New Normal หรือ Old Normal?

New Normal หรือ Old Normal?

จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งระดับองค์กรและบุคคลในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่ดี และคาดหวังกันว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไป แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นจริง กลับพบว่าหลายอย่างเริ่มกลับไปสู่สิ่งเดิมๆ เหมือนก่อนยุคโควิด จนเริ่มมีการล้อเลียนกันแล้วว่า จริงๆ แล้ว New Normal ที่ตื่นเต้นกันนัก เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็กลับไปสู่ Old Normal อยู่ดี

โควิดทำให้ทั้งองค์กรและบุคคลจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในระดับองค์กรนั้น หลายๆ แห่งที่เคยรีๆ รอๆ กับการทำ Digital Transformation ก็เร่งเครื่องในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างเต็มที่ หลายองค์กรต้องนำกลยุทธ์หรือแผนงานที่คิดไว้ว่าจะใช้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้ามาใช้ทันที ขณะเดียวกันทุกองค์กรต้องปรับวิถีในการทำงาน การบริหารและดูแลบุคลากรใหม่ ส่วนในระดับบุคคลนั้น ทุกๆ คนให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยและการออกกำลังกายมากขึ้น ปรับวิธีการทำงาน การสื่อสาร มาสู่ความเป็นออนไลน์มากขึ้น หันมาให้ความสนใจต่องานอดิเรกที่เคยละเลยและหาอาชีพเสริมรายได้กันมากขึ้น ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดนั้นสำเร็จได้ เนื่องจากโควิดเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รูปแบบและวิธีการเดิมๆ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป และทุกคนเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด การเปลี่ยนแปลงจึงได้เกิดขึ้น เหมือนที่ตำราด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายได้ระบุไว้ว่าขั้นแรกของการเปลี่ยนแปลงที่ดีคือทำให้เกิดความจำเป็นและความเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

ผลจากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ทำให้เริ่มวาดฝันกันว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว New Normal หรือความปกติใหม่ ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร? องค์กรในรูปแบบใหม่ สังคมและการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่จะมีลักษณะอย่างไร? อย่างไรก็ดี สิ่งที่มักจะลืมคิดไปก็คือในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เห็นถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง อันนำไปสู่การริเริ่มหรือทำสิ่งใหม่ๆ เท่านั้น แต่จะต้องสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่เกิดขึ้นคงอยู่และเป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วย

ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรหรือทุกคนจะละเลยต่อการเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่เกิดขึ้นและกลับไปสู่วิถีแบบ Old Normal กันทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ยังมีองค์กรชั้นนำหลายแห่งของไทย ที่ปรับนโยบายการทำงานของพนักงานให้เป็น Hybrid workplace และ Work from anywhere อย่างถาวร เนื่องจากพบว่าขวัญและกำลังใจของพนักงานดีขึ้น ขณะเดียวกันผลิตภาพก็ไม่ได้ลดลง หรือ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งก็นำนโยบาย Blended learning ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์และการเรียนในห้องเรียนมาใช้

แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายองค์กรที่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายก็กลับไปสู่ชีวิตรูปแบบเดิม ความตื่นเต้นในเรื่องดิจิทัลจางหายไป ในระดับบุคคล ก็จะพบเห็นคนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย (หรือใส่ไว้ใต้คาง) กันมากขึ้น การเว้นระยะห่างก็เริ่มลดน้อยลง และเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์โควิดเป็นไปในทางดีขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรมหลายๆ ประการที่เคยเกิดขึ้นก็จะค่อยๆ สลายกลับสู่พฤติกรรมแบบเดิมๆ ก่อนยุคโควิด

สถานการณ์โควิดถือเป็นบทเรียนด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่น่าสนใจ ในองค์กรหลายแห่งก็ใช้โอกาสจากโควิดนี้นำสู่การเปลี่ยนแปลง และสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ต่อไป ได้แม้ว่าโควิดจะเริ่มคลี่คลาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรในระยะยาว แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง บางองค์กรก็เพียงแค่เปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดในระยะสั้น แต่ไม่สามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่เกิดขึ้นได้ถูกฝังรากเข้าไปในองค์กรอย่างแท้จริง

สิ่งที่น่าเสียดายคือ New Normal หลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่สามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงฝังเข้าไปและอยู่ไปอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็จะกลับไปสู่ Old Normal