สังคมที่มีภาพอนาคตร่วมกัน (Future Oriented Society)

สังคมที่มีภาพอนาคตร่วมกัน (Future Oriented Society)

ในยุคสมัยที่ข่าวสารสามารถเข้าถึงพวกเราได้อย่างรวดเร็วฉับพลัน จนเราเริ่มแยกแยะความจริงและความลวงได้ยาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ข่าวสารต่างๆ ที่ปรากฎในโลกอินเตอร์เน็ตสะท้อนให้เห็นแต่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ทำให้ประชาชนอย่างพวกเราโดยเฉพาะคนชั้นกลางและชั้นล่างกำลังหมดความหวัง

ความหวังที่ตัวเองจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือความหวังที่เพียงแค่จะได้เห็นสังคมที่อยู่ดีขึ้นความหวังที่จะได้เห็นลูกหลานมีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็มีความเป็นอยู่ที่ทัดเทียมหรือใกล้เคียงกับมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ควรจะเป็น

ขอชวนท่านผู้อ่านลองหลับตาเพื่อนึกถึงภาพอนาคตข้างหน้าไม่จำเป็นต้อง 20 ปีข้างหน้าก็ได้ แค่มองอนาคตใน 5 ปี หรือแค่เพียงปีนี้ พวกเรามองเห็นอะไรบ้าง ชีวิตที่ดีขึ้น ความหวัง...หรือมองไม่เห็นอะไรเลย?

ช่วงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย ทศวรรษนี้เป็นยุคเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ไม่เพียงแต่ประเทศไทยหากแต่เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก หลายคนต้องตกงาน และเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจการ ตลอดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนจากเดิมไม่มากก็น้อย เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย หลายกลุ่มเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างสูง เช่น ท่องเที่ยว การบิน และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และกำลังเกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่เคลื่อนสู่กลุ่มอื่นๆ ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นปฏิกิริยาลูกโซ่นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของห่วงโซ่มูลค่าโลกขนานใหญ่ กอปรกับความขัดแย้งของขั้วมหาอำนาจของโลกที่ถูกเร่งให้ปะทุขึ้น ทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่คุ้นเคยกลายเป็นอดีตในทันที อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจากความไม่สงบของการเมืองภายในประเทศ ที่กำลังจะปะทุอย่างรุนแรงจากเดือนกันยายนและตุลาคมนี้เป็นต้นไป

นี่เป็นฉากทัศน์หนึ่งของภาพอนาคต เราอาจมีภาพอนาคตที่เหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง แล้วภาพอนาคตของท่านเป็นอย่างไร

คนธรรมดาอย่างพวกเราโดยทั่วไปแล้วมีทางเลือกอยู่ไม่มาก

ทางเลือกแรก ทนต่อไป อยู่ให้ได้ อยู่ให้เป็น ?

ทางเลือกที่สอง ย้ายทำเล แต่จะย้ายไปประเทศอื่นก็คงยากที่จะทำได้ ถึงไปได้ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหนที่ดีกว่าประเทศเรา ? ในโลกนี้...เรามีประเทศไทยเหลืออยู่ประเทศเดียว

ทางเลือกที่สาม ทำอะไรสักอย่าง ทำอะไร แล้วเราจะทำอะไรได้? อย่างน้อยก็บ่นขึ้นมาเพื่อหาคนผิดหรือคนรับผิดชอบ? หรือจะเดินลงถนนเพื่อการต่อรอง? หรือจะมีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่?

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอนาคตของสังคม เป็นผลจากการกระทำในอดีตและการตัดสินใจร่วมกันของพวกเรา ทะเลแห่งความผันผวนสะท้อนถึงภาพอนาคตที่หลากหลาย มีทั้งสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ และสิ่งที่ดีที่สุดก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล เป็นตัวกำหนดว่าพวกเราจะอยู่ในภาพอนาคตใด แม้ว่าพลังของการตัดสินใจของคนตัวเล็กตัวน้อย อาจไม่เท่ากับพลังของผู้มีอำนาจในแบบต่างๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่น่ากลัวกลับเป็นการที่สังคมเกิดการตัดสินใจแบบไม่รู้อนาคต ผลของมันถูกให้เป็นไปยถากรรม ซึ่งถ้าโชคดีก็ได้ไปสู่ภาพอนาคตที่ปราถนา แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจตกอยู่ในภาพอนาคตที่ไม่พึงประสงค์

ความเจนจัดในการเข้าใจอนาคต เป็นทักษะที่สำคัญของโลกยุคใหม่ที่สับสนซับซ้อนและเป็นสีเทาเช่นนี้ ผู้ใดที่สามารถเข้าใจหนทางการดำเนินงานของภาพอนาคตได้ดีเช่นใด ผู้นั้นย่อมสามารถออกแบบการตัดสินใจที่เหมาะสมได้ดีเช่นกัน วันนี้สังคมที่อุดมด้วยศรัทธาเพียงอย่างเดียวไม่อาจจะอยู่รอดได้

ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของโลกในทุกวันนี้ มีมากพอที่จะนำพาประเทศเข้าสู่สังคมแห่งปัญญาและเป็นสังคมที่สามารถออกแบบอนาคตของตัวเองได้ ทำให้เกิดสังคมที่ทุกหมู่เหล่ามีความหวังที่จะร่วมกันคิดถึงอนาคต ร่วมกันคิดถึงลูกหลานและคนรุ่นต่อไป ตลอดจนสามารถร่วมแบ่งปันภาพอนาคตไปด้วยกันได้ เพื่อสุดท้ายแล้วจะทำให้เกิดสังคมที่ร่วมออกแบบการเดินทางสู่อนาคตนั้นไปด้วยกัน (FutureOriented Society)

ภาพอนาคตแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันแต่ถ้ารัฐใดสังคมใด สามารถสร้างภาพอนาคตของฉันและเธอเป็นภาพอนาคตของเราได้ สังคมนั้นมีแนวโน้มที่จะอยู่รอดได้ในโลกยุคที่ซับซ้อนและสับสนเช่นนี้

โดย... รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม