4 ปัจจัยต่อยอดความสำเร็จธุรกิจครอบครัว

4 ปัจจัยต่อยอดความสำเร็จธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม โดยธุรกิจครอบครัวคิดเป็น 80% ของจีดีพีของประเทศ

1 ใน 3 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจแบบครอบครัวนี้เป็นตัวผลักดัน การเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียเสมอมา โดยมีส่วนในการเติบโตของจีดีพีรวมของภูมิภาคถึง 34%

ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจครอบครัว อยู่ตรงที่การสานต่อกิจการจากรุ่นบุกเบิก และรักษาธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตอย่างมั่นคง จากประสบการณ์ของธนาคารยูโอบีที่มีรากฐานมาจากธุรกิจครอบครัว และระยะเวลาตลอด 80 ปีที่ก่อตั้งมา ได้ให้การสนับสนุนลูกค้าธุรกิจครอบครัวได้เติบโตจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นเราจึงเข้าใจถึงความท้าทายในการส่งมอบธุรกิจให้กับทายาทผู้รับช่วงต่อและการสนับสนุนที่ธุรกิจครอบครัวต้องการ

ปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น ได้แก่ อันดับแรก ผู้บริหารต้องมุ่งมั่นรักษามรดกและค่านิยมหลักของธุรกิจครอบครัวที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมทั้งเคารพการตัดสินใจของผู้บริหารรุ่นก่อน อันดับที่สอง สร้างการยอมรับและไว้วางใจจากผู้บริหารรุ่นก่อนให้ได้ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่น อันดับที่สาม บริหารทรัพยากรบุคคลด้วยใจ นำคุณค่าขององค์กรมาปรับใช้ในการทำงาน และอันดับที่สี่ ต้องเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่พฤติกรรมลูกค้า สายการผลิต และภาพรวมการแข่งขันในตลาด

เมื่อธุรกิจครอบครัวเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่ควรต้องพิจารณาเพื่อให้การสานต่อกิจการเป็นไปได้อย่างราบรื่นนั้นรวมไปถึง การเข้าใจจุดแข็งขององค์กรและทีมบริหาร การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น การกำหนดทิศทางขององค์กรให้สอดคล้องไปกับค่านิยมหลักของครอบครัว และการได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนในการตัดสินใจที่เป็นสมาชิกในครอบครัว 

จากงานสัมมนาเรื่องธุรกิจครอบครัวที่ทาง ธนาคารยูโอบี จัดร่วมกับ Brand Buffet เมื่อไม่นานมานี้ เราได้รับเกียรติจาก  3 แบรนด์ไทย ได้แก่ ห้างทองออโรร่า รองเท้าผ้าใบนันยาง และข้าวเกรียบมโนราห์ ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่ได้รุ่นลูกหลานเข้ามาบริหารและนำพาธุรกิจไปถึงจุดที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

เมื่อได้ฟังสิ่งที่ผู้บริหารจากทั้ง 3 แบรนด์เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เข้ามารับช่วงต่อทางธุรกิจนั้น ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางที่สอดคล้องกับสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ห้างทองออโรร่า ที่เริ่มจากห้างทองเล็กๆ สู่ห้างทองภาพลักษณ์ทันสมัยที่มีสาขากว่า 200 แห่งในศูนย์การค้าชั้นนำ  พูดถึงเรื่องความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในรุ่นที่ 3 นั่นก็คือการพิสูจน์ตัวเองกับผู้บริหารที่มีส่วนในการตัดสินใจ โดยเริ่มจากการทำงานเล็กๆ และเมื่อทำได้สำเร็จจึงค่อยขยายเป็นงานที่ใหญ่ขึ้น จนได้ความเชื่อใจและสร้างการยอมรับ

ทางด้านนันยาง แบรนด์รองเท้าผ้าใบที่เป็นที่รู้จักในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พูดถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นให้กับธุรกิจ โดยที่ยังคงรักษาค่านิยมหลัก (core value) ของธุรกิจครอบครัว รวมถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลในบริษัท ที่อาจมีทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ โดยต้องสามารถดึงจุดแข็งของทั้งสองรุ่นให้เสริมซึ่งกันและกัน

ด้านธุรกิจข้าวเกรียบมโนราห์ อาหารว่างแบบไทยๆ ที่ขยายธุรกิจยังประเทศเพื่อนบ้าน พูดถึงเรื่องของการปรับใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเอกสารและงานด้านบัญชีมากขึ้น รวมถึงความสำคัญของการสื่อสารเป้าหมายทางธุรกิจ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเห็นภาพชัดเจน และมุ่งหน้าไปยังจุดมุ่งหมายเดียวกัน

จากการทำงานกับลูกค้าหลายเจเนอเรชันทำให้เราเข้าใจว่า ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดี เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยพาธุรกิจไปยังจุดสูงสุดได้ ที่ผ่านมาธนาคารเองได้ริเริ่มโครงการ The Business Circle เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารรุ่นต่อไป สร้างคอนเนคชันในหมู่ธุรกิจครอบครัวที่เป็นลูกค้าของธนาคาร ซึ่งอาจกำลังมองหาตลาดใหม่ หรือโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาค ผ่านความสัมพันธ์อันดีและความไว้วางใจระหว่างกัน

โครงการนี้ยังมีเป้าหมายที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ผ่านการแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว ทั้งในเรื่องของความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม กลยุทธ์การตัดสินใจทางธุรกิจที่ชาญฉลาด และการคิดแบบสร้างสรรค์อย่างผู้นำ โดยโครงการนี้จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างลูกค้ายูโอบีทั่วภูมิภาค และจากทุกภาคธุรกิจ และมีแผนจะเปิดตัวในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้