ฟื้นฟูโควิด-19 ด้วยกระแส “กรีน”

ฟื้นฟูโควิด-19 ด้วยกระแส “กรีน”

การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้เกิดความตื่นกลัวต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพของโลก

จนกลบกระแสความตื่นกลัวต่อภัยคุกคามด้านสภาวะแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ถือได้ว่าเป็นความตื่นกลัวที่สำคัญก่อนการเกิดโควิด-19 ไปได้โดยสิ้นเชิง

ความพยายามในการฟื้นฟูสภาพภายหลังการระบาดของโควิด-19 และความพยายามในการฟื้นฟูสภาพสภาวะแวดล้อมของโลก มีความเหมือนและความแตกต่างกันที่น่าสนใจหลายประการ

ความเหมือนที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ ผลกระทบที่มีต่อระบเศรษฐกิจและสังคมของโลก เช่น การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิต การค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ การคมนาคมและการสัญจรอย่างอิสระเสรี และการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน

ตลอดไปจนถึงเรื่องของความร่วมมือกันภายในสังคมที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในลักษณะของจิตอาสา การแสดงความเห็นใจและช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอหรือเดือดร้อนมากกว่า

แต่จากลักษณะของวิกฤติจากการเกิดโรคระบาด ที่เป็นเหตุการณ์ระยะสั้น เปรียบเทียบกับวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของโลก ที่จะใช้เวลาในการทำให้โลกได้เห็นผลกระทบที่อาจรุนแรงกว่าการเกิดโรคระบาดอาจกินเวลาไปได้นานถึงผู้คนในช่วงชีวิตต่อไปในระยะยาว

ดังนั้น อุทาหรณ์ในความพยายามที่จะฟื้นฟูสภาพหลังการเกิดโควิด-19 จึงอาจทำให้แนวทางการฟื้นฟูสภาวะแวดล้อมของโลก ที่มีความพยายามกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ไม่ค่อยจะเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเท่าไร ต้องเปลี่ยนไป

และเกิดการศึกษาเรียนรู้วิธีการที่ประเทศต่างๆ และวิธีการที่ผู้นำประเทศนำมาใช้ในการป้องกัน ยับยั้ง และฟื้นฟูสภาพ ให้กับประเทศของตนเอง จากการได้เห็นผลลัพธ์ของมาตรการและวิธีการต่างๆ ที่เห็นผลได้ทันทีในระยะสั้น

ประการแรกสุด ได้แก่ ทัศนคติและแนวคิดของผู้นำประเทศ ที่จะนำไปสู่มาตรการและการปฏิบัติที่อาจทำให้ทั้งประเทศแย่ลง หรือดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จาก การยึดมั่นต่อหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือยึดมั่นต่อความเชื่อและความเข้าใจของตนเอง ของผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด และการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย

ซึ่งได้ผลอย่างดีในกรณีของโควิด-19 และอาจจะได้ผลดีในกรณีของการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของโลกได้เช่นกัน หากนำแนวทางของการดำเนินการระยะสั้น ไปประยุกต์ใช้กับแนวทางการดำเนินการระยะยาว ดังที่เห็นได้ชัดเจนว่า อากาศในเมืองใหญ่สะอาดขึ้น สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์ใหญ่น้อยที่ถูกรบกวนจากระบบเศรษฐกิจ สามารถเริ่มกลับมาอยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติ ทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาดขึ้น ในช่วงที่มนุษย์ไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมที่ทำร้ายต่อสภาวะแวดล้อมของโลกได้อย่างอิสระเสรี

วิธีการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างมากมายมหาศาล การจัดลำดับความเร่งด่วน และความจำเป็นสำหรับกลุ่มคนตามสภาพและผลกระทบที่เกิดขึ้น

การปฏิบัติเพื่อป้องกัน หลีกเลี่ยง และแสวงหาทางเลือกในการฟื้นฟูสภาวะแวดล้อมที่กำลังจะสูญเสีย หรือสูญเสียไปแล้ว อาจใช้โมเดลการจัดลำดับความเร่งด่วนและความจำเป็น คล้ายกับการแก้ปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 ได้เช่นกัน

อีกแนวคิดหนึ่ง ได้แก่ การนำหลักการของ กรีนอีโคโนมี หรือ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว มาใช้สำหรับการฟื้นฟูสภาพของเศรษฐกิจและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานจากน้ำมัน เป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดกว่า ในขณะที่ภาครัฐ ได้ตัดสินใจใช้เงินลงทุนมหาศาล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็ควรจะพิจารณาการลงทุนให้กับการสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียวไปในเวลาเดียวกัน

ซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อโลก กลับคืนมาได้มากกว่าหลายเท่าทวีคูณ

ครอบคลุมไปถึงเรื่องของพลังงานที่ใช้ในการคมนาคม การเดินทาง ที่ใช้พลังงานสีเขียวให้มากขึ้น การลงทุนของภาครัฐ อาจพิจารณาถึงเส้นทางเดินเท้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางได้มากขึ้น เส้นทางการใช้ยานพาหนะที่ไม่อาศัยพลังงาน เช่น จักรยาน และอาจรวมไปถึงการส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น

ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และการมองอนาคตระยะยาวของผู้นำหรือผู้บริหารองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ที่เริ่มจะมองเห็นได้ว่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลกแบบทำลายล้าง อาจนำไปสู่วิกฤติในระยะยาว ที่อาจใหญ่หลวงกว่าโควิด-19

โดยไม่ต้องรอจนถึงวินาทีสุดท้าย ที่จะแก้ไขอย่างไร ก็ไม่ทันเสียแล้ว!