มาลองคิดเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว

มาลองคิดเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว

ช่วงนี้คงเป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดีกับการท่องเที่ยว เพราะมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

แม้ว่าจะเกิดผล แต่ก็ไม่ได้เกิดผลมากตามที่คาดคะเนไว้ ยกตัวอย่างคนไทยหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางมากกว่าที่จะใช้เครื่องบิน ทำให้เป็นการท่องเที่ยวระยะสั้นมากกว่าระยะไกล ซึ่งมีเพียงเมืองที่อยู่ใกล้ๆ กับกรุงเทพฯ เท่านั้นที่จะได้อานิสงส์จากวันหยุดที่เพิ่มขึ้น

แต่เมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปก็ไม่ได้อานิสงส์มากเท่าที่ควร ส่วนโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ให้ประโยชน์กับโรงแรมนั้นการใช้สิทธิก็ยังไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วเท่าที่คาดการณ์เอาไว้ ส่วนโรงแรมที่เคยชินกับการมีนักท่องเที่ยวเป็นคนต่างชาติทั้งหมดก็ยังไม่มีลูกค้าอยู่เหมือนเดิมยังเปิดไม่ได้

หากเราดูสถิติแล้วก็คงรู้ว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาการท่องเที่ยวในประเทศมาชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย ซึ่งปกติมีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 3 ล้านล้านบาท โดยเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ถึงแม้ว่าคนไทยจะลุกขึ้นมาเที่ยวกันแบบอุตลุดก็คงไม่สามารถจะเยียวยาได้เต็มที่ ประกอบกับตอนนี้คนไทยจำนวนมากอยู่ในภาวะที่เรียกว่าถังแตก ก็ยิ่งไม่สามารถจะไปท่องเที่ยวได้เต็มที่เหมือนกัน

หากเราเลือกจะเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จะมีวิธีรับมืออย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 ของคนไทยให้น้อยที่สุด มาตรการจำเป็นสำคัญอันดับแรกก็คือ คนไทยยังต้องคุมเข้มตัวเอง เช่นต้องสวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ และการรักษาระยะห่างในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น และกำหนดจำนวนอัตราติดเชื้อสูงสุดเพื่อกำกับจำนวนนักท่องเที่ยวและการแพร่ระบาด

มาตรการสำคัญขั้นถัดไปเพื่อคุ้มครองคนในประเทศก็คือ ต้องตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งต้องรวมทั้งผู้ให้บริการและผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยว แต่กลับต้องมาติดเชื้อ ทั้งนี้ อาจมีการเก็บภาษีเข้ากองทุน 200 บาทต่อหัวนักท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่เพียงพอในระยะแรก รัฐต้องรับประกันการดูแลและเยียวยา

ส่วนขั้นตอนการเตรียมการด้านปฏิบัติการที่ต้องคำนึงถึงหากมีการเปิดประเทศนั้นได้แก่

1.เราต้องเตรียมการให้ "ไทยชนะของเราเป็นภาษาต่างประเทศให้ได้ก่อนที่จะเปิดประเทศ อาจเป็นอังกฤษหรือจีน หรือถ้าได้ทั้ง 2 ภาษาก็ยิ่งดี เพื่อติดตามนักท่องเที่ยวตลอดการเดินทาง

2.เราคงไม่เปิดประเทศทุกเมือง แต่จะลองเปิดเป็นบางเมืองในระยะแรก จึงต้องกำหนดเมืองที่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าได้ ซึ่งควรจะมีสนามบินนานาชาติอยู่ในจังหวัดนั้น เช่น กทม. เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หรือพัทยา ผ่านสนามบินสัตหีบ

3.กำหนดคลัสเตอร์ของเมืองท่องเที่ยวที่จะเชื่อมโยงกับเมืองที่เปิดได้ เช่น โยงกระบี่และพังงากับภูเก็ต เชียงรายกับเชียงใหม่ กทม.กับเมืองอื่นๆ ที่มีสนามบินนานาชาติในแต่ละจังหวัด กำหนดย่านที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวได้โดยไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินไปสะเปะสะปะทุกแห่ง และยังควรกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวและพื้นที่ให้บริการท่องเที่ยวให้ชัดเจน

4.ให้นักท่องเที่ยวควรจะมาเป็นกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะมาเที่ยวอิสระเป็นกลุ่มเล็กก็ยังต้องเที่ยวโดยมีไกด์นำทางเพื่อที่จะดูแลไม่ให้ออกนอกเส้นทางทุกกลุ่ม

5.รถสาธารณะและร้านที่ให้บริการนักท่องเที่ยว เช่น สปา ร้านอาหาร และสถานบันเทิง ในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่บริการคนไทยจึงควรมีการแยกโดยมีการติดสติกเกอร์หรือเครื่องหมายที่บอกให้รู้เป็นพิเศษ

6.เลือกนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เหมาะสมมาเป็นกลุ่มนำร่อง เช่นนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะมาอยู่ในระยะยาวประเภทลองสเตย์ ซึ่งนักท่องเที่ยวประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่มารับบริการผ่าตัดเสริมสวย ลดน้ำหนักรักษาพยาบาลที่ไม่เกี่ยวกับโรค เช่น การผ่าตัดหัวเข่า หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการมีกิจกรรมในประเทศไทยเกินกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป เช่น ฝึกซ้อมกอล์ฟ เข้าค่ายมวย เป็นต้น

7.นักท่องเที่ยวเหล่านี้ 14 วันแรกที่เข้ามาต้องอยู่ในสถานรับรองไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงพยาบาล หรือค่ายมวยก็ต้องมีมาตรการป้องกันเช่นเดียวกับของสถานที่กักกันของรัฐ แต่เป็นแบบผ่อนคลายและเพื่อรับบริการที่มีจุดประสงค์เฉพาะซึ่งต้องมีระบบที่เป็นที่ยอมรับของกรมควบคุมโรค หมายความว่าโรงแรม โรงพยาบาล สนามกอล์ฟ รวมทั้งค่ายมวยที่จะให้บริการจะต้องปรับตัวให้ได้มาตรฐานของการควบคุมโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวเหล่านี้ผู้ให้บริการจะต้องเป็นผู้ไปรับที่สนามบินและกำกับการเดินทางตลอดเวลา โดยมีการลงข้อมูลในไทยชนะ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวเหล่านี้ต้องมีการตรวจโควิด-19 ทุกๆ 14 วัน

8.สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาต่ำกว่า 14 วันจะต้องถูกกำหนดให้เดินทางท่องเที่ยวภายในเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และต้องท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเท่านั้น อาจจะเที่ยวเป็นกลุ่มเล็กได้ แต่ทุกกลุ่มจะต้องมีไกด์นำทางเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวไม่ให้ออกเส้นทางและสามารถที่จะรายงานเส้นทางเดินทางในใช้ไทยชนะตลอดเวลา

9.ผู้ให้บริการตลอดห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว ต้องจัดระบบบริการที่มีการควบคุมโรคไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นและมีมาตรการที่จะดูแลบุคลากรที่ให้บริการอย่างเข้มงวดและให้มีการตรวจเชื้อโคโรนาไวรัสทุกๆ 14 วัน

10.นักท่องเที่ยวต้องมีประกันสุขภาพและอุบัติเหตุที่จะสามารถรองรับค่าใช้จ่ายระหว่างที่อยู่เมืองไทย หากประสบปัญหาเจ็บไข้แล้วเกิดอุบัติเหตุถึงสองล้านบาทต่อคน ทั้งนี้อาจจะเป็นการประกันกลุ่มได้ไม่ต้องประกันทุกคนสำหรับผู้ที่มาเป็นกลุ่ม

หากคิดจะเปิดประเทศก็ต้องคิดมาตรการเหล่านี้ให้ตลอดห่วงโซ่อุปทานและทำการตลาดในกลุ่มเฉพาะ ไม่ใช่เปิดรับใครก็ได้เข้ามา ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่นานก็จะถึงฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวแล้ว ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะเริ่มเดือน ต.ค.ทำให้ผู้ประกอบการจะมีเวลาหารายได้ในช่วงฤดูไฮซีซั่นให้เต็มที่ได้สักสี่ห้าเดือน

ที่สำคัญรัฐบาลต้องคิดสะระตะ ต้นทุน และผลตอบแทนให้ถี่ถ้วน รวมทั้งต้นทุนทางสังคมที่คนไทยกลุ่มที่ไม่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวอาจต้องแบกรับที่สำคัญก็คือต้องเข้าใจร่วมกันว่า การเปิดประเทศครั้งนี้มีความจำนงที่ต้องการสร้างงานและรายได้ ไม่ใช่การทำโปรโมชั่นประเทศไทยอย่าไปแข่งกันลดราคา หากจะลดแหลกแจกแถมให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วละก็ อย่าเปิดประเทศเสียเลยจะดีกว่าค่ะ

นอกจากมาตรการระยะสั้นแล้ว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เริ่มดำเนินการเตรียมคิดหายุทธศาสตร์การท่องเที่ยวและ Roadmap หลังโควิด-19 โดยหาแบบแผนใหม่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

ถึงเวลาที่ไทยแลนด์จะปรับโฉมใหม่ไม่ทำตัวเป็นการท่องเที่ยวราคาถูกอีกต่อไป!