Covid 19: มาตรการภาครัฐและโอกาสทางธุรกิจ

Covid 19: มาตรการภาครัฐและโอกาสทางธุรกิจ

สืบเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 บทความฉบับนี้ ผู้เขียนตั้งใจรวบรวมมาตรการเงินการคลังของภาครัฐ

พร้อมทั้งชี้ให้เห็นข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยหรือประชาชนที่สนใจเพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

VUCA 2020:เศรษฐกิจปีนี้ควรจะดี

ในมุมเศรษฐกิจเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า COVID 19 คือ VUCA ที่โลกต้องเผชิญอีกครั้ง โดยข้อมูลจากหลายแหล่งเกี่ยวกับโรคที่ยังไม่ชัดเจน การรักษาและวัคซีนที่ยังไม่สามารถคิดค้นได้อย่างแน่ชัด จะส่งผลต่อความผันผวน ซับซ้อน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งๆ ที่เมื่อสิ้นปี 19 หลายฝ่ายได้มองว่าเศรษฐกิจในปี 20 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นซึ่งเป็นผลจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศได้เริ่มคลี่คลายในทิศทางที่น่าพอใจเช่น สหรัฐ-จีนสามารถเจรจาข้อตกลงทางการค้าใน phase หนึ่งได้ และมีการลงนามไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2563 และข้อตกลงในการดำเนินการเรื่อง Brexit ของอังกฤษที่แนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้น การระบาดของ COVID 19 ในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและโลก (แค่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา) ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่อัตรานักท่องเที่ยวในไทยลดลงไปราว 2 ล้านคน และ 1 ใน 4 ของจำนวนที่หายไป คือ นักท่องเที่ยวชาวจีน นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดส่งออกลำดับต้นๆ ซึ่งจากปัญหาเหล่านี้ มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ไปยังธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินได้

มาตราการด้านภาษี

เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการภาษีเพื่อแบ่งเบาภาระทั้งในกรณีของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่เป็นภาคธุรกิจ

สำหรับบุคคลธรรมดา ได้มีการพิจารณาขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.63 เป็นสิ้นสุดภายใน มิ.ย.63 ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายของประชาชน และเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี มาตราการดังกล่าวไม่ตัดสิทธิในการได้คืนเงินภาษีของผู้ที่ยื่นชำระครบถ้วนแล้ว

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีมาตรการที่ช่วยแบ่งเบาภาระภาษีนิติบุคคลดังนี้

1) หักค่าใช้จ่ายในการอบรมสัมมนาภายในประเทศ โดยมาตรการนี้กำหนดให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการอบรมสัมมนา เช่น ค่าห้องพัก ค่าห้องสัมมนา ค่าเดินทางขนส่ง ค่าบริการนำเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า ซึ่งต้องเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 63 – 31 ธ.ค. 63

2) หักค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคารถาวรสำหรับผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งการปรับปรุง ในที่นี้ หมายรวมถึง การซ่อมบำรุง การขยายหรือต่อเติมอาคารถาวรให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น และให้รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องตกแต่ง/เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีนิติบุคคลได้ 1.5 เท่า ซึ่งต้องเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 63 – 31 ธ.ค. 63

3) ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น จากเดิม 4.726 บาท/ลิตร เหลือ 0.20 บาท/ลิตร ซึ่งเชื้อเพลิงดังกล่าวต้องนำไปใช้สำหรับเที่ยวบินในประเทศ โดยมาตรการนี้มีผลถึงวันที่ 30 ก.ย. 63

มาตรการด้านการเงิน

ได้มีการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินของรัฐในรูปแบบต่างๆ โดย ในส่วนของมาตรการสินเชื่อมีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน โดยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 3% และในส่วนมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียมได้มีการผัดผ่อนและขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และพักชำระหนี้เงินต้นในกรณีที่ลูกหนี้มีประวัติดี เป็นต้น 

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบ และมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เช่นเดียวกัน คปภ. ก็ได้มีการหารือกับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านประกันภัยด้วย

ในวิกฤติมีโอกาส : ยอดใช้ e-Commerce เพิ่มขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อโลกได้เจอกับการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) ในปี 2003 ซึ่งศูนย์กลางการระบาดเริ่มต้นในมณทลกวางตุ้งและลามต่อมายังฮ่องกง ขณะนั้นไม่ต่างจากปัจจุบันนี้ที่ประชาชนตื่นตระหนกตกใจและหลีกเลี่ยงการจับจ่ายในที่ชุมชน ส่งผลให้ธุรกิจ e-Commerce เจ้าต่างๆ ได้ถือกำเนิดและเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น ไม่พ้นแม้แต่ Tencent ที่แม้บริษัทได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1998 แต่จากวิกฤติ SARS ในครั้งนั้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลดีต่อธุรกิจออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ของบริษัทที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ Tencent Holding Ltd. สามารถ listed ใน Hong Kong Stock Exchange ได้สำเร็จในปี 2004

ผลจาก COVID 19 ก็เช่นกัน 1 เดือนนับจากการระบาด ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม รวมไปถึงธุรกิจออนไลน์มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลในจีนชี้ให้เห็นว่า Housebound Consumer หรือการบริโภคของประชาชนที่ไม่สามารถออกไปจับจ่ายนอกบ้านได้ ส่งผลให้ Online groceries มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เช่น Carrefour ในจีนมีอัตราการจัดส่ง แบบ delivery มากกว่าเดิมถึง 600% และ JD.com สามารถขายสินค้าออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นถึง 215% นับตั้งแต่ปีใหม่จีนเป็นต้นมา

นอกจากนี้ TV Online รวมไปถึงความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ผ่าน Mobile Internet ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ข้อมูลจาก QuestMobile ชี้ให้เห็นว่า แม้ยอดการจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารในจีนจะลดลงเป็นอย่างมาก แต่จำนวนชั่วโมงที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือกลับเพิ่มจาก 6 ชั่วโมงต่อวันในช่วงก่อนปีใหม่จีน เป็น 7.3 ชั่วโมงต่อวันในปัจจุบัน เช่นเดียวกัน App ต่างๆ เพื่อความบันเทิงเช่น Tencent VDO หรือ TikTokก็มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าทิศทางของธุรกิจไทยคงไม่แตกต่างไปจากในจีนมากนัก ในยุคที่คนจับจ่ายใช้สอยนอกบ้านน้อยลง ผู้ประกอบการอาจต้องกลับมาคิดถึงช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ประกอบกับศึกษาการใช้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ ... ซึ่งผู้เขียนขอให้กำลังใจและเชื่อว่าทุกวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับผู้ที่มองเห็นเสมอ !

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]