หัวใจ(ขบวนการ)ผู้หญิงอยู่ที่ไหน

หัวใจ(ขบวนการ)ผู้หญิงอยู่ที่ไหน

หัวใจหญิง 3 พันล้านคนของโลกเต้นตุบๆอยู่ในวงจรเศรษฐกิจการดูแลเอาใจใส่(care economy)

ทั้งในส่วนดูแลชีวิตคนในครอบครัว (private)และดูแลชีวิตคนในพื้นที่สาธารณะ (public)

งานดูแลอย่างแรกไม่มีและไม่ได้ค่าจ้าง (unpaid labor ) ในขณะที่งานดูแลอย่างหลังมีและได้ค่าจ้าง ( paid labor)

ประชากรสูงอายุในโลกปัจจุบันเป็นเหตุให้เศรษฐกิจดูแลเอาใจใส่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ   สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งมาเป็นตัวเร่ง

เพียง 3 เดือนหลังโรคระบาด งานดูแลรักษาพยาบาลในรูปแบบต่างๆ ได้ค่าจ้างเพิ่มทันที   

ไม่กี่วันคล้อยหลังบุคลากรสาธารณสุขฝรั่งเศสเดินขบวนเรียกร้องปฏิรูปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนายมาครง ประกาศเพิ่มค่าจ้างเงินเดือนบุคลากรงานรักษาพยาบาลทันทีก่อนสิ่งอื่นใดในการปฏิรูปสาธารณสุขซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง

หญิงไทยอาชีพงานสาธารณสุขก็ได้เฮเช่นกัน มีประกาศ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะบรรจุลูกจ้างสาธารณสุขเป็นข้าราชการลอตแรก  20,000  ตำแหน่งหลังจากที่ร้องขอมานาน  ข้ออ้างสูตรสำเร็จที่รัฐบาลหลายชุดใช้ตลอดมาว่าต้องทำตามนโยบายจำกัดจำนวนข้าราชการต้องตกไปเมื่อมีข้อยกเว้นจำเป็นเร่งด่วนในวิถีชีวิตใหม่ "นิว นอร์มอล"

ในอังกฤษ เมื่อ 24 ก.ค  สหภาพแรงงานพยาบาลประท้วงนายกฯนายบอริส  จอห์นสันที่ยกเว้นอาชีพพยาบาลในการขึ้นค่าจ้าง 900,000 ตำแหน่งในอาชีพบริการสาธารณะ เช่น แพทย์  ครู  ตำรวจ ฯลฯ  ด้วยเหตุผลว่าได้ขึ้นค่าจ้างพยาบาลหนึ่งระลอกมาแล้วตามข้อตกลงเดิมโดยระลอก 2 จะทำปีหน้า สหภาพฯประกาศผลสำรวจพบว่าจะมีพยาบาลเลิกอาชีพมากขึ้นเพราะค่าจ้างไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงความลำบากช่วงสถานการณ์โควิด-19 เลย ขณะนี้ตำแหน่งพยาบาลว่างอยู่ถึง 50,000 ตำแหน่ง

นวัตกรรม "อาสาสมัคร" สาธารณสุขของไทยน่าจะเป็นแรงบันดาลใจ ให้ได้ทบทวนว่าในโลกที่รังแต่จะหมุนด้วยเงินตราทุนนิยมจนทำให้การดูแลคนดีๆ รวมทั้งคนป่วยในประเทศที่ 'พัฒนา' ถูกคำนวณเป็นเม็ดเงินค่าจ้างกันหมดแล้วนี้  ที่จริงคนส่วนใหญ่จะมีสุขภาพดีได้ต้องให้คนและชุมชนเป็นเจ้าของสุขภาพตนเอง รู้วิธีดูแลซึ่งกันและกัน แล้วถ้าจะไปสู่มือแพทย์โดยที่รัฐมีนโยบายสุขภาพถ้วนหน้า   ทั้งในยามสงบและยามโรคระบาด  ก็ต่อเมื่อมีการดูแลการป้องกันและ "กลั่นกรอง"ปัญหาสุขภาพที่ยุ่งยากจริง ๆเท่านั้นจากฝีมือบุคลากรและเทคโนโลยีข้อมูลสุขภาพ เช่น Big Data และ  AI ที่จะก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ  

แม้อยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์ การรู้จักดูแลตนเองได้รับการดูแลถูกวิธีที่บ้านและในชุมชนก็จะช่วยรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

โอกาสมาถึงแล้วที่จะสร้างวาระเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในเศรษฐกิจดูแลเอาใจใส่ซึ่งเป็นอุดมการณ์ระดับรากเหง้าดั้งเดิม(radical) ของขบวนการผู้หญิง นักเศรษฐศาสตร์สายสิทธิสตรีสี่ห้าทศวรรษที่ผ่านมาเน้นย้ำให้รัฐและโลกตระหนักถึงแรงงานหญิงในเศรษฐกิจดูแลเอาใจใส่   

เช่น  คำนวณและแสดงมูลค่าแรงงานหญิงที่ไม่ได้ค่าจ้างให้ปรากฏใน มูลค่าผลิตภัณฑ์รวม(จีดีพี) ซึ่งบางประเทศทำแล้ว   การยกระดับงานและค่าจ้างในเศรษฐกิจอาชีพดูแลเอาใจใส่โดยเฉพาะประเภท "งานบ้าน"   อย่างเช่นรัฐสวัสดิการในยุโรปเหนือจัดสรรค่าจ้าง "งานบ้าน" ให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านด้วยเพื่อจะได้ลดภาระผู้หญิง(ที่ต้องเหนื่อยสองชั้นทำงานทั้งนอกบ้านในบ้าน)และเพื่อยกระดับเพิ่มค่าจ้างอาชีพทำงานบ้านพร้อมกันไปในตัว จัดสรรงบจ้างผู้ดูแลทารกและเด็กให้คุณแม่ผู้ทำงานนอกบ้าน เป็นต้น นับว่าเป็นการจัดรัฐสวัสดิการที่ "เยียวยาแก้ไข" ทางโครงสร้างซึ่งไม่ให้ค่า(จ้าง)และคุณค่างาน 'ผู้หญิงที่ดำรงมาแสนนานในโครงสร้างทุกสังคม เป็นตัวอย่างในการสร้างความเสมอภาคที่สัมพัทธ์กับคุณภาพ ซึ่งดีกว่าเพียงให้เงินรัฐสวัสดิการในกรอบเดิมๆ อาทิ เช่น เพิ่มกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น

ถึงเวลาแล้วเช่นกัน นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ละเลยแนวคิดเศรษฐศาสตร์สายสิทธิสตรีจะได้มาผนึกกำลังผลักดันสร้างเศรษฐกิจดูแลเอาใจใส่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกด้าน  ช่วยกันคิดค้น "นวัตกรรม" ที่เหมาะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลแท้จริงถึงคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงคือต้องเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง แก้ไขสิทธิ "เสมอภาค" ที่สัมพัทธ์กับคุณภาพ ไม่สัมพัทธ์อยู่แต่กับจำนวน เช่น ขึ้นค่าจ้าง  เงินเดือน การบรรจุตำแหน่ง ฯลฯ ในโครงสร้างเศรษฐกิจเดิม  การใช้ พ.ร.บ.เท่าเทียมระหว่างเพศ เรียกร้องโควตาผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหาร ในคณะรัฐมนตรี ในสถาบันการเมืองหรือในคณะกรรมการต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ซึ่งล่าสุดคือคณะกรรมการปฏิรูป ฯลฯ

ทุกประเทศ กลุ่มด้อยโอกาสถูกมองข้ามไม่ได้มีแต่ผู้หญิง  ยังมีชนกลุ่มน้อย  มีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

ในอินเดีย ขบวนการผู้หญิงเสนอใช้ระบบโควตาที่คำนึงถึงกลุ่มด้อยโอกาสดักดานจากระบบวรรณะด้วย

สังคมไทยไม่มีระบบวรรณะ แต่มีกลุ่มคนถูกทำให้จน(ดักดาน) ระบบโควตาควรเปิดโอกาสให้ เช่นครอบครัวเรือนหมื่นที่ถูกทำลายพื้นที่อาศัยทำกินเนื่องจากสร้างเขื่อนตั้งแต่สมัยแรกๆ หาดูชมได้จากหนังสารคดีชั้นยอดเรื่อง "ทองปาน"และอีกหลายเขื่อนต่อมา ทำให้เกิด "สมัชชาคนจน" ยืดเยื้อถึงวันนี้  มีผู้นำหญิงหลายคนเสียด้วย เช่น สมปอง เวียงจันทร์ อุบลราชธานี เจ้าของวาทะ " น้ำท่วมปากมูนก็เหมือนน้ำท่วมยุ้งฉางพวกเรา เราไม่ใช่เสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง แต่เราคือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ"  แม่ผา กองธรรม จากเขื่อนราศีไศล เป็นต้น

ขอลงท้ายแสดงความยินดีประธานศาลฎีกาคนใหม่ ลำดับที่ 46 ของประเทศที่(กว่าจะมา)เป็นผู้หญิงคนแรกด้วยความสุกงอมทุกปัจจัย มิใช่เพียงเพราะเป็นหญิง เมทินี  ชโลธร ผู้ซึ่งในตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา มีบทบาทสำคัญฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามนโยบายของประธานศาลฎีกาผู้เพิ่งพ้นตำแหน่งไป