COVID-19 กระทบเศรษฐกิจยุโรปหนัก

COVID-19 กระทบเศรษฐกิจยุโรปหนัก

ยุโรปนับเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 มากที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก

 แต่ผลกระทบต่อสเถียรภาพทางเศรษฐกิจยุโรปนั้นน่าเป็นห่วง เพราะเศรษฐกิจยุโรปที่ถดถอยและตกต่ำจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างแน่นอน

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและตกต่ำ แต่จะเราถอยและต่ำลงไปแค่ไหน และนานเท่าไหร่นี่สิเป็นคำถามสำคัญ ล่าสุด ได้อ่านบทวิเคราะห์ผลกระทบและพยากรณ์ทางเศรษฐกิจยุโรป ที่นำเสนอโดยคณะกรรมาธิการยุโรปฉบับล่าสุด เม.ย. 2020 จะนำมาเล่าให้ฟังดังนี้

เศรษฐกิจยุโรปจะหดตัวลงถึง 7½% ในปี ค.ศ. 2020 และคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้น 6% ในปี ค.ศ.2021 ประเทศสมาชิกอียูทุกประเทศได้รับผลกระทบอย่างทั่วหน้า และจะเข้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและตกต่ำอย่างแน่นอน

คณะกรรมาธิการยุโรป (เทียบเท่ารัฐมนตรี) ด้านเศรษฐกิจ นาย Paolo Gentiloni กล่าวว่า

ยุโรปกำลังเผชิญกับความช๊อคทางเศรษฐกิจแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนตั้งแต่ยุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)” ในปี ค.ศ. 1929 (หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่ได้ขยายวงไปยังนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย) และยอมรับว่าแน่นอน ส่งผลกระทบต่อความเป็นตลาดร่วมยุโรป และยูโรโซน แต่อย่างไรก็ดี เราสามารถผ่านมันไปได้ด้วยความร่วมมือในระดับยุโรป

วิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อระดับการบริโภคและการใช้จ่ายของผู้บริโภคยุโรป ผลผลิตทางอุตสาหกรรม การลงทุน การค้า การเคลื่อนย้ายของตลาดทุน และระบบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด การวางแผนที่ดีและเป็นไปในทิศทางเดียวกันของประเทศสมาชิกยุโรปในการออกจากการล๊อคดาวน์น่าจะช่วยประคองสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวและชดเชยการความสูญเสียในปีนี้ ได้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2021

อัตราการว่างงานของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป คาดว่าจะพุ่งตัวสูงขึ้นจากอัตรา 6.7% ในปี2019 ไปถึง 9% ในปี 2020 และคาดว่าจะลดลงเหลือ 8% ในปี 2021

ในขณะที่ระดับราคา Consumer prices คาดว่าจะลดลงอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากความต้องการซื้อต่ำและราคาน้ำมันตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจยุโรป อยู่ที่ 0.6% ในปี 2020 และ 1.3% ในปี2021

แม้ยุโรปจะมีทิศทางอัตราหนี้สาธารณะที่ลดลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2014 แค่ในปีนี้คาดการณ์ว่า อัตราหนี้สาธารณะ (public debt-to-GDP) จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนจาก 79.4% ในปี 2019 ขึ้นมาเป็น 95% ในปี 2020 และคาดว่าจะลดลงเหลือ 92% ในปี 2021

แต่อย่าลืม นี่เป็นเพียงการคาดการณ์ เศรษฐกิจจะถดถอยและตกต่ำลงไปอีกแค่ไหนและนานเท่าไหร่ ควบคุมได้ยาก

บทวิเคราะห์และพยาการณ์เศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการยุโรปฉบับนี้พูดถึงภาวะความไม่แน่นอนเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะปัจจัยการแพร่กระจายของไวรัสที่ไม่สามารถกำหนดได้ และขึ้นอยู่กับมาตรการผ่อนคลายการล๊อคดาวน์ที่กำลังเริ่มขึ้นต้นเดือน พ.ค. นี้เป็นต้นไปว่าจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน และผลกระทบที่สำคัญและน่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือการเปลี่ยนแปลงทิศทางของห่วงโซ่อุปทานโลกและความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจยุโรปแน่นอน

มาตรการฉุกเฉินช่วยเศรษฐกิจยุโรป

ในขณะที่สัปดาห์นี้ประเทศยุโรปหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล๊อคดาวน์แบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้นำยุโรปก็ได้ตกลงมาตรการฉุกเฉินหลายประการเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจและช่วยลดผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจ สังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรยุโรป ให้ผ่านความช๊อคทางทางเศรษฐกิจครั้งนี้ไปให้ได้ อาทิ

  • มาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส
  • ต้องให้มีเครื่องมือแพทย์ที่เพียงพอ
  • การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและการรักษาโรค
  • มาตรการด้านการจ้างงาน ธุรกิจ และเศรษฐกิจ
  • การช่วยเหลือประชาชนยุโรปที่ตกค้างในต่างประเทศ
  • การต่อสู้การข้อมูลข่าวสารลวงและเท็จ ที่เรียกว่า Disinformation

158951484741

สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแบบฉุกเฉิน

สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแบบฉุกเฉินจำนวน 540 พันล้านยูโรป เพื่อสนับสนุนการจ้างงาน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย

- 100 พันล้านยูโร สำหรับลดผลกระทบของการตกงานในภาวะฉุกเฉิน

- 200 พันล้านยูโร สำหรับให้บริษัทกู้ผ่าน European Investment Bank

- 240 พันล้านยูโร สำหรับช่วยประเทศสมาชิกผ่าน European Stability Mechanism

158951493998

158951495578

ที่มา Infographic - The EU’s emergency response to the COVID-19 pandemic โดย Council of the EU

[ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd]