โลกยุคสงครามอุ่น (Warm War Era)

โลกยุคสงครามอุ่น (Warm War Era)

เมื่อปีที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความเรื่อง “10 สงครามอภิมหาอำนาจ” โดยอ้างอิงถึง “วัฏจักรอภิมหาอำนาจ” (Hegemonic Cycle)

ผมได้วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ได้พัฒนามาถึงขั้นที่มีอภิมหาอำนาจใหม่ ก้าวขึ้นมาท้าทายอภิมหาอำนาจเดิม และนำไปสู่ “สงครามอภิมหาอำนาจ” (Hegemonic War)

สงครามอภิมหาอำนาจในแต่ละยุคแสดงออกในรูปแบบที่แตกต่างกัน ต้นศตวรรษที่ 20 สงครามอยู่ในรูปแบบของการใช้กำลังทางทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์เต็มขนาดเข้าห้ำหั่นกันโดยตรง ระหว่างมหาอำนาจและพันธ์มิตร 2 ขั้ว (Bi-Polarity) ในสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งผมเรียกว่า “สงครามร้อน” (Hot War)

ขณะที่สงครามอภิมหาอำนาจในครึ่งหลังของศตวรรษที่ผ่านมา แสดงออกในรูปแบบ “สงครามเย็น” (Cold War) ระหว่างโลกเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐ และโลกคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ซึ่งไม่ใช่การทำสงครามทางทหารโดยตรง แต่เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ความตึงเครียด และการแข่งขันด้านแสนยานุภาพทางทหาร และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนสงครามทางทหารที่เกิดขึ้นมักอยู่ในรูปสงครามตัวแทน เพื่อแพร่ขยายอุดมการณ์และเขตอิทธิพล

แต่สถานการณ์ของสงครามอภิมหาอำนาจในยุคปัจจุบัน แสดงออกในรูปแบบที่แตกต่างจากในอดีต เพราะสงครามที่ปรากฏออกมามีลักษณะที่อยู่ระหว่างสงครามร้อนและสงครามเย็น ซึ่งผมขอเรียกสงครามอภิมหาอำนาจในยุคนี้ว่า “สงครามอุ่น” (Warm War)

สงครามอุ่นเป็นการเผชิญหน้า ความตึงเครียด และการปะทะของอภิมหาอำนาจและพันธมิตร 2 ขั้ว เช่นเดียวกับสงครามอภิมหาอำนาจในอดีต โดยมีอภิมหาอำนาจเดิม คือ สหรัฐ และอภิมหาอำนาจใหม่ที่ก้าวขึ้นมาท้าทาย คือ จีน

ทั้ง 2 อภิมหาอำนาจพยายามแบ่งแยกข้าง (Decoupling) โดยการแผ่ขยายเขตอิทธิพลและสร้างพันธมิตร เพื่อกีดกันและบ่อนทำลายอิทธิพลของขั้วอำนาจตรงข้าม ทำให้เกิดแนวโน้มการแบ่งแยกโลกออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

ตัวอย่างที่ชัดเจนของความพยายามแบ่งแยกข้างของสหรัฐ เช่น การกีดกันเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย และกดดันให้ชาติพันธมิตรทำตามด้วย หรือการออกมาตรการลดการพึ่งพาจีน โดยผลักดันให้บริษัทของสหรัฐ ย้ายฐานการผลิตและการจัดซื้อออกจากประเทศจีน

เช่นเดียวกับจีนที่พยายามแบ่งแยกข้าง โดยใช้ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ความริเริ่มแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiatives) หรือการจัดตั้งกลุ่ม BRICS เพื่อท้าทายอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเงินโลกของสหรัฐ และพันธมิตร

ความแตกต่างของสงครามอุ่นกับสงครามเย็น คือ สงครามอุ่นมีทุกอย่างที่สงครามเย็นมี แต่มีการทำสงคราม ตอบโต้ หรือปะทะกันโดยตรงระหว่าง 2 อภิมหาอำนาจด้วย ซึ่งต่างจากสงครามเย็นที่เป็นเพียงความตึงเครียด หรือการแข่งขันด้านการสะสมอาวุธ แต่ไม่มีการปะทะกันโดยตรง

ขณะที่สงครามอุ่นแตกต่างจากสงครามร้อน คือ สงครามอุ่นมีการทำสงครามโดยตรงเกือบทุกแนวรบ รวมทั้งสงครามตัวแทน ยกเว้นเพียงสงครามทางทหารระหว่างกันโดยตรงเท่านั้นที่ยังไม่เกิดขึ้น ขณะที่สงครามร้อนมีการสู้รบกันโดยตรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะสงครามทางทหาร

ในบทความ “10 สงครามอภิมหาอำนาจ” ผมได้กล่าวถึง 10 แนวรบของสงคราม ประกอบด้วย สงครามการค้า สงครามอัตราแลกเปลี่ยน สงครามเทคโนโลยี สงครามข้อมูลข่าวสาร สงครามสื่อ สงครามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สงครามแนวกั้น/สงครามปิดล้อม สงครามป้องกันภัยคุกคาม สงครามตัวแทนและสงครามทางการทหาร ซึ่งสงครามระหว่างสหรัฐ และจีน ปรากฏเป็นสงครามทุกรูปแบบ ยกเว้นการทำสงครามทางทหารกันโดยตรงของ 2 ประเทศ

ปัจจุบัน สงครามอุ่นยังคงคุกรุ่น มีการปะทะและตอบโต้กันไปมาระหว่างจีนและสหรัฐ อย่างต่อเนื่อง ในแนวรบที่หลากหลาย อาทิ

สงครามเทคโนโลยี : สหรัฐกำลังพิจารณาออก Secure Campus Act เพื่อกวาดล้างการจารกรรมและขโมยทรัพย์สินทางปัญญาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐ โดยนักวิจัยและนักศึกษาจากประเทศจีน

สงครามข้อมูลข่าวสาร : สหรัฐ เรียกร้องให้จีนรับผิดชอบต่อการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ขณะที่จีนอ้างความสำเร็จในการควบคุมการระบาด เป็นโอกาสเสนอความช่วยเหลือประเทศอื่น

สงครามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ : สหรัฐ แสดงท่าทีชัดเจนในการถือหางฝ่ายผู้ประท้วงในฮ่องกง โดยเฉพาะการออกกฎหมาย Hong Kong Human Rights and Democracy Act เพื่อคุ้มครองผู้ประท้วงในฮ่องกง ขณะที่ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงตอบโต้ผู้นำสหรัฐ ว่า 2 มาตรฐานระหว่างการจัดการผู้ชุมนุมในฮ่องกงและในประเทศของตนเอง

สงครามการค้า : สหรัฐ กำลังพิจารณายกเลิก “สถานะพิเศษ” ของฮ่องกง ซึ่งจะทำให้ฮ่องกงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐ เพื่อตอบโต้จีนที่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง ส่งผลทำให้จีนตอบโต้กลับด้วยการสั่งระงับการซื้อสินค้าเกษตรบางรายการจากสหรัฐ

สงครามอัตราแลกเปลี่ยน : จีนพัฒนาและทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล ซึ่งจีนหมายมั่นปั้นมือว่า จะทำให้เงินหยวนถูกนำมาใช้ในการค้าระหว่างประเทศแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ มากขึ้น เพราะความเป็นเงินดิจิทัลทำให้การชำระเงินมีความสะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำกว่า

เหตุที่การแสดงออกของสงครามอภิมหาอำนาจในปัจจุบัน ไม่อยู่ในรูปแบบของสงครามร้อน เป็นผลจากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ทำให้ไม่กล้าที่จะเปิดสงครามทางทหารกันโดยตรง เพราะจะเกิดการสูญเสียรุนแรงกันทั้ง 2 ฝ่าย

โลกจะไม่หันกลับไปสู่สงครามเย็น เพราะโลกาภิวัตน์ทำให้โลกมีความเชื่อมโยงและพึ่งพากันมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ พึ่งพาทั้งจีนและสหรัฐ และทั้ง 2 อภิมหาอำนาจก็พึ่งพากันค่อนข้างมาก ประกอบกับไม่มีความแตกต่างเชิงอุดมการณ์มากเหมือนในอดีต และประเทศต่าง ๆ ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่เด็ดขาดชัดเจนเหมือนยุคสงครามเย็น นอกจากนี้ มหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายยังมีเครื่องมือที่หลากหลายในการบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม และแสวงหาพันธมิตร โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทางทหารเท่านั้น

อย่างไรก็ดี สงครามอุ่นทำให้เกิดระเบียบโลกใหม่ ที่ผมเรียกว่า “Pragmatic World Order” ซึ่งเป็นระเบียบโลกที่เกิดขึ้นจากการตกลงกันเป็นครั้ง ๆ ไป (Deal-Based Order) โดยที่แต่ละประเทศมุ่งผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ ทำให้ระเบียบโลกมีความซับซ้อนและยุ่งเหยิง มีความร่วมมือกันน้อยลง และใช้นโยบายปกป้องเศรษฐกิจภายในประเทศ (Protectionism) มากขึ้น

สงครามอุ่นจึงอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำพาโลกไปสู่สงครามร้อน หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ หากพัฒนาการของความขัดแย้งมีมากขึ้น และมีเหตุปัจจัยและสถานการณ์ที่เอื้อให้เกิดสงครามทางทหาร

โลกจึงจำเป็นต้องหันหน้ามาร่วมมือกันมากขึ้น และสร้างระเบียบโลกที่แบ่งปันและกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึงมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนโลกยุคสงครามอุ่น เป็นโลกที่อบอุ่นและเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น