ความต่อเนื่องของธุรกิจครอบครัว

ความต่อเนื่องของธุรกิจครอบครัว

ในบรรดาธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี ธุรกิจครอบครัว ถือได้ว่ามีจำนวนเป็นส่วนใหญ่ของธุรกิจในกลุ่มนี้

โดยธุรกิจครอบครัวในที่นี้ จะหมายถึงธุรกิจที่มีความเป็นเจ้าของธุรกิจส่งต่อไปยังบุคคลในครอบครัวอย่างน้อย 1 รุ่น ซึ่งนอกจากจะหมายถึง บรรดาลูก ๆ โดยตรงแล้ว อาจรวมไปถึงสมาชิกครอบครัวที่เป็น เขย สะใภ้ หรือญาติร่วมสายเลือดในลำดับที่ใกล้ชิดกัน ที่จะก้าวเข้ามารับช่วงหน้าที่บริหารธุรกิจต่อไป

หากไม่มีการเชื่อมต่อการบริหารงานโดยสมาชิกในครอบครัว ความเป็นธุรกิจครอบครัวก็จะถือได้ว่าสิ้นสุดลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาทำหน้าที่บริหารธุรกิจต่อไปโดยผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัวเดิม การตัดสินใจไม่สืบทอดธุรกิจของครอบครัวของสมาชิกรุ่นต่อไป หรือการประสบปัญหาไม่สามารถนำพาธุรกิจให้ดำเนินต่อไปโดยหัวหน้าครอบครัวหรือสมาชิกในครอบครัวที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารธุรกิจในรุ่นปัจจุบัน

การสืบทอดความเป็นธุรกิจครอบครัวให้มีความต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ถือได้ว่า เป็นทักษะหรือเทคนิคสำคัญสำหรับทั้งผู้บริหารในรุ่นปัจจุบัน และทายาทธุรกิจในรุ่นต่อไปเพื่อเตรียมการถ่ายทอดการบริหารธุรกิจของครอบครัวไปยังรุ่นต่อไป

ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการสืบทอดความเป็นธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น อาจมีได้หลายประการ เช่น ปัจจัยจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บุคลิก ลักษณะ วิธีคิด และความเป็นผู้นำของผู้บริหารรุ่นปัจจุบัน ความพร้อม การได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในครอบครัวและในเครือข่ายธุรกิจของผู้รับช่วงธุรกิจในรุ่นต่อไป รวมถึงการนำผู้บริหารมืออาชีพที่เป็นบุคคลภายนอกครอบครัวเข้ามาร่วมในการบริหารธุรกิจของครอบครัว เป็นต้น

ปัจจัยด้านกระบวนการหรือวิธีการบ่มเพาะทายาทธุรกิจ ได้แก่ การให้การศึกษาพื้นฐานที่เหมาะสม การฝึกงาน การทดลองทำงาน การสร้างความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในธุรกิจ เช่น คณะผู้บริหาร หัวหน้างาน พนักงาน ฯลฯ และภายนอกธุรกิจ เช่น ลูกค้า คู่ค้า และเครือข่ายทางธุรกิจและทางสังคม เป็นต้น

ปัจจัยด้านระบบการถ่ายทอดอำนาจบริหาร ได้แก่ ธรรมนูญครอบครัว วิธีการคัดเลือกทายาท เช่น ตามลำดับอาวุโส หรือตามความสามารถของทายาท เป็นต้น

นอกจากปัจจัยหลักทั้ง 3 ข้อดังกล่าวแล้ว ธุรกิจครอบครัวในปัจจุบัน ยังอาศัยกลไกเสริม หรือเครื่องมือทางการเงินธุรกิจต่าง ๆ ในการวางรากฐานให้กับความต่อเนื่องและความยั่งยืนของธุรกิจของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยอมแบ่งความเป็นเจ้าของธุรกิจให้กับบุคคลภายนอกในเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโดยยังคงความเป็นเจ้าของธุรกิจไว้ในสัดส่วนที่ครอบครัวยังสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขายหุ้น การร่วมทุน หรือการเข้าเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Ventures)

โดยมุ่งเน้นใช้กลไกเสริมเหล่านี้เป็นลู่ทางให้ทายาทธุรกิจที่เลือกไว้ สามารถสร้างทักษะ ประสบการณ์ และชั้นเชิงธุรกิจขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาประสบการณ์นอกเหนือความเชี่ยวชาญหรือความชำนาญในธุรกิจที่ครอบครัวได้วางรากฐานไว้ในตลาดมาก่อนแล้ว

ซึ่งในหลายๆ กรณี ชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ของครอบครัว อาจได้รับการยอมรับจากตลาดมาอย่างยาวนานเป็นสิบ ๆ ปี หรือเป็นร้อยปี ก็มีตัวอย่างปรากฏให้เห็น

สิ่งที่ถือได้ว่าเป็น “ผลพลอยได้” หรือ “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จในการส่งมอบอำนาจบริหารและความเป็นเจ้าของธุรกิจต่อไปยังทายาทรุ่นถัด ๆ ไปที่ยังอาจไม่มีใครพูดถึงมาก ได้แก่ การส่งต่อธุรกิจของครอบครัวมักจะเป็นโอกาสในการสร้าง “นวัตกรรม” ให้แก่ธุรกิจของครอบครัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทายาทธุรกิจที่เตรียมเข้ารับมอบอำนาจบริหาร หรือเข้าบริหารธุรกิจของครอบครัวมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว จะนำไอเดียและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของครอบครัวต่อไป

นักวิชาการด้านการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจครอบครัวจาก Babson College ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบจากงานวิจัยว่า ธุรกิจครอบครัวแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษที่สามารถสืบทอด ความเป็นธุรกิจของครอบครัวมาได้ถึง 8 ชั่วอายุคน เป็นเวลาถึงกว่า 200 ปี

โดยรุ่นบุกเบิกก่อต้ังร้านทำขนมปังเล็ก ๆ ขึ้นในบ้านเกิดที่ย่านชนบทนอกกรุงลอนดอนในปี 1769 (พ.ศ. 2312) รุ่นบุกเบิกได้ร่วมกับรุ่นที่ 2 ตัดสินใจย้ายธุรกิจเข้าไปยังกรุงลอนดอนเพื่อเปิดเป็นร้านเบเกอรี่เล็ก ๆ ขนาด 1 คูหา ซึ่งทายาทรุ่นที่ 4 ได้ขยายกิจการโดยการนำเอาความร้อนจากเตาอบขนมปังมาปรุงเป็นอาหารส่งตามบ้านและสำนักงานโดยรอบ และพัฒนามาเป็นภัตตาคารหรูที่มีร้านขายของชำย่อย ๆ อยู่ในบริเวณภัตตาคาร เพื่อให้ลูกค้าถือโอกาสซื้อของใช้จำเป็นกลับบ้านหลังรับประทานอาหารในภัตตาคารเสร็จแล้ว

ธุรกิจที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ประสบวิกฤติที่เกิดขึ้นจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ทายาทรุ่นที่ 6 จำเป็นต้องยุติธุรกิจภัตตาคารและร้านสะดวกซื้อ กลับมาที่บ้านเกิดและใช้ที่ดินท่ีสะสมไว้ครั้งธุรกิจรุ่งเรืองมาพัฒนาเป็นโรงแรมขนาดเล็กขนาด 26 ห้อง ที่มีร้านอาหารเปิดบริการสำหรับลูกค้าที่มาพักและลูกค้าภายนอก มีบริการห้องจัดเลี้ยง

ทายาทรุ่นที่ 6 และรุ่นที่ 7 ร่วมกันตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของโรงแรมอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันอีก 2 แห่ง กลายเป็นธุรกิจบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือรวม 3 แห่ง ที่ยังใช้ชื่อสกุลของครอบครัวเป็นชื่อของโรงแรมในเครือ มาจนถึงปัจจุบันที่ทายาทรุ่นที่ 8 เป็นผู้บริหารธุรกิจ (ดูรายละเอียดกรณีศึกษา The Beales Hotels ได้ที่ https://digitalcollections.babson.edu/digital/collection/stepsumrep/id/20/rec/9)

จะเห็นได้ว่า นวัตกรรมที่เกิดขึ้นและนำพาธุรกิจของครอบครัว Beales ก้าวผ่านอุปสรรคและความรุ่งเรือง ด้วยนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นก่อตั้ง การปรับเปลี่ยนทิศทางธุรกิจใหม่ในรุ่นที่ 4 และ รุ่นที่ 6 มาจนถึงในปัจจุบัน

จึงกล่าวได้ว่า โอกาสในการสร้างนวัตกรรมของธุรกิจครอบครัว จะเกิดขึ้นได้หากมีการส่งมอบความเป็นเจ้าของธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จด้วยการวางแผนสืบทอดกิจการธุรกิจของครอบครัวอย่างเป็นระบบ