สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องรับมือ ในวันนี้ถึงสิ้นปี 2020

สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องรับมือ ในวันนี้ถึงสิ้นปี 2020

Part1.เรื่องของไวรัสและวัคซีน ยังเป็นปัจจัยหลัก วัคซีนสำหรับป้องกันโรคไวรัสโควิด19 คาดว่าอย่างเร็วต้นปีหน้าหรือกลางปีหน้า

ถึงจะผลิตออกมาให้ใช้และมีความคืบหน้าจากหลายบริษัทของอเมริกาและยุโรป มีให้เลือกหลากหลายราคา (ส่วนประเทศใดจะได้ใช้ก่อน และประเทศไทยจะได้ใช้เมื่อไหร่... คงได้คำตอบในปีหน้าครับ)

ระหว่างที่ยังไม่มีวัคซีน สถานการณ์ของหลายๆประเทศ ยังอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้า คลายไม่ออก เดินหน้าได้หนึ่งก้าวต้องถอยหลังถึงสามก้าว! (คือมีการระบาดระลอกสอง หลังจากผ่อนคลาย)

ไทยเองก็เช่นกัน ยังคงอยู่ในจุดที่เฝ้าระวัง ถึงจะผ่อนคลายก็เฉพาะกิจกรรมภายในประเทศ แต่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ยังไม่อาจผ่อนคลาย เพราะถ้าปล่อยให้คนต่างประเทศเข้ามาโดยไม่ควบคุมการระบาดระลอกสองมาแน่และจะมาแบบหนักหน่วงรุนแรงจนเอาไม่อยู่

ขอย้ำปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับทุกธุรกิจ

ถ้ายังไม่มีวัคซีนป้องกันและตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังเพิ่มไม่หยุด และแถบเอเซียใกล้เคียงทั้ง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่กลับมาระบาดรอบสองและยังเอาไม่อยู่

ธุรกิจในไทยยังต้องอยู่ในสภาวะชะงักชะงันไปอีกนานพักใหญ่!

Part 2. สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว...กำลังเป็นอยู่...และกำลังจะเกิดขึ้นต่อเนื่องคือ...

1.ธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลัก ทยอยล้มหายตายจาก (ลองไปเดินถนนข้าวสารที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ และแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่และในตัวเมืองท่องเที่ยวทางภาคใต้ ก็จะพบคำตอบที่ร้านค้าในตัวเมืองเหล่านี้ ทยอยปิดกิจการเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ)

มีทางเลือกทางรอดไม่มากสำหรับธุรกิจนี้ ถ้าไม่สามารถปรับตัวสร้างจุดขายให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศแทนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็ต้องเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น เพราะถ้าจะรอนักท่องเที่ยวต่างชาติ คงยากเพราะอีกนานกว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

  1. ส่วนธุรกิจที่รองรับการท่องเที่ยว“ภายในประเทศ” ยังพอไปได้ แต่ไปได้แบบกระท่อนกระแท่น และต้องลุ้นไม่ให้มีการระบาดรอบสอง
  2. ธุรกิจอื่นๆ ที่เป็น SME ที่ขาดสภาพคล่อง ทยอยล้มหายตายจากเนื่องจากขาดสภาพคล่อง และมีน้อยรายมากที่พึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารได้จากมาตรการของภาครัฐ เพราะธนาคารก็ระมัดระวังมากในการปล่อยสินเชื่อให้แต่ละรายเพราะกลัว NPL

Part 3. เรื่องของปัจจัยซ้ำเติม....

4.วิกฤติศรัทธาของประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากคดีสะท้านเมืองที่อัยการและตำรวจทำให้ผู้ต้องหาที่รวยขับรถชนตำรวจตายกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ (แต่ถ้าเป็นคนจนผิดหรือพลาดเพียงเล็กน้อยก็ถูกจับเข้าคุกจนล้นคุก!)

ปัญหาเรื่องใหญ่ขนาดนี้เกิดจากระบบอุปถัมภ์ที่บ่มเพาะสังคมไทยมานานจนเกิดเป็นระบบ “คนรวย คนมีอำนาจ ทำอะไรก็ไม่ผิดในประเทศไทย!”

เรื่องใหญ่เรื่องนี้นอกจากจะส่งผลให้เกิดวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรงกับตำรวจและอัยการแล้วยังส่งผลกระทบไปสู่วิกฤติศรัทธาของนายกในฐานะผู้นำรัฐบาล...เพราะเรื่องนี้ไม่ว่าจะฝ่ายชังหรือฝ่ายเชียร์รัฐบาล ก็รับกับเรื่องนี้ไม่ได้!

ถือเป็นปัญหาที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลอย่างยิ่ง อุตส่าห์นำพาประเทศฝ่าวิกฤติไวรัสโควิดมาได้ขนาดนี้จนได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก ต้องระวังอย่าให้ตกม้าตายในเรื่องอื่นๆที่กำลังเผชิญ.

Part 4. เรื่องการเมือง..ส่งผลกับการค้าการขาย!

อย่างที่เขียนไปในตอนที่แล้ว... โฉมหน้า ครม.ที่ปรับ ถ้าออกมาขี้เหร่ รัฐบาลเหนื่อยแน่ เพราะต่อให้ ครม. ที่ปรับออกมาดูดี ก็ยังไม่ง่ายที่จะรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่จะส่งผลรุนแรงในไตรมาสสามของปีนี้ ตัวเลขการปิดกิจการ การปลดพนักงานของบรรดาโรงงานยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเงินที่ภาครัฐอัดฉีดให้ประชาชนหลายๆกลุ่ม ก็ทยอยหมดไป หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรจะสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่สาม ก็หวังว่า ขุนคลังและรัฐบาลจะฝ่าฟันช่วงนี้ไปให้ได้

ม็อบของนิสิตนักศึกษาทยอยออกมาขย่ม เขย่าและได้แนวร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาความไม่พอใจ

ของหลายๆเรื่องที่บางเรื่องก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแต่ก็ต้องโดนเหมารวมไปด้วยเป็นเรื่องธรรมดา

Part 5. อยู่ให้ถึงสิ้นปี...เพื่อ?

รัฐบาลกว่าจะฝ่าฟันสถานการณ์เหล่านี้ให้ถึงสิ้นปีก็ถือว่าเหนื่อย แต่ที่เหนื่อยยิ่งกว่าคือภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่สายป่านใกล้หมด (ส่วนที่หมดก็ปิดกิจการไปแล้ว!)

ถ้าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางบางธุรกิจที่เจอผลกระทบมาครึ่งปี แล้วสามารถอดทน ฝ่าฟันรอดไปได้ถึงสิ้นปีนี้ ที่น่าจะเป็นจุดตกต่ำสุดของสภาวะเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มจะค่อยๆดีขึ้นในต้นปีหน้าได้ ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ จึงเป็นช่วงที่ทบทวน ปรับแต่ง Re-Think & Re-Work ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและข้อจำกัดในเรื่อง ทุน คน สินค้า-บริการ ทุกทรัพยากรที่แต่ละบริษัทมี.. ที่จะเป็นทางรอดในช่วงเวลาที่เหลือของปี เพื่อให้ปีหน้าเป็นปีที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางใหม่ๆครับ