NHS ของอังกฤษ กับ สปสช.ของประเทศไทย ความจริงที่น่าวิตก ดร.เ

NHS ของอังกฤษ กับ สปสช.ของประเทศไทย ความจริงที่น่าวิตก  ดร.เ

เป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่งของระบบ National Health Services (NHS) ของอังกฤษ กับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ของประเทศไทย

ที่มีความคล้ายคลึงกัน เพราะไทยเลียนแบบอังกฤษมาเกือบทั้งหมด หลังอ่าน 2 บทความเรื่องระบบประกันสุขภาพ โดยบทความแรกเป็นของ ศาสตราจารย์ศิริเพ็ญ จากคณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วิเคราะห์ปัญหาของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (โครงการบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค)ของประเทศไทย ส่วนบทความที่ 2 เป็นบทความที่ตีพิมพ์ ในสื่อสำนักพิมพ์ Bloomberg ที่วิเคราะห์ปัญหาของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ ที่ทั้ง 2 ประเทศดูเหมือนจะตกอยู่ในที่นั่งเดียวกันคือ อยากจะปฏิรูป แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

ระบบ NHS ก่อกำเนิดมาจากการช่วยเหลือของรัฐบาลต่อทหารหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดชีวิต เพราะทหารหาญเหล่านี้ได้พลีตนเพื่อชาติบ้านเมืองยามสงคราม รัฐบาลต้องตอบแทน แต่ในปี 1948 รัฐบาลอังกฤษที่มาจากพรรคแรงงานได้ประกาศนโยบายให้บริการรักษาพยาบาลฟรี คนอังกฤษทุกคนอย่างถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย โดยใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกือบจะเรียกได้ว่า ชาวอังกฤษแทบไม่เคยเห็นใบเสร็จเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งชีวิตก็ว่าได้

ค่าใช้จ่ายในการให้บริการรักษาพยาบาลนี้เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี และในปัจจุบันสูงถึง 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาทไทย มากกว่างบประมาณประเทศไทยทั้งประเทศ 2 เท่าตัวรัฐบาลอังกฤษใส่เงินเข้าไปทุกปี ผลิตแพทย์พยาบาลเพิ่มขึ้น และสร้างโรงพยาบาลใหม่ รวมถึงปรับปรุงโรงพยาบาลเดิม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น การไหลบ่าของผู้อพยพต่างชาติตามนโยบายเปิดประเทศของ EU ทำให้มีคนชาติอื่นเข้ามาอาศัยในอังกฤษเพิ่มขึ้นนับล้านคนโดยเฉพาะจากโปแลนด์และประเทศทางยุโรปตะวันออก ได้เข้ามาร่วมใช้บริการรักษาพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับชาวอังกฤษ

ชาวอังกฤษนอกจากจะต้องรอคิวเข้ารับการรักษายาวนานขึ้นแล้ว แพทย์พยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายก็ขาดแคลนไม่เพียงพอในการให้บริการ สภาวะขาดบุคคลากรทางการแพทย์ทำให้ทุกคนต้องทำงานหนักและเกิดสภาวะท้อแท้สิ้นหวัง ทำให้สถานการณ์การดูแลรักษาพยาบาลยิ่งเลวร้ายลงไปอีก และนี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวอังกฤษต้องการที่จะออกจาก EU ที่เรียกว่า BREXIT ในขณะนี้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเปิดประเทศรับผู้อพยพจากชาติอื่นมาแย่งใช้บริการด้านสุขภาพคุณภาพของการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ประเทศอังกฤษนั้นถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรปเท่านั้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ประเด็นสุขภาพจะเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกพรรคใช้หาเสียงและในการเลือกตั้งวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมานี้ ทั้งฝ่ายพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคแรงงานต่างก็มีนโยบายที่จะเพิ่มงบประมาณในการดูแลรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 20-30 พันล้านเหรียญ

ตามรายงานข่าวนั้น เรื่องการออกจาก EU ยังไม่สำคัญเท่าเรื่องปัญหาบริการสุขภาพทั้ง 2 พรรคมีแผนการที่จะปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศอังกฤษ เพื่อทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น และลดงบประมาณค่าใช้จ่ายที่สูงมากในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้เท่าไร เพราะพอพูดเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพเมื่อไร คะแนนเสียงก็ตกเมื่อนั้น

กลับมาที่บ้านเรา สถานการณ์เรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็พุ่งสูงตลอดเวลารัฐบาลไม่กล้าปฏิรูประบบสุขภาพที่จะให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย และค่าใช้จ่ายจึงต้องมาจากงบประมาณของประเทศทั้งหมด สถานการณ์ด้านการเงินของประเทศไทยอยู่ในสภาวะอ่อนแอ ขาดดุลงบประมาณทุกปีนับแสนล้านบาท กลายเป็นหนี้สะสมที่แก้ไม่ตกแน่นอนว่าการขาดดุลงบประมาณไม่ได้มาจากค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเดียวแต่ค่าใช้จ่ายปีละสองแสนล้านบาท ก็ถือเป็นจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลต้องแบกรับอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แนวคิดเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพภาครัฐที่จะให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายนั้น คิดกันมานานแล้ว เพราะจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ลดงบประมาณสนับสนุนที่พุ่งสูงอย่างไม่มีเพดานจำกัด แต่ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปฏิรูประบบสาธารณสุข ให้มีการร่วมจ่าย ก็มีปฏิกริยาต่อต้าน จนทุกพรรคการเมืองไม่กล้าแตะต้อง เพราะกลัวเสียคะแนนเสียง

การปฏิรูประบบสุขภาพที่ให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าบริการจำนวนหนึ่งนั้นเป็นหลักการที่ใช้กันทั่วไป เช่นที่ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส โดยร่วมจ่ายประมาณ 20-30%และส่วนที่เหลือนั้น ก็ไม่ได้มาจากงบประมาณของรัฐบาลทั้งหมด แต่มีการจัดตั้งกองทุนที่มีองค์กรต่างๆเข้ามาร่วมสนับสนุนในค่าใช้จ่ายนี้และองค์กรเหล่านี้ก็มีส่วนในการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักดูแลสุขภาพของตัวเอง ไม่ใช่ช่วยเงินอย่างเดียว

ในขณะที่การใช้งบประมาณจากรัฐบาลทั้งหมดในการดูแลระบบสุขภาพของประเทศไทยนั้นนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่มีองค์กรอื่นใดเข้ามาช่วยรับภาระ และประชาชนก็ใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างเดียวเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกของทุกรัฐบาล ทั้งของอังกฤษและประเทศไทยเลยทีเดียว