ชู 3 นิ้ว...สู้ความไม่เป็นธรรม

ชู 3 นิ้ว...สู้ความไม่เป็นธรรม

เป็นที่ทราบในวงกว้างว่าพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างกลไกการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทางธุรกิจ

และมุ่งคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับ ยิ่งกว่านั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศ

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 จะทรงประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดในการบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจเอง

สถิติจากสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค.2560 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ สขค.ทั้งสิ้น 60 เรื่อง ได้มีการพิจารณาลงโทษปรับทางปกครองไปแล้ว 3 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการของคณะอนุกรรมการสอบสวน คณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดทางปกครอง และคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง 25 เรื่อง

ที่เหลือเป็นเรื่องร้องเรียนที่เป็นที่ยุติ เนื่องจากเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไม่มีมูล หรือเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 รวมทั้งสิ้น 32 เรื่อง จะเห็นได้ว่ากว่าร้อยละ 40 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ซึ่งต้องถือว่าเป็น “คดี” อยู่ในกระบวนการสอบสวนเพื่อหาหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ ชุดต่างๆ ในขณะที่กว่าร้อยละ 50 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมดเป็นเรื่องร้องเรียนที่เป็นที่ยุติ

สาเหตุของการเกิดเรื่องร้องเรียนที่เป็นที่ยุติในส่วนของเรื่องร้องเรียนที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 นั้น เป็นเพราะผู้ร้องเรียนยังไม่เข้าใจอำนาจ หน้าที่ ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างแท้จริง หากแต่เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่ที่เป็นที่ยุติเนื่องจากไม่มีมูล รวมถึงคดีส่วนหนึ่งที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ และมีความล่าช้านั้นมีสาเหตุมาจากอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำมาซึ่งข้อเท็จจริงในการพิสูจน์หาหลักฐานสำหรับใช้ในการพิจารณาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่

ดังที่กล่าวข้างต้น พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 จะมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจและปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่สร้างอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ก็คือการไม่ให้ความร่วมมือของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งโดยมากจะเป็นผู้ร้องเรียนนั่นเอง กรณีตัวอย่างต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง

นาย ก.ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตสีพ่นรถยนต์แจ้งกับ สขค.ในเบื้องต้นว่า บริษัทประกันภัย ข.ซึ่งมีอู่ซ่อมรถยนต์อยู่ในเครือของบริษัทตนเองเป็นจำนวนมาก ได้ไปซื้อธุรกิจ ค.ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสีพ่นรถยนต์ยี่ห้อ ง. โดยที่บริษัทประกันภัย ข.ไม่เคยมีธุรกิจผลิตสีพ่นรถยนต์มาก่อน หลังจากที่ซื้อธุรกิจ ค.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทประกันภัย ข.ก็ได้ประกาศโดยไม่เป็นลายลักษณ์อักษรให้กับอู่ซ่อมรถยนต์ที่อยู่ในเครือของบริษัทตนว่าจากนี้ไปให้อู่ซ่อมรถยนต์ที่อยู่ในเครือทุกรายจะต้องใช้สีพ่นรถยนต์ยี่ห้อ ง.เท่านั้น หากอู่ซ่อมรถยนต์ใดไม่ปฏิบัติตาม ทางบริษัทประกันภัย ข.จะไม่ส่งรถยนต์ของลูกค้าบริษัทให้

สขค.พิจารณาในเบื้องต้นและเชื่อว่าน่าจะรับเป็นเรื่องร้องเรียนได้ เพราะพฤติกรรมทางการค้าของบริษัทประกันภัย ข. น่าจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 สขค.จึงติดต่อกลับไปยังนาย ก.เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ผลปรากฏว่า นาย ก.ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อธุรกิจตน เนื่องจากบริษัทประกันภัย ข.เป็นบริษัทใหญ่ และหลายอู่ซ่อมรถยนต์ที่อยู่ในเครือของบริษัทประกันภัย ข.ก็เป็นลูกค้าที่สั่งซื้อสีพ่นรถยนต์ของนาย ก.

แม้นาย ก.จะยอบรับว่ายอดสั่งซื้อสีพ่นรถยนต์ของตนจากอู่ซ่อมรถยนต์ในเครือของบริษัทประกันภัย ข.จะลดลงก็ตาม แต่ก็ยังมียอดสั่งซื้อ ทั้งนี้เป็นเพราะราคาสีพ่นรถยนต์ของนาย ก.นั้นต่ำกว่าราคาสีพ่นรถยนต์ยี่ห้อ ง.มาก ยิ่งกว่านั้นนาย ก.ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าไม่น่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจผลิตสีพ่นรถยนต์รายใดให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ของ สขค. เพราะราคาของสีพ่นรถยนต์ยี่ห้อ ง.นั้นสูงกว่าราคาของสีพ่นรถยนต์อีกหลายยี่ห้อ

นั่นหมายความว่าสีพ่นรถยนต์ยี่ห้ออื่นยังคงขายได้ และหลายอู่ซ่อมรถยนต์ก็ยังคงสั่งซื้อสีพ่นรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ที่ไม่ใช่ยี่ห้อ ง. เพื่อใช้พ่นรถยนต์ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของบริษัทประกันภัย ข. และเช่นเดียวกัน นาย ก.เชื่อว่าคงไม่มีอู่ซ่อมรถยนต์ในเครือของบริษัทประกันภัย ข.จะให้ข้อมูลต่อ สขค. เพราะเกรงว่าจะถูกตัดออกจากสถานภาพอู่ซ่อมรถยนต์ในเครือของบริษัทประกันภัย ข.

อย่างไรก็ตาม เมื่อ สขค.ได้รับข้อมูลหรือพบเห็นพฤติกรรมทางการค้าที่อาจเข้าข่ายความผิด สขค.ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบที่วางไว้ เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติแม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ร้องหรือพยาน และต้องใช้เวลานานในการแสวงหาข้อเท็จจริงก็ตาม

ตามหัวเรื่องที่ระบุให้ชู 3 นิ้ว ก็เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับตระหนักใน 3 ประเด็นหลัก กล่าวคือ 1.ต้องรู้และเข้าใจ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 อย่างแท้จริง เพื่อจะได้ไม่กระทำพฤติกรรมทางการค้าใดๆ ที่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ 2.ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 เมื่อรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบทางธุรกิจ หรือพบเห็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และ 3.ให้ข้อมูลทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์เพื่อความรวดเร็วในการรวบรวมข้อเท็จจริง และยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลให้กับ สขค. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 ในการบังคับใช้

เป็นความจริงที่มิอาจปฏิเสธว่า หาก พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ผลพวงของประโยชน์ที่เกิดขึ้นย่อมตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ดังนั้น จึงต้องช่วยกันต่อต้านการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยคำนึงถึง 3 ประเด็นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น