ภาครัฐแห่งอนาคตยุคหลังโควิด-19

ภาครัฐแห่งอนาคตยุคหลังโควิด-19

ทุกประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในศตวรรษที่ 21 ทั้งการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันทางเทคโนโลยี ความท้าทายทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จนมาถึงวิกฤตโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงไปทั่วทุกพื้นที่

          ความท้าทายและวิกฤตใหม่ทำให้ประชาชนมีความต้องการและความคาดหวังใหม่ๆ ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ซึ่งส่งผลเร่งให้ภาคธุรกิจได้ปรับตัวและตอบสนองอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพที่สร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ไปจนถึงองค์กรธุรกิจเดิมที่ต้องปรับโฉมหน้าสู่โลกยุคใหม่กันอย่างรวดเร็ว

ความคาดหวังจากประชาชนก็ส่งผลต่อภาครัฐเช่นกันทั้งในรูปแบบของความต้องการนโยบายที่ตอบโจทย์ชีวิตประชาชนที่หลากหลาย หรือความต้องการบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็วและเข้าถึงง่ายเช่นเดียวกับที่ได้รับจากบริการของเอกชน ภาครัฐในอนาคตจึงต้องปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจรวมถึงการออกแบบโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานใหม่

สำหรับในต่างประเทศนั้น แนวคิดองค์กรภาครัฐในอนาคตมีรูปแบบต่างๆ ที่มีการนำเสนอออกมา โดย WEF มองว่าภาครัฐในอนาคตควรจะ

(1) Flatter หน่วยงานมีลำดับชั้นการบังคับบัญชาหรือตัดสินใจลดน้อยลง โดยการเปิดให้พลเมืองมีส่วนร่วม (citizen engagement) ลดระยะห่างระหว่างภาครัฐและประชาชนผ่านสื่อสังคม โทรศัพท์มือถือ และเครื่องมืออื่นๆ ปรับระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ลดลำดับชั้นระหว่างการบริหารงานขั้นสูงและฝ่ายปฏิบัติการ ปรับกระบวนการตัดสินใจให้กระบวนการตัดสินใจตั้งอยู่บนฐานของข้อมูล ปรับลดขั้นตอนการตัดสินใจลง และทำงานร่วมกันทั้งภายในรัฐบาลและระหว่างรัฐ เอกชนและประชาชน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายที่หลากหลาย

(2) Agile หน่วยงานมีความคล่องตัว กระฉับกระเฉง ว่องไว องค์กรภาครัฐในอนาคตจะต้องมีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการปรับตัวสูง องค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องสามารถจัดโครงสร้างองค์กรให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างรวดเร็ว สามารถจัดรูปแบบและคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตอบสนองความท้าทายได้ทันการณ์ ความคล่องตัวขององค์กรภาครัฐในอนาคตนั้นรวมถึงความสามารถในการปรับโครงสร้างองค์กร และปรับกระบวนการทำงานขององค์กรได้ เช่น สามารถยกเลิกหรือยุบองค์กรตัวเองได้ และจัดใหม่เพื่อสนองภารกิจใหม่

(3) Streamlined ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย องค์กรภาครัฐในอนาคตต้องสามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างทันสมัย ประหยัด มีประสิทธิภาพ ใช้การแบ่งปันทรัพยากร เช่น การบริหารบุคลากรร่วมกัน จัดบริการร่วมกัน และใช้เทคโนโลยีร่วมกัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานได้บรรลุตามพันธกิจอย่างมีประสิทธิผลและมีนวัตกรรม

(4) Tech-enabled มีความเก่งด้านเทคโนโลยี องค์กรภาครัฐในอนาคตต้องมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีและขีดความสามารถของบุคลากรในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กรอบการทำงานทั้งในด้านนโยบาย กฎระเบียบ และกระบวนการทำงานต่างๆ ต้องสามารถออกแบบปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความสอดคล้องกับพลวัตของโลก มีความสามารถตอบสนองการทำงานแบบเครือข่าย ความร่วมมือ การใช้สารสนเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ องค์กรรัฐจะต้องเปลี่ยนจาก “องค์กรรัฐสำหรับประชาชน” ให้กลายเป็น “องค์กรภาครัฐที่ร่วมพัฒนากับประชาชน” เปลี่ยนจาก “โครงสร้างองค์กรแบบแท่งไซโล” ให้กลายเป็น “องค์กรแบบเครือข่าย”  เปลี่ยนจาก “องค์กรภาครัฐที่ใหญ่” ให้กลายเป็น “องค์กรที่มีขนาดเล็ก ยืดหยุ่น และมีการขับเคลื่อนให้บรรลุวัตถุประสงค์”

เปลี่ยนจาก “ผู้ให้บริการ (service provider) ให้กลายเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกในการบริการ (service facilitator)” เปลี่ยนจาก “เจ้าของปัจจัยผลิตและกระบวนการ” ให้กลายเป็น “เจ้าของผลลัพธ์ร่วมกันกับประชาชน”

เปลี่ยนจาก “การวัดผลงานที่ผลผลิต” ให้กลายเป็น “การวัดผลงานจากการสร้างผลกระทบต่อประชาชน” และเปลี่ยนจาก “การบังคับใช้กฎหมาย” ให้กลายเป็น “การสร้างความร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ด้วยความไว้วางใจ”

           องค์กรภาครัฐในอนาคตจึงต้องเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (citizen-centricity) มีความชัดเจนในวิสัยทัศน์และพันธกิจ ประชาชนจะไม่ใช่แค่ลูกค้าผู้รับบริการจากภาครัฐ แต่เป็นหุ้นส่วน (partner) เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ (collaborator) และผู้ร่วมผลิต (co-producer)

นอกจากนี้ หน่วยงานจะต้องมีทั้งประสิทธิภาพภายในและประสิทธิภาพการให้บริการภายนอก มีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ให้บริการได้อย่างมีประสิทธิผล มียุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการสร้างการเติบโตและการพัฒนาไขว้กันระหว่างสาขาต่างๆ กันมากขึ้น เนื่องจากวาระการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบองค์รวม

คุณสมบัติหลักขององค์กรภาครัฐและข้าราชการแห่งอนาคตจึงต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติสำคัญ คือ มีนวัตกรรมการทำงาน มีความสามารถในการทำงานเชิงสร้างสรรค์ มีแนวคิดและรูปแบบการทำงานบริการ และทำให้มีผลกระทบที่ดีในวงกว้าง มีความคล่องตัว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลง สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตามสถานการณ์ ทั้งในเชิงการปฏิบัติการ และการตอบสนองเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำงานร่วมกันข้ามหน่วยงาน ข้ามประเทศ สามารถทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ได้ มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติการและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น และมีความน่าเชื่อถือและสามารถไว้วางใจได้

องค์กรภาครัฐในอนาคตจึงมีความท้าทายที่สูงมากและต้องมีการปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรองรับกับความท้าทายในด้านต่างๆ ที่หลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น คุณสมบัติหลักๆ ขององค์กรภาครัฐจะใกล้เคียงกับองค์กรภาคเอกชนสมัยใหม่มากขึ้น แต่แตกต่างที่การส่งมอบนโยบายและบริการที่เป็น “บริการสาธารณะ” (Public Policy and Public Service) และหัวใจขององค์กรภาครัฐในอนาคตก็คือความสามารถในการส่งมอบนโยบายที่ดี ให้กับประชาชนได้ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา

โดย.... 

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/