ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงออก QE ได้

ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงออก QE ได้

เมื่อตอนปี 1944 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สหรัฐได้เชิญนานาประเทศมาที่เมืองเบรทตั้น วู้ดส์ ที่มลรัฐนิวแฮมเชียร์

 เพื่อเจรจาสัญญาที่เรียกว่า Bretton Woods System สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นหลังสงครามจบลงคือ การที่สภาพเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศนั้นแย่ลง เนื่องจากเอาเงินมาใช้ในสงครามจนหมดคลัง ในการตกลงที่เมืองเบรทตั้น วู้ดส์ มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ ครับ 

1.คือสหรัฐจะเอาสกุลเงินของตัวเองนั่นคือ ดอลลาร์ มาพูกกับทองคำแล้วให้บรรดาประเทศจากเดิมที่แลกเปลี่ยนโดยทองคำหันมาใช้ ดอลลาร์แทน 2.คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ธนาคารกลางโลก หรือ World Bank นั่นเอง ซึ่งบรรดา 44 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวที่เอาดอลลาร์มาพูกกับทองคำ เรียกว่าเป็นการเดินหมากครั้งสำคัญของสหรัฐในการเป็นมหาอำนาจของโลก แต่หลังจากนั้นไม่นาน ปี 1971 ประธานาธิบดีริชาร์ดนิกสัน ได้ตัดสินใจเอาดอลลาร์ออกจากการผูกมัดกับทองคำ แปลว่า สหรัฐสามารถพิมพ์เงินเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องมีทองคำมาค้ำประกันอีกแล้ว 

จริงๆ แล้วประธานาธิบดี นิกสัน ตั้งใจที่จะเอาข้อผูกมัดนี้ออก แค่เพียงชั่วระยะเวลานึงเท่านั้น แล้วค่อยนำกลับไปผูกมัดกับทองใหม่อีกครั้งนึง แต่สุดท้ายเขาได้ออกจากตำแหน่งก่อนที่จะมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

หลังจากวันนั้นเกือบ 50 ปีแล้ว สหรัฐได้มีการออก QE หรือ Quantitative Easing คือการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม เพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อที่บรรเทาเศรษฐกิจจากการถดถอยลงไป ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 12 ปีตั้งแต่ปี 2008 จนมาถึงปีนี้ สหรัฐได้ออก QE ไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง ไม่รวมเพียงแค่สหรัฐ ทั้ง ญี่ปุ่น ยุโรป และ สหราชอาณาจักร ต่างก็พิมพ์เงินของตัวเองออกมาตลอดช่วงเวลาดังกล่าว อย่างที่เราทราบกันดีครับว่า หน้าที่ของเงินคือการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เราต้องการ แต่ถ้าเป็นตัวของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเอง หรือบางประเทศที่ผมพึ่งกล่าวถึงไป พวกเขาไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ใช้เงิน แต่พวกเขาเป็นถึงผู้ผลิตเงินด้วย ซึ่งตรงนี้เองที่มันแตกต่างออกไป เพราะว่าถ้าเกิดพวกเขาต้องการสร้างโรงพยาบาลใหม่ โรงเรียนใหม่ พวกเขาสามารถจะพิมพ์เงินออกมา แล้วไปสร้างได้ทันทีเลย 

ดังนั้นถ้าพวกเขาสามารถผลิตเงินได้ด้วยตัวเอง ทำไมพวกเขาไม่ผลิตเงินออกมาเยอะๆ เลย แล้วทำให้สหรัฐล้ำหน้าและก้าวไกลกว่าประเทศอื่นๆ ไปเลย แล้วกลับกันอย่างประเทศไทยพิมพ์เงินออกมาบ้างจะทำไม่ได้หรอ

อย่างแรกเราต้องมองย้อนกลับไปตอนต้นที่มีการเซ็นสัญญา Bretton Woods สิ่งนี้ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เรื่องที่ 2 คือคนที่เป็นคนอเมริกันทุกคนยังคงต้องเสียภาษีให้กับสหรัฐเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ สิ่งนี้ทำให้เกิดอุปสงค์ของเงินดอลลาร์สหรัฐโดยธรรมชาติ เพราะพวกเขาต้องหาเงินเพื่อมาเสียภาษีให้กับรัฐบาล ซึ่งความจริงคือรัฐบาลสหรัฐใช้เงินในปีๆ หนึ่งงมากกว่าภาษีที่ได้รับจากประชาชนอยู่หลายเท่าอยู่แล้ว คำถามถัดมาคือแล้วในเมื่อรัฐบาลสามารถพิมพ์เงินได้อยู่แล้ว ทำไมถึงยังต้องออก พันธบัตรรัฐบาล ถือหนี้สิน หรือจ่ายดอกเบี้ย คำตอบคือเพื่อที่ว่าเงินดังกล่าวตรงนี้จะได้ดูมีมูลค่ามากขึ้นในการครอบครอง อย่างเช่นถ้าคุณถือพันธบัตรรัฐบาลแล้วได้ดอกเบี้ย 1% ก็ยังถือว่าเป็นทรัพย์สินที่น่าลงทุนอยู่ ซึ่งมันทำให้เกิดอุปสงค์ในตลาดมากยิ่งขึ้น

คำถามถัดมาคือ ถ้ารัฐบาลสหรัฐสามารถพิมพ์เงินออกมาได้เยอะๆ แล้วทำไมมันถึงไม่เกิดเงินเฟ้อเหมือนประเทศที่เงินเฟ้อขึ้น 1,000% อย่าง ซิมบับเว กับ เวเนซุเอลา คำตอบคือยังไม่เกิดขึ้นครับ เพราะว่าตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอยู่คือตัวเลขของอัตราคนว่างงานอยู่ที่ระดับสูงอยู่ที่ระดับ 10.2% ถึงแม้ว่าลดลงมาแล้วจากเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ระดับสูงสุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 1929 ที่ 15% และตัวเลขของอุปสงค์ในตลาดก็ยังต่ำอยู่ เพราะคนอเมริกันหันมาเก็บเงินแทนที่จะใช้จ่ายในช่วงนี้เพราะกลัวว่าเศรษฐกิจจะแย่ไปกว่านี้ ทำให้ตัวเลขของเงินเฟ้อยังไม่เพิ่มขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือเวลาที่สหรัฐพิมพ์เงินออกมา เขาได้ปล่อยไปยังธนาคารกลางเป็นหลัก แล้วก็ปล่อยให้ทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ทั่วสหรัฐซื้อพันธบัตรรัฐบาลไป หลังจากนั้นธนาคารเหล่านี้ก็ปล่อยไปให้กับประชาชนสามารถกู้ยืมทีหลัง หรือเอาไปซื้อหุ้นในตลาดหุ้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจอเมริกาดีขึ้นและเฟื่องฟูอย่างที่เคยเป็น ซึ่งถ้าเราดูตอนนี้ตัวเลขของตลาดหุ้นอเมริกาและในหลายๆประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นสูงมากเกือบเท่าก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาดซะอีก เพราะว่าด้วยเงินอัดฉีดจากรัฐบาลนี้เองที่ทำให้ตลาดหุ้นกลับมาเหมือนเดิมเหมือนที่เคยเป็น นอกจากนั้นเองสหรัฐเองยังลดอัตราดอกเบี้ยจนเกือบจะถึงขั้นติดลบแล้วเพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆได้ทำงานกันต่อไป

คราวนี้ลองมาดูฝั่งไทยกันบ้างนะครับ ทางไทยเองถึงแม้ว่าจะสามารถพิมพ์ธนบัตรของตัวเองได้ เหมือนกับหลายๆประเทศที่ทำมา แต่สิ่งที่น่ากลัวของไทยคือ สกุลเงินของเรา ไทยบาท ไม่ได้เป็นที่ถูกใช้หรือได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเหมือนสกุลเงินในข้างต้น ดังนั้นถ้าประเทศไทยพิมพ์เงินออกมา จะมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเป็นเหมือนกับ เวเนซุเอลา กับ ซิมบับเว ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหลายพันเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าสกุลเงินของเราใช้ส่วนใหญ่แค่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในขณะนี้มีประเทศเพื่อนบ้านเราประเทศหนึ่งที่พึ่งประกาศ QE ครั้งแรกในประเทศครับ ประเทศนั่นคือ อินโดนีเซีย ซึ่งพึ่งออก QE ครั้งแรกของประเทศ ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 เดือนเศรษฐกิจก็ยังดำเนินไปได้ดี ค่าเงินแข็งขึ้น และ ตัวผลตอบแทนธนบัตร 10 ปีของอินโดนิเซียก็น้อยลงไปด้วย แต่เราก็ยังต้องดูกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตครับ