'รมว.คลัง' ลาออก! สะท้อนถึงรัฐบาลและนายกฯอย่างไร

'รมว.คลัง' ลาออก! สะท้อนถึงรัฐบาลและนายกฯอย่างไร

สถานการณ์บ้านเมือง เกิดวิกฤติเศรษฐกิจย่ำแย่จากพิษโรคโควิด-19ระบาด ประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ

ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำพาประเทศพ้นจากหุบเหวแห่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตและค้าขายฝืดเคือง

การปรับเปลี่ยน คณะรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการดึงนักบริหารมืออาชีพมาร่วมรัฐบาล แต่การที่ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง หลังทำงานได้ไม่ถึงเดือน จึงเกิดคำถามหลากแง่มุมว่าอุบัติการณ์ดังกล่าว สะท้อนอะไรถึงรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่นายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สะท้อนความขัดแย้งภายในรัฐบาล แม้ว่านายปรีดีจะเปิดใจกับกรุงเทพธุรกิจ ถึงการตัดสินใจดังกล่าวมีปัญหาสุขภาพก็ตาม แต่ใครจะเชื่อเพราะท่ามกลางกระแสความไม่ลงรอยกันกรณีโยกย้ายปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการคลัง ระดับอธิบดีไปจนถึงบอร์ดในธนาคารของรัฐ

ความขัดแย้งที่ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลาออกจากตำแหน่งกลายเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงก็ว่าได้ ความเชื่อมั่นยิ่งลดซ้ำเติมตั้งแต่ปรับทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจออกยกชุด ท่ามกลางกระแสข่าวว่าไม่มีนักบริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ กล้าเข้ามาร่วมวงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพราะสถานการณ์การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐช่างรุนแรงหนักหนาเกินจะต้านทาน

นอกจากจะลดความเชื่อมั่นของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังสะท้อนถึงตัวตน อารมณ์และความรู้สึกความเป็นผู้นำของพลเอกประยุทธ์ ไปในคราวเดียวกัน เพราะเชื่อว่าไม่มากก็น้อยว่า "ศิลปะการเป็นผู้นำ" ในการหนุนให้คนที่รับอาสามาทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ ต้องใช้มีความ "ละเอียดอ่อน" มากกว่า บทบาทการเป็นผู้นำกองทัพ

แม้ว่า ช่วงที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จะปรับความแข็งกร้าวลงมากแล้ว สังเกตจากการลงพื้นที่พบปะประชาชนทั่วประเทศ จะมีมุกตลก ลูกล้อลูกชน ให้ได้เห็น ซึ่งลดความห่างระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ทว่า ศิลปะการใช้งานเพื่อนงานในคณะรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ลูกน้องเก่านั้น ควรปรับหากจะดึงมืออาชีพมาทำงานแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ

ปัญหาต่อมาคือ สะท้อนถึงอิทธิพลของแกนนำในพรรคพลังประชารัฐ กำลังอยู่เหนือความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ ซึ่งกำลังซ้ำเติมแผลเก่าในใจประชาชนว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา แย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาภายในพรรคหรือเพื่อหาคนแก้ปัญหาให้ประเทศชาติ

ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของรัฐมนตรีภายในรัฐบาลนั้น กำลังเสื่อม จากการทำงานแยกส่วนตามโควตาของพรรค แม้จะมีมืออาชีพเข้าไปทำงานร่วมกับนักการเมือง กลายเป็นการร่วมกลุ่มกัน แบบรุ่นพี่รับน้องกับผู้เข้ามาใหม่

กล่าวโดยสรุป ความขัดแย้งและจบลงด้วยการแยกทางจากลา สะท้อนถึงรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ในสายตาประชาชนว่า ความเชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ได้อีกไม่นานเพิ่มมากขึ้น แม้พลเอก ประยุทธ์ จะพยายามสร้างความเชื่อมั่นที่ถดถอยก็ตามที