วิกฤตโลก .. วิกฤตธรรม !!

วิกฤตโลก .. วิกฤตธรรม !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา .. มากกว่าสิบปีที่เขียนคอลัมน์ธรรม เพื่อเผยแพร่นานาสาระธรรมในหลากหลายมิติ

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาตามเหตุปัจจัย อันมีผลต่อสมาชิกในสังคมประเทศชาตินั้น ๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องธรรมดาของทางโลกที่ควรเข้าใจในความเป็นธรรมดา.. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชีวิตให้ดำเนินไปในวิถีโลกได้อย่างไม่สูญเสียธรรม.. คือ สติปัญญา...

ธรรม คือสติปัญญา .. จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของมนุษยชาติที่ควรแสวงหาด้วยการพึ่งตน-พึ่งธรรม ซึ่งเป็นหลักธรรมเพื่อการพัฒนาชีวิตในวิถีพุทธที่สำคัญที่สุด อันแสดงให้เห็นความจริงแท้ว่า... คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ให้เข้าใจในธรรมะ .. เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (To Learn To Change) ที่เรียกอีกชื่อว่าการพัฒนา (Development) จะได้เข้าถึงประโยชน์และความสุขในชีวิตนั้น ๆ ที่เป็นเป้าหมายแท้จริง...

ดังนั้น การเกิดมาเพื่ออะไร.. เกิดมาทำไม... ทำไมต้องเกิดมา... จึงเป็นคำถามคู่โลกมาในทุกยุคทุกสมัยแม้ในปัจจุบัน.. ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การศึกษาให้เข้าใจในความเป็นธรรมะของชีวิต...

พุทธศาสนาจึงอุบัติเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวที่มวลมนุษยชาติกำลังเสาะแสวงหาคำตอบจนวุ่นวายอลวนกันไปทั่วโลก ให้เกิดทิฏฐิหรือทฤษฎีมากถึง ๖๒ ทฤษฎี (ทิฏฐิ) .. แต่ไม่มีทฤษฎีใดตอบโจทย์เรื่องชีวิตได้อย่างแจ่มแจ้ง ชัด .. ตรง .. จริง เท่ากับพุทธศาสนา

พุทธศาสนา จึงเป็นศาสนสากลโดยอัตโนมัติ .. เมื่อมีหลักธรรมคำสั่งสอนที่ชี้ตรงไปยังความเป็นจริงที่เรียกว่า “ธรรมะ .. ในธรรมชาติ”... โดยสรุปธรรมะรวมลงที่ชีวิต.. โลกคือชีวิต.. ธรรมชาติคือชีวิต.. ชีวิตคือโลก.... ด้วยความเข้าใจในความหมายของโลกว่า แท้จริงคือปรากฏการณ์ความเป็นธรรมดาของความเกิด .. ความดับที่แสดงให้เห็นจริงว่า ทุกสรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้.. มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นปรากฏการณ์.. ยากที่จะทนทานหากเข้าไปยึดถือ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการ ด้วยแท้จริง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา.. โลกนี้เป็นอนัตตา.. ชีวิตนี้เป็นอนัตตา !!

อนัตตา .. จึงเป็นกฎธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม ซึ่งกำกับทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในอำนาจแห่งธรรม.. มันต้องเป็นอย่างนี้.. ต้องเป็นอย่างนี้.. ไม่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น... จึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นธรรมะ .. ที่ต้องยอมรับโดยเข้าใจ.. เพื่อการเข้าถึงและพัฒนา...

ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงธรรม .. ไม่ว่าโลกียธรรมหรือโลกุตรธรรม... จึงเป็นยอดปรารถนาของทุกชีวิตที่เข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้เพื่อการพัฒนา... เพราะการขาดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแท้ในแต่ละเรื่องราวนั้น จักยากยิ่งที่จะปฏิบัติถูกต้องชอบตรงธรรมได้.. เมื่อปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม.. จึงย่อมไม่ประสบกับความสำเร็จในธรรม มิหนำซ้ำจะนำไปสู่ความผิดเพี้ยนไปจากธรรม.. ที่เรียกว่า วิปลาสธรรม

เมื่อบุคคลวิปลาส .. หมู่ชนวิปลาส .. สังคมวิปลาส จึงเกิดปรากฏการณ์วิปลาสต่าง ๆ นานาให้เราได้พบเห็น .. อะไรไม่น่าจะเกิดก็เกิด อะไรไม่น่าจะมีก็มี... โดยเฉพาะความไร้อารยธรรม .. ไร้ความสะอาด และไร้ยางอาย... ที่ปรากฏมากขึ้นในสังคมยุคไอที

จึงไม่แปลก หากสังคมจะพลิกกลับให้เห็นอีกด้านหนึ่งที่เราคาดคิดไม่ถึงว่าจะเกิดมีขึ้นในสังคมที่เคยรุ่งเรืองในอารยธรรม ไม่ว่าสถานที่ สิ่งแวดล้อม ที่แปรเปลี่ยนไปสู่ความไม่เหมาะสม (คติวิบัติ)

รูปร่าง บุคลิกภาพ .. ที่แปรเปลี่ยนไปสู่ความหายนะ พิกลพิการ ไม่น่ายินดี.. (อุปธิวิบัติ) กาลเวลา .. ที่ไม่เอื้อให้โอกาสต่อการเกื้อกูลให้เกิดประโยชน์อย่างที่เคย.. (กาลวิบัติ) และ ปโยควิบัติ หมายถึง การกระทำที่ไม่เหมาะควร .. การกระทำที่ชั่วช้าเลวทราม ที่ปรากฏมากขึ้น
นี่คือความจริง .. ที่มนุษยชาติจะต้องพานพบ เมื่อปล่อยให้เกิดความวิปลาสขึ้นในชีวิต.. จนผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากธรรม .. อย่างไม่ควร... ซึ่งสาธุชนควรตระหนักเพื่อการเตรียมพร้อมต่อการเผชิญปัญหาวิกฤตโลก .. วิกฤตธรรม...

และนี่คือบทความสุดท้ายของธรรมส่องโลกบนนสพ.กรุงเทพธุรกิจ... ก่อนที่จะอำลาไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติในยุคไอที !!!

เจริญพร