ทำไมบางธุรกิจปรับตัวเข้า กับสถานการณ์ได้รวดเร็ว

ทำไมบางธุรกิจปรับตัวเข้า กับสถานการณ์ได้รวดเร็ว

ในยามที่สถานการณ์ทางธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันในรูปแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อนหรือไม่ทันตั้งตัว

เช่นในกรณีที่ธุรกิจต่างๆ ถูกคุกคามโดยโรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่า บางธุรกิจสามารถทิ้งการทำธุรกิจแบบเดิมที่ทำอยู่ แล้วเปลี่ยนมาทำธุรกิจที่ไม่เคยคิดจะทำมาก่อนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทำได้ดี

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสายการผลิตมาผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ หรือการเปลี่ยนจากร้านอาหารแบบสั่งทำนั่งกินที่ร้านมาเป็นแบบสำเร็จรูปซื้อไปทานที่บ้าน

หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนอาชีพเดิม มาเป็นอาชีพใหม่ เช่น การขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารและสินค้าอย่างปัจจุบันทันด่วน ก็เกิดขึ้นได้

ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กับธุรกิจเดิมๆ ที่ทำอยู่ได้อย่างประสบความสำเร็จ ถือได้ว่า เป็นอีกมิติหนึ่งของความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงธุรกิจ

และองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กรใดๆ ไม่เฉพาะสำหรับองค์กรธุรกิจเท่านั้น จะรู้จักกันในนามของ ความสามารถในการดูดซับความรู้ ขององค์กร

 ซึ่งความสามารถประเภทนี้ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับบุคคล ในระดับธุรกิจหรือระดับบริษัท และในระดับองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไรฯลฯ เป็นต้น

ความรู้ ที่ว่านี้ อาจเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นภายในบริษัท หรือเป็นความรู้ที่บริษัทรับมาจากภายนอกก็ได้

ความสามารถในการดูดซับความรู้ ยังหมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา ความรู้สำหรับทำซ้ำเลียนแบบ หรือเป็นการสร้างความรู้ใหม่ที่บริษัท หรือบุคลากรในบริษัทไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทเอสเอ็มอี หรือแม้กระทั่งบริษัทสตาร์ทอัพ

ในการใช้ประโยชน์จากความรู้ใหม่มาจากภายนอก บริษัทอาจทำได้จากหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุด ก็คือ ความรู้และประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ ซึ่งหากความรู้เดิมที่มีอยู่มีความเกี่ยวข้องกับความรู้ที่มีอยู่ภายนอก การดูดซับความรู้ใหม่จากภายนอก ก็จะทำได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การที่ธุรกิจตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ ควบรวมกิจการ การซื้อสิทธิจากทรัพย์สินทางปัญญา การทำสัญญาร่วมมือทางธุรกิจ การเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดไปจนถึงการลงทุนในการวิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า บริษัทที่จะตัดสินใจสร้างความรู้ใหม่ในลักษณะนี้ จะต้องเห็นว่า พื้นความรู้เดิมที่มีอยู่ สามารถต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ได้จากช่องทางเหล่านี้

ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ได้แก่ การมองเห็นโอกาสว่า ความรู้ใหม่จะสามารถสร้างกำไรส่วนเพิ่มให้กับบริษัทได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นความรู้ใหม่ที่ศึกษาเรียนรู้ได้ยาก เช่น เทคโนโลยีที่มีการค้นพบใหม่ล่าสุด โดยตัวผลักดันที่จะทำให้บริษัทต้องยอมรับความรู้ที่ยุ่งยากซับซ้อน ก็คือ ความยากเหล่านี้ จะเป็นโล่ห์ป้องกันไม่ให้กำไรที่เกิดจากการสร้างนวัตกรรมไม่ให้ถูกคู่แข่งลอกเลียนแบบได้ง่าย

การใช้โมเดลการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด ที่บริษัท เข้าร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานภายนอก หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมมือพัฒนาร่วมกับคู่แข่ง ก็เป็นปัจจัยที่จะเร่งให้การดูดซับความรู้จากภายนอกของบริษัทเกิดขึ้นได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้น

ในขณะที่การสร้างและดูดซับความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นภายในบริษัท มักจะมีช่องทางผ่านการสร้างหน่วยงานวิจัยและพัฒนาขึ้นในบริษัทเป็นของตนเอง

และมักจะเลือกใช้วิธีนี้ ในกรณีที่บริษัทไม่ต้องการให้ความรู้ใหม่ที่สร้างขึ้น รั่วไหลไปสู่ภายนอก

ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการดูดซับความรู้จากภายนอกหรือภายในบริษัทเอง บริษัทจำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างที่ดีรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่คอยติดตามข้อมูลภายนอก หากความรู้เหล่านั้นยากและซับซ้อน หน่วยงานนี้ต้องทำหน้าที่ย่อยหรือแปลงข้อมูลและเป็นตัวกลางสื่อสารให้บุคลากรหรือหน่วยงานภายในบริษัทที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าใจได้

การส่งบุคลากรหรือพนักงานออกไปอบรมหรือพัฒนาความรู้ภายนอกบริษัท จึงจำเป็นต้องเลือกคนที่สามารถแปลงความรู้ที่ได้รับมาเพื่อถ่ายทอดและประยุกต์ใช้กับบริษัทได้อย่างเหมาะสม มิเช่นนั้น ก็จะไม่เกิดการดูดซับความรู้ใหม่ได้

ความสามารถในการดูดซับความรู้ของธุรกิจ จะเป็นตัวตัดสินว่า ธุรกิจใดจะคล่องต่อการปรับตัวในการรับกับสถานการณ์ใหม่ หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัท/หรือการปรับธุรกิจให้อยู่รอดได้ ท่ามกลางสภาวะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันมาก่อน