เพิ่มกระแสเงินสดในวิกฤตเศรษฐกิจ จากประกันชีวิตที่คุณถืออยู่

เพิ่มกระแสเงินสดในวิกฤตเศรษฐกิจ จากประกันชีวิตที่คุณถืออยู่

ท่ามกลางห้วงเวลาแห่งวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

หลายต่อหลายคนก็อาจกำลังตกอยู่ในสภาวะมืดแปดด้าน ตกที่นั่งลำบากจากปัญหาทางการเงิน เพราะเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้หยุดชะงักลงไปจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อ ส่งผลให้รายได้จากการประกอบอาชีพ จากการประกอบอาชีพหรือธุรกิจของใครหลายคนนั้นหดหายไป

  แน่นอนว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับรายได้ที่ลดน้อยลงไปแล้ว สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทุกคนควรจะต้องทำ ก็คือตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่เกินความจำเป็นในการดำรงชีวิตออกไป และลดภาระค่าใช้จ่ายประจำต่าง ๆ ที่ยังจำเป็นอยู่ให้น้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายเรื่องเบี้ยประกันชีวิต (และเบี้ยประกันสุขภาพ รวมถึงเบี้ยประกันภัยอื่น ๆ) ก็ถือเป็นหนึ่งในหมวดค่าใช้จ่ายที่หลายคนคงกำลังพิจารณาจะลดค่าใช้จ่ายนี้ลง เพื่อใช้กระแสเงินสดที่ยังคงเหลืออยู่ไปกับเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบันแทน ซึ่งอันที่จริงแล้ว การจัดการความเสี่ยงก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ความไม่แน่นอนของชีวิตมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงไม่ว่าจะทางในใดก็ตาม และการตัดสินใจยกเลิกสัญญาประกันชีวิตที่ยังไม่ครบกำหนดโดยไม่ได้ศึกษาสิทธิ์ต่าง ๆ ให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อนนั้น อาจจะทำให้เราในฐานะผู้ถือกรมธรรม์ ต้องสูญเสียผลประโยชน์อันควรจะได้ไปอย่างน่าเสียดาย

 เพราะฉะนั้น ในลำดับแรกสุด ผู้เอาประกันภัยทุกคนนั้นควรที่จะทำสรุปรายละเอียดกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดที่ตนเองมีก่อน ว่าตัวเรามีความคุ้มครองประเภทใดบ้าง จำนวนเงินเอาประกันภัยมากน้อยเท่าไหร่ และงวดการชำระเบี้ยหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้นเกิดขึ้นตอนไหน รวมถึงการทบทวนแผนการจัดการความเสี่ยงที่เคยได้วางไว้ตั้งแต่แรก เพื่อให้การปกป้องความเสี่ยงต่าง ๆ ของชีวิตยังคงเหมือนเดิม และลำดับถัดมา จึงไล่พิจารณากรมธรรม์ประกันภัยที่เกินความจำเป็นตามแผนของเราในด้านการจัดการความเสี่ยง(ในเวลานี้) เพื่อเลือกใช้วิธีจัดการที่เหมาะสมตามแต่ละสถานการณ์ที่เรากำลังพบเจออยู่ โดยอาจแบ่งได้เป็นสองกรณี ดังนี้

 กรณีที่หนึ่ง หากคุณยังคงมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย และยังพอมีเงินสดสภาพคล่องที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่ต้องการลดภาระเบี้ยประกันชีวิตบางส่วนลงเพื่อลดกระแสเงินสดจ่ายออก หรือเพิ่มเงินสดสำรองเผื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินในอนาคต ก็แนะนำให้ลองพิจารณาทางเลือกในการใช้สิทธิ์ตามมูลค่าเงินสดของกรมธรรม์ที่มี เช่น หากกรมธรรม์ประกันชีวิตมีมูลค่าเงินสดที่ไม่มากนัก ก็อาจเลือกใช้สิทธิ์ขอเปลี่ยนแปลงงวดชำระเสียก่อน เช่น จากที่เคยชำระเบี้ยเป็นงวดรายปี ก็เพิ่มความถี่เป็นการชำระเบี้ยงวดรายหกเดือน สามเดือน หรือรายเดือนแทน เพื่อกระจายกระแสเงินสดที่ต้องใช้จ่ายเบี้ยออกไปให้มีกระแสเงินสดคงเหลือในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้น หรือจะใช้สิทธิ์เปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ในลักษณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “สิทธิ์การขยายระยะเวลา” ที่ทำให้เรายังคงมีความคุ้มครองชีวิตเท่าเดิมแม้ว่าจะหยุดจ่ายเบี้ยไปแล้ว แต่ก็ไปลดระยะเวลาที่คุ้มครองลง โดยอาจจะไม่ได้คุ้มครองยาวนานเท่าเดิม หรือ “สิทธิ์การใช้มูลค่าเงินสำเร็จ” ซึ่งจะทำให้เราหยุดจ่ายเบี้ยได้และยังคงมีระยะเวลาที่กรมธรรม์ความคุ้มครองชีวิตเราเท่าเดิม แต่จำนวนเงินเอาประกันชีวิตลดลงไปแทน นอกจากนี้ หากกรมธรรม์ประกันชีวิตมีมูลค่าเงินสดอยู่มากเพียงพอ มากกว่าเบี้ยประกันชีวิตที่จะต้องชำระในงวดถัด ๆ ไป ก็อาจเลือกวิธีการใช้ “สิทธิ์การนำมูลค่าเงินสดมาชำระเบี้ยประกันโดยอัตโนมัติ” ได้ เพื่อให้ยังคงมีความคุ้มครองเช่นเดิมต่อไปไม่เปลี่ยนแปลงโดยเอามูลค่าเงินสดในตัวกรมธรรม์ออกมาจ่ายเบี้ยแทนนั่นเอง แต่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยของเงินที่กู้ยืมออกมาจากกรมธรรม์ด้วยเช่นกัน

 กรณีที่สอง หากคุณรายได้ลดน้อยลงไปต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน จนไม่มีกระแสเงินสดคงเหลือที่เป็นบวกแล้ว กรมธรรม์ประกันชีวิตบางเล่มก็อาจจะเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง สำหรับการกู้ยืมด้วยภาระดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคจากสถาบันการเงินทั่วไปได้เช่นกัน ด้วยการใช้ “สิทธิประโยชน์ของเงินกู้ตามกรมธรรม์” เพื่อกู้ยืมมูลค่าเงินสดที่มีอยู่นั้นออกมาใช้จ่าย โดยที่ไม่เกินกว่าวงเงินที่บริษัทประกันชีวิตกำหนดไว้ว่าสามารถกู้ยืมออกมาได้ (ส่วนใหญ่วงเงินสูงสุดจะกำหนดไว้อยู่ที่ราว 80-90% ของมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกรมธรรม์เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณเบี้ยประกัยและบวกไปไม่เกิน 2%) แต่ถ้าหากเป็นกรมธรรม์เล่มใหม่ที่เพิ่งทำไป (ซึ่งมักจะยังไม่มีมูลค่ากรมธรรม์) หรือเป็นกรมธรรม์ที่มีมูลค่าเงินสดให้สามารถกู้ยืมได้น้อยกว่าที่ต้องการกู้ยืม ก็อาจจะทำได้เพียงการใช้สิทธิเช่นเดียวกันกับกรณีที่หนึ่งเพื่อหยุดการชำระเบี้ยเท่านั้น หรือหากยังไม่แน่ใจ อยากลองหาข้อมูลหรือรายละเอียดที่มากขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ ก็สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงิน ที่ปรึกษาการเงิน หรือตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิตที่ดูแลและให้บริการกรมธรรม์ของคุณเพิ่มเติมได้เช่นกัน

 สุดท้ายนี้ ก็อยากย้ำกันอีกสักครั้งว่า ก่อนที่จะตัดสินใจใช้สิทธิ์ใด ๆ ที่มีอยู่ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต (และประกันสุขภาพ หรือประกันภัยอื่น ๆ) ก็ควรต้องวางแผนจัดการและประเมินสภาพคล่องที่จำเป็น วางแผนการจัดการภาระหนี้สินต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อน พร้อมทั้งทบทวนแผนการประกันภัยให้เรียบร้อย พิจารณาดูก่อนว่าจำเป็นและถึงเวลาแล้วที่จะต้องใช้สิทธิ์ตามกรมธรรม์หรือไม่ ยังมีวิธีอื่นทางไหนที่จะช่วยจัดการปัญหาเหล่านั้นได้ก่อนที่จะตัดสินใจใช้สิทธิ์ต่าง ๆ ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น ทั้งหมดนี้ เพื่อไม่ให้เราต้องเสียสิทธิประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิตไปโดยไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะ ณ จังหวะเวลานี้ เงินทุกบาททุกสตางค์ยิ่งมีค่ามากขึ้น การตัดสินใจอย่างรอบคอบบนข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อจัดการเรื่องการเงิน จะยิ่งช่วยให้ชีวิตของเรามีความมั่นคงและปลอดภัยขึ้นในทุก ๆ ด้าน

  และในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ การที่ยังคงมีประกันชีวิตและประกันสุขภาพติดปลายนวมไว้สักหน่อย ก็สร้างความอุ่นใจได้ไม่น้อยนะครับ

 

ร่วมเขียนโดย ไอซ์ กษิดิศ สุวรรณอำไพ นักวางแผนการเงิน CFP® และ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บจก. ทีคิวแอลดี