โลกสองใบของไบเดน

โลกสองใบของไบเดน

เกือบจะแน่นอนแล้วว่า หลังวันที่ 22 ม.ค. โลกจะมีผู้นำโลกเสรีคนใหม่ อันได้แก่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ดูเป็นสุภาพบุรุษ อบอุ่น รอมชอม

 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน น่าจะทำให้การบริหารราชการคล่องตัวกว่าประธานาธิบดีทรัมพ์ที่ก้าวร้าว ทำให้สงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจของโลกก็น่าจะบรรเทาและยุติลงได้ในที่สุด แต่คำถามคือ ในความเป็นจริงสถานการณ์จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เพราะสภาพแวดล้อมเบื้องต้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยการที่พรรค Democrat ของไบเดนชนะไม่ขาด โดยไม่สามารถครองเสียงข้างมากทั้งสองสภาได้ จะทำให้การบริหารราชการยุ่งยากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นที่ต้องขอมติจากรัฐสภา เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การทำงบประมาณ การปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ และการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

 ฉะนั้น สิ่งที่ประธานาธิบดีท่านใหม่จะต้องทำ คือประสานความร่วมมือระหว่างสองพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ของไบเดน ที่เป็นวุฒิสมาชิกที่เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศอย่างยาวนาน ก็อาจกล่าวได้ว่า ความหวังที่จะเห็นไบเดนเป็นผู้ประสานรอยร้าวทางการเมือง ทั้งในสหรัฐและโลก ก็ไม่ใช่ความหวังที่เลือนลอยเกินไป

 ผู้เขียนมองว่า ใน 100 วันข้างหน้า จะเป็นระยะเวลาที่ตัดสินว่า ภาพของเศรษฐกิจการเมือง ทั้งในสหรัฐและระดับโลกจะเป็นอย่างไร โดยหากไบเดน และคณะรัฐมนตรีที่มีความเป็นมืออาชีพ สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมถึงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า พร้อม ๆ กับการมาของวัคซีน ที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดแล้ว ทำให้เศรษฐกิจก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น

 แต่ประเด็นที่ผู้เขียนมองว่า จะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จของไบเดนในระยะยาว ได้แก่ประเด็นด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามเย็นกับจีนในสองสมรภูมิหลัก อันได้แก่ด้านสมรภูมิการค้า และสมรภูมิเทคโนโลยี 

 1.ด้านการค้า เป็นที่แน่นอนว่า หลังจากไบเดนเข้ารับตำแหน่ง คงไม่มีการต่อสนธิสัญญาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐในรูปแบบเดิม ที่ใช้การที่สหรัฐไม่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนแลกกับการที่จีนนำเข้าสินค้าสหรัฐมากขึ้น แต่น่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยจีนอาจต้องยอมทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน เช่น มาตรฐานสินค้า การคุมครองแรงงาน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการลดทอนอิทธิพลและขนาดของรัฐวิสาหกิจในเศรษฐกิจ แลกกับการลดภาษีนำเข้าที่เคยขึ้นในสมัยของทรัมพ์ นอกจากนั้นไบเดนน่าจะใช้การผลักดันผ่านองค์กรและความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้ง WTO, CPTPP รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศด้านอื่น ๆ เพื่อกดดันให้จีนยอมทำตามกติกาสากล

 

แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงหลัง จีนก้าวหน้าด้านการค้าขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะการเข้าร่วมข้อตกลงพันธมิตรการค้าภูมิภาค (RCEP) ที่จะทำให้จีนสามารถบุกตลาดเอเชียมากขึ้น หลังจากที่สามารถบุกตลาดอาเซียนผ่านกรอบ ASEAN-China FTA จนทำให้การส่งออกของจีนไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นจากเดือนละประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในปี 2015 เป็นประมาณเดือนละ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ขณะที่ทำให้การค้าระหว่างอาเซียนด้วยกันเอง (Intra-Asian Trade) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากนั้น สัญญาณล่าสุดของจีนด้านการค้ายังเป็นความเสี่ยงต่อโลกอีกด้วย กล่าวคือ จีนจะเน้นปรัชญา Dual circulation หรือการเน้นส่งออก และบริโภคในประเทศ และลดการนำเข้าลง โดยผลิตในประเทศให้ได้มากที่สุด และล่าสุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังแสดงความสนใจจะเข้าร่วมข้อตกลง TPP ที่สหรัฐออกไปอีกด้วย

 

ดังนั้น หากไบเดนสามารถผลักดันให้สหรัฐกลับเข้าไปร่วมในข้อตกลง TPP ได้ และ/หรือสามารถผลักดันผ่านข้อตกลงความร่วมมือเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกหรือ APEC ที่ทั้งสหรัฐและจีน (และไทย) เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ให้ก้าวเข้าสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจเสรีได้ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐและต่อโลก

 2.ด้านเทคโนโลยี เป็นสมรภูมิที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเทคโนโลยีจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ทำให้รัฐบาลทรัมพ์พยายามบีบจีนหลายประการ เช่น การคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Huawei, ZTE, Bytedance (เจ้าของ Tiktok) และ SMIC ในขณะที่จีนก็จำกัดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยี เช่น semiconductors อุปกรณ์ 5G รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ AI และ quantum computing ไปยังสหรัฐเช่นกัน

 ดังที่ทราบกันดี ในปัจจุบันนโยบายของจีนด้านเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก โดยให้เงินอุดหนุนและสนับสนุนการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการจีน และด้วยตลาดที่ใหญ่ มีแรงงานที่เฉลียวฉลาดจำนวนมาก และมีฐานข้อมูลมหาศาลที่จะทำให้ AI ของตนได้พัฒนา การที่เทคโนโลยีของจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งจึงเป็นไปได้สูง

 ทางแก้ของไบเดนคือ ต้องลดนโยบายที่จะฉุดรั้งการเจริญเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐและพันธมิตร เช่น กฎหมายต่อต้านการผูกขาด เพื่อให้บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ยุโรป และเกาหลีใต้ เช่น Alphabet Apple Microsoft Amazon Facebook Samsung SAP และ Spotify ได้เติบโตขึ้น รวมถึงทำความร่วมมือกับด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตร ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิจัยพัฒนา วางกลยุทธร่วมกัน และลดมุมมองเชิงลบระหว่างกันเอง เช่น การเก็บภาษี Digital tax ของยุโรป เป็นต้น

 กลยุทธเช่นนี้ จะทำให้เทคโนโลยีของสหรัฐและพันธมิตรแข็งแกร่งขึ้น และสภาวะแวดล้อม (Ecosystem) ที่เหมาะสมให้กับผู้ประกอบการของประเทศต่าง ๆ ได้เข้าถึงและพัฒนาบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ และเป็นการบีบจีนทางอ้อมให้จีนต้องกลับมาเล่นในเกมนี้ และลดโอกาสที่จะเกิดการแบ่งแยกเทคโนโลยีโลกเป็นสองขั้ว (Splinternet) ได้

 กล่าวโดยสรุปคือ หลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแล้ว โลกในยุคประธานาธิบดีไบเดนจะมีสองใบ ใบหนึ่งคือการที่ไบเดนเป็นนักบริหารที่เก่งกาจ และมีมือประสาน 10 ทิศ ทำให้กิจการในประเทศผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ขณะเดียวกันก็สามารถผลักดันให้จีนเข้าร่วมในเวทีพหุภาคี ทำให้การค้าโลกขยายตัวและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ส่วนด้านเทคโนโลยีก็สามารถร่วมมือกับพันธมิตรจนทำให้เทคโนโลยีของสหรัฐและพันธมิตรแข็งแกร่งและสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเทคโนโลยีโลกได้

 แต่โลกอีกใบหนึ่ง คือไบเดนติดปัญหาการเมือง ไม่สามารถผลักดันกิจการในประเทศไปได้ตามที่หวัง ส่วนด้านการค้าโลกปรับตัวลดลงยาวเนื่องจากทั้งจีนและสหรัฐหันมาเน้นนโยบายพึ่งพาตนเองมากขึ้น ส่วนสงครามเทคโนโลยีก็รุนแรงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะ Splinternet

นี่คือทางเลือกของโลกในยุคประธานาธิบดีไบเดน ผู้อ่านคิดว่าโลกยุคใหม่จะเป็นอย่างไร โปรดไตร่ตรองดู

*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่