ทางออกจากวิกฤติสภาพคล่องของ SMEs ไทย

ทางออกจากวิกฤติสภาพคล่องของ SMEs ไทย

ช่วงนี้มีผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่ม ออกมาส่งสัญญาณปัญหาเศรษฐกิจไทยกันหลายมุมมอง ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในการทำความเข้าใจกันมากขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศปรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะหดตัวเท่ากับ -8.1% เพราะคาดว่าภาคส่งออกจะหดตัว -10.3% มีการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชน -3.6% และการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว-13% จึงกล่าวได้ว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยนั้นเกือบจะดับหมดทุกเครื่อง ยกเว้นการลงทุนของภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 5.8% ในขณะเดียวกัน IMF ก็ได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ว่า จะหดตัวถึง -4.9% อันเป็นผลจากการระบาดไปทั่วโลกของเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ความจำเป็นในการปิดประเทศและการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็ได้ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เคยเข้ามาใช้บริการท่องเที่ยว โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารและสถานบันเทิงที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งระบบนั้นพากันหายไปหมดเป็นเวลาหลายเดือน ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้สถานประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการและเลิกจ้างคนงานเพราะขาดสภาพคล่อง ถึงแม้ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือในรูปซอฟต์โลน SMEs ที่มีวงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

ล่าสุด กลุ่ม CARE ออกแถลงการณ์ เรื่องชุบชีวิตเศรษฐกิจไทย อัดฉีด SME 2 ล้านล้าน ลดดอก ปลอดต้น 4 ปี โดยเสนอว่า ควรมีการออกสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปลอดการชำระหนี้ 4 ปี และขยายขอบเขตให้ SMEs ที่ไม่ใช่ลูกหนี้สถาบันการเงินให้เข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ประมาณ 1 ล้านรายดำเนินธุรกิจและยังจ้างพนักงานกว่า 10 ล้านคนต่อไปได้ กลุ่ม CARE เสนอให้ ธปท.ปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์(ธ.พาณิชย์)ที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และให้รัฐบาลรับความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ดังกล่าวเกือบทั้งหมด โดยหากมีความเสียหายก็ให้รัฐบาลสามารถออกเป็นพันธบัตรให้ ธปท.ซื้อที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลาใช้คืน 100 ปี เพื่อชดใช้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

ผู้เขียนมีความเห็นว่า แม้ข้อเสนอข้างต้นจะเป็นความปรารถนาดีต่อ SMEs และเศรษฐกิจไทย แต่ก็มีปัญหาในสาระสำคัญอย่างน้อย 2 ประการหลักๆ คือ (1) แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะให้ SMEs กู้ผ่านระบบธ.พาณิชย์ เพื่อหวังให้ธ.พาณิชย์ เป็นมืออาชีพในการกลั่นกรองคัดเลือก SMEs ที่ดีมีความสามารถให้ได้รับเงินกู้นี้ก็ตาม แต่เนื่องจากภาครัฐต้องเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงจากการปล่อยกู้เกือบทั้งหมด จึงไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะทำให้เชื่อได้ว่าธ.พาณิชย์ จะมีความระมัดระวังในการคัดเลือก SMEs ที่สมควรได้รับสินเชื่อ จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่า ภาระหนี้เสียในอนาคตคงจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าที่สูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ และ (2) การที่กลุ่ม CARE เสนอว่า “หากมีความเสียหายจากการปล่อยกู้รัฐบาลสามารถออกเป็นพันธบัตรให้ ธปท. ซื้อที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปีระยะเวลาใช้คืน100 ปีเพื่อชดใช้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” นั้น หากพิจารณาเพียงผิวเผิน ก็ดูเหมือนว่าวิธีที่นำเสนอมา หากเกิดความเสียหาย ก็จะไม่เป็นภาระทางภาษีของประชาชนในอนาคต เพราะสามารถใช้วิธีออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมา ชดเชยความเสียหายให้กับสถาบันการเงินในอนาคตได้ ซึ่งความคิดในลักษณะนี้ น่าจะขัดกับหลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “There is no free lunch” ทั้งนี้เพราะเหตุผลที่ประชาชนทั่วไปหรือ ธปท. จะยินดีรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลในราคาและเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดดังกล่าว ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าคนซื้อเหล่านั้นเชื่อว่า รัฐบาลจะสามารถใช้เงินทุนที่สะสมไว้เพื่อการณ์อื่นมาใช้ชดใช้ความเสียหายที่อาจเกิดจากหนี้เสียหรือไม่ ก็สามารถเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นในอนาคตเพื่อมาใช้ไถ่ถอนคืนพันธบัตรพร้อมกับจ่ายดอกเบี้ยที่แท้จริงนั่นเอง (ซึ่งจะประมาณการได้ตามหลักการของ Ricardian Equivalence)

ดังนั้น ทางออกของปัญหานี้ ที่ควรจะเป็นและสอดคล้องตามหลักเศรษฐศาสตร์มากกว่า (นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่มีอยู่) ก็คือการทำให้ระบบ ธ.พาณิชย์ มีแรงจูงใจที่จะปล่อยกู้เพิ่มสภาพคล่องให้แก่ SMEs อย่างรอบคอบ(ด้วยเงินทุนของ ธ.พาณิชย์เอง หรือร่วมกับเงินกองทุนของภาครัฐ) เพราะ ธ.พาณิชย์เหล่านั้นจะได้รับประโยชน์โดยตรงด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของระบบ ธ.พาณิชย์แล้วอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1)ภาครัฐสามารถกำกับชี้นำให้ระบบ ธ.พาณิชย์ไทยมีการปรับลดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากให้แคบลงจนใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่เพราะจะทำให้ ธ.พาณิชย์ทั้งหลายกระตือรือร้นที่จะ“แข่งขัน”ปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง (และปรับโครงสร้างหนี้) ให้กับลูกค้าSMEs ที่ยังมีศักยภาพ มีโอกาสที่จะก้าวผ่านวิกฤติสภาพคล่องในครั้งนี้ (2) ผลที่ตามมาจากการแข่งขันระหว่างธ.พาณิชย์ ที่มากขึ้น ก็จะทำให้ค่าพรีเมียมความเสี่ยง (risk premium) ที่ธ.พาณิชย์บวกเพิ่มในการปลอยกู้แก่ลูกค้า SMEs เมื่อเปรียบกับลูกค้ารายใหญ่ ได้ปรับลดลงมาในระดับที่เหมาะสมอย่างแท้จริง และ (3) ธ.พาณิชย์ในระบบเอง น่าจะเตรียมรับมือกับการไล่ล่าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ (disruptive technology) เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนเพราะต้องแข่งกับธนาคารต่างชาติที่รุกคืบข้ามพรมแดนเข้ามามากขึ้นในอนาคต ธ.พาณิชย์ของไทยจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแนบแน่นกับกลุ่มลูกค้า SMEs จำนวนมากที่มีศักยภาพสูงให้มากขึ้นกว่าที่เคย โดยรวมถึงพวกลูกค้ารายใหญ่ที่พร้อมจะหันไปกู้จากที่ไหนก็ได้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมตัวรับมือกับ New Normal ของการเงินการธนาคารในยามที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดหนี้เสียจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ

โดย...

ศ.ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา

กนิษฐา หลิน