภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง จากภาวะ La Nina ที่ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรออกมาดี

(3) นโยบายการคลังจะเห็นการอัดฉีดที่เพิ่มขึ้น ที่จะกระตุ้นอารมณ์การบริโภคต่อเนื่องได้บ้าง ขณะที่นโยบายการเงินจะหันมาเป็นกองหลังเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กังวลผลข้างเคียงจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ

 ด้วยภาพเช่นนี้ เราจึงยังคงยืนมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2021 ที่จะเป็นปีแห่ง 4-3-2-1 โดย

4% คือระดับการเติบโตของการบริโภค

3% คือการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP)

2% คือการฟื้นตัวของการลงทุนเอกชนและปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ และ

1% คือภาวะเงินเฟ้อที่อาจฟื้นตัวได้ในระดับ 0.6-0.7% ขณะที่ความต้องการนำเข้ายังอยู่ระดับต่ำจากการลงทุนเอกชนที่อ่อนแอ ทำให้บาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง แม้รายได้จากนักท่องเที่ยวจะหายไปก็ตาม

 เมื่อพิจารณาถึงภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกและของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้จะเห็นได้ว่าภูมิทัศน์ดังกล่าวไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า กระแสข่าวดีต่าง ๆ จะทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะยังไปได้ต่อเนื่องจนถึง 1Q2021 แม้จะมีปัจจัยลบจากประเด็น COVID ระลอกสองที่กดดันเศรษฐกิจมาเป็นระยะก็ตาม อย่างไรก็ตาม หลัง 1Q 2021 ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาจเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการลงทุนมากขึ้น กดดันการลงทุนในระยะต่อไป

แม้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะสดใส แต่ก็อาจเป็นไฟหน้าหัวรถจักรก็เป็นได้ นักลงทุนทั้งหลาย โปรดระมัดระวัง