อเมริกาเข้าไอซียู

อเมริกาเข้าไอซียู

ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ เป็นวันที่ 16 เมษายน สหรัฐอเมริกาเข้าห้องไอซียูเพราะเจอศึกสองด้าน ทั้งปัญหาเรื่องโรคระบาดและการทรุดหนักของเศรษฐกิจ

มริกานำหน้าทุกประเทศในโลกเรื่องจำนวนผู้ป่วย วันนี้เกินกว่า 650,000 คนแล้ว และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 35,000 คน รายงานต่อวัน มีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 2,000 คน
คนตกงานภายในหนึ่งเดือนถึงกว่า 22 ล้านคน ประเมินว่าเศรษฐกิจจะหดหายไปเกือบ 40% บางอุตสาหกรรมอาจจะต้องล้มละลายเช่น สายการบิน ซึ่งสูญเสียตลาดไปถึง 85% ธุรกิจทั้งหลายที่ต้องพึ่งอาศัยผู้บริโภคออกมาใช้บริการด้วยตนเอง เช่น โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร กีฬา ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกย่อยต่างๆ ซึ่งทยอยกันปิดมาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม เมื่อรัฐบาลกลางประกาศเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ 
โรงเรียนทุกระดับตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งปิดทั่วประเทศมาหลายสัปดาห์ เริ่มเตรียมตัวที่จะใช้การเรียนสอนแบบออนไลน์จนถึงสิ้นปี และคาดว่าจะเปิดสถาบันให้นักเรียนนักศึกษาเข้าไปในพื้นที่ได้อย่างเร็วที่สุดคือต้นปีค.ศ. 2021 
social distancing เป็นสิ่งใหม่มากแต่เริ่มมีการยอมรับและปฏิบัติอย่างเข้มงวดกระจายออกไปหลายแห่งแม้ยังไม่ทั่วประเทศ การใส่หน้ากากอนามัยซึ่งชาวอเมริกันปฏิเสธและไม่นิยมใช้ในที่สาธารณะก็กลายเป็นสิ่งที่เริ่มจำเป็น และรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งได้ออกกฎระเบียบบังคับให้ประชาชนต้องใส่หน้ากากในที่สาธารณะ 
การทักทายด้วยกันจับมือหรือสวมกอดกัน เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเริ่มเข้าใจและยอมรับว่า อาจจะไม่สามารถกลับมาเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติเหมือนเช่นเคย 
ทำไมอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกจึงประสบมรสุมลูกโรคระบาดครั้งนี้ถึงขั้นมีความเสียหายเป็นอันดับหนึ่ง?
คำตอบคือ อเมริกาเป็นสังคมเปิดซึ่งมีการเชื่อมโยงกับแทบทุกมุมโลกทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การทหาร เทคโนโลยี วัฒนธรรม ศาสนา และกิจกรรมอื่นๆ โลกาภิวัตน์ ได้นำโรคาภิวัตน์เข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความผิดพลาดในการบริหารของผู้นำก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องบานปลาย ประเด็นที่สำคัญมีสองอย่างคือ
1) มีความบกพร่องและขาดการเตรียมพร้อม อาจเป็นเพราะความประมาทหรือไม่คิดว่าโรคระบาดครั้งนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ จึงไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดโรคซึ่งรวมทั้งชุดสวมใส่ หน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ และเวชภัณฑ์จำเป็นต่างๆ ทั้งที่มีสัญญาณเตือนชัดเจนตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม
 
2) ขาดความจริงจังเรื่องการตรวจร่างกายประชาชนเพื่อวินิจฉัยว่าใครติดเชื้อและเป็นพาหะ ซึ่งหากไม่มีการตรวจก็จะไม่รู้เลยว่า เชื้อโรคนี้ไปถึงไหน ถึงวันนี้การตรวจก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ขั้นตอนวุ่นวายและเป็นปัญหา แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลเอง ก็ไม่สามารถที่จะประสานงานช่วยเหลือผู้ที่ร้องขอ รัฐบาลกลางเคยประกาศว่าจะมีการตรวจสัปดาห์ละ 4 ล้านคน แต่ถึงปัจจุบันยังเป็นเพียงหลักหมื่น
ภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกาครั้งนี้ ย้ำให้เห็นว่า การที่จะทำสิ่งใดให้สำเร็จโดยเฉพาะโครงการใหญ่นั้นต้องมีสองสิ่งคือ ความพร้อมเรื่องทรัพยากรและความมุ่งมั่นชัดเจนของผู้น จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้
เงินช่วยเหลือด่วนที่รัฐสภาร่วมกับฝ่ายบริหารผลักดันออกมาเพื่ออุ้มชูธุรกิจรายย่อย และส่งช่วยเหลือเป็นปัจจัยจำเป็นให้กับประชาชนโดยตรงนั้น ยังไม่ได้ส่งผลเท่าที่ควรจึงเกิดปัญหาการดำรงชีพ ส่งผลให้เป็นความวุ่นวายแพร่หลายทั่วประเทศ แม้มาตรการอื่นๆกำลังจะออกตามมาเพื่อเยียวยาแต่กระแสของความกดดันจากประชาชนเพิ่มขึ้นทุกวัน มีการประท้วงเรื่องคำสั่งให้อยู่ในเคหะสถาน และการปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเพราะสถานการณ์อาจจะลุกลาม
การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ก็จะได้ผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 ผลประโยชน์ของการเมืองและเศรษฐกิจ จะทำให้มีการตัดสินใจหลายอย่างที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง เช่น การพยายามเปิดประเทศหรือฟื้นฟูธุรกิจแบบเร่งด่วน และฝืนคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ 
หากผู้นำชุดปัจจุบันเร่งเปิดประเทศภายในเดือนหน้าคือ พฤษภาคมนี้ ความเสี่ยงของการระบาดหนักมากกว่าปัจจุบันคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะทำให้เกิดการล่มสลายของระบบแพทย์พยาบาลทั่วประเทศซึ่งในที่สุดก็จะทำให้เศรษฐกิจทรุดถึงขั้นที่จะฟื้นกลับมาไม่ได้
อเมริกาเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งหลายอย่าง และมีประโยชน์โดยทั่วไปต่อความมั่นคงของโลก อเมริกาเป็นศูนย์รวมของลูกหลานจากทุกเผ่าพันธุ์ เงินสกุลดอลล่าร์เป็นสิ่งที่ยอมรับมากที่สุด และหมุนเวียนอยู่ในกระแสการเงินโลกถึง 40-45% หากอเมริกาป่วยและไม่สามารถฟื้นออกจากไอซียูได้ ก็จะระบาดต่อเนื่องเป็นการป่วยทั่วโลก
ไม่มีใครที่สามารถจะประเมินได้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะจบได้อย่างไรและเมื่อไหร่ ภาวนาว่า มีข่าวดีเรื่องวัคซีนหรือยารักษาโรคนี้เร็วกว่า 18 เดือนที่คาดไว้ ระหว่างนี้ เราทุกคนต้องอดทนและใช้เวลาทุกขณะให้มีคุณค่าต่อร่างกายจิตใจ และช่วยเหลือดูแลบุคคลรอบข้างเท่าที่เราสามารถทำได้ครับ