กินยา 3 ชนิดเป็นเวลา 1 ปี ทำให้อายุลดลง 2.5 ปี

กินยา 3 ชนิดเป็นเวลา 1 ปี ทำให้อายุลดลง 2.5 ปี

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2019 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย UCLA และ มหาวิทยาลัย Stanford นำโดย Dr. Gregory Fahy รายงานในวารสาร Aging Cell ว่า

จากการทดลองให้ชาย 9 คนกินยา 3 ชนิดเป็นเวลา 1 ปี พบว่าชายกลุ่มดังกล่าวอายุลดลง 2.5 ปีโดยเฉลี่ยในช่วงเวลาดังกล่าว ภาวะที่อายุลดลงนั้นยังเห็นผลต่อเนื่องไปอีก 6 เดือนหลังจากงานทดลองเสร็จสิ้นลง ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การทดลองดังกล่าวนั้นวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่การทำให้อายุของผู้ถูกทดลองลดลง แต่เป็นความต้องการของ Stanford Medical Center ที่เมือง Palo Alto ที่จะกระตุ้นการฟื้นตัวของต่อมไทมัส(Thymus Gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อที่มีหน้าที่หลักในการทำให้เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell (ที่มีความสำคัญอย่างมากในระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์) ทั้งนี้ต่อมไทมัสจะค่อยๆ ฝ่อลงจนเป็นเพียงเนื้อเยื่อไขมันเมื่ออายุมากขึ้น งานวิจัยนี้ได้รับอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐภายใต้โครงการ Thymus Regeneration Immunorestoration and Insulin Mitigation (TRIIM)

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ผลของงานวิจัยที่ทำให้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Aging Cell คือ การที่งานทดลองดังกล่าวเป็นงานชิ้นแรกที่พิสูจน์ว่าสามารถทำให้อายุของเซลล์ลดลงได้ด้วยการวัดอายุของเซลล์ด้วยวิธีการทางชีวภาพที่เรียกว่า epigenetic clock โดยผู้ที่คิดค้นวิธีวัดอายุของเซลล์ในลักษณะนี้คือ Dr. Steve Horvath แห่งมหาวิทยาลัย UCLA จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า Horvath clock ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถ google ดูรายละเอียดได้หรือท่านที่เป็นลูกค้าของธนาคารเกียรตินาคินภัทรสามารถมาคุยกับผมเกี่ยวกับเรื่องนี้และเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพด้านอื่นๆ ได้ในงานพบลูกค้าและนักลงทุนวันที่ 6 ก.พ.นี้ครับ สำหรับคำอธิบายเกี่ยวกับ epigenetic clock แบบฉบับย่อคือการวัดอายุทางชีวภาพ (Biological Age) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการว่าแม่นยำกว่าการวัดจากอายุ (Chronological Age) โดยอาศัยรอยขีดเชิงเคมีที่ดีเอ็นเอ (Chemical marks that tag onto the genetic sequence) ซึ่งเรียกว่า DNA Methylation และเมื่อนำเอารอยขีดเชิงเคมีดังกล่าวมาประเมินโดย algorithm แล้ว ก็จะสามารถทำต้นแบบขึ้นมาเพื่อประเมินอายุของเซลล์ได้อย่างแม่นยำ 

ท่านที่อยากอ่านต้นฉบับของเรื่องนี้สามารถ google Horvath clock หรือ epigenetic clock ก็ได้ สำหรับผลการทดลองของทีมของ Dr. Gregory Fahyนั้นสามารถดูได้ที่ Aging Cell (5 September 2019) ภายใต้ชื่อ “Reversal of epigenetic aging and immunosenescent trends in humans” และบทสรุปผลการทดลองดังกล่าวในวารสาร Nature วันที่ 5 ก.ย. 2019 ภายใต้ชื่อ “First hint that body’s biological age’ can be reversed”

ดังที่กล่าวข้างต้น งานวิจัยนี้ได้รับการอนุมัติเพื่อค้นคว้าหาวิธีฟื้นฟูต่อมไทมัส มีหน้าที่หลักคือการช่วยการส่งเสริมการเจริญเติบโตของ T-cell หรือเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immune system) และต่อมไทมัสยังมีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกลับมาทำลายตัวเอง (autoimmunity) อีกด้วย แต่ต่อมไทมัสนั้นจะฝ่อลงเมื่อเราอายุมากขึ้นจนกลายเป็นเนื้อเยื่อไขมันที่ไม่มีประโยชน์อะไรตอนประมาณอายุ 65-75 ปี (ทำให้หลังจากนั้นผู้สูงอายุจึงเป็นโรคต่างๆได้โดยง่าย) Dr. Gregory Fahy ตั้งใจจะใช้ Growth hormone เพื่อฟื้นฟูต่อมไทมัส โดยให้ชายผิวขาว 9 คน อายุ 51 ถึง 65 ปี) กิน Growth hormone ดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี แต่เกรงว่าการให้กิน Growth hormone ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดปัญหาข้างเคียงที่เป็นอันตรายคือการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด 

ดังนั้นทีมนักทดลองจึงได้ให้ชาย 9 คนดังกล่าวกินยาลดน้ำตาลในเลือด 2 ชนิด ได้แก่ DHEAและ Metformin โดยทำการตรวจสอบต่อมไทมัสและตรวจเลือดของชาย 9 คนเป็นประจำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี ทำให้สามารถมีข้อมูลที่นำไปตรวจดีเอนเอเพื่อคำนวณอายุทางชีวภาพได้ด้วยโดย Dr. Fahyได้ติดต่อ Dr. Horvathให้มาทำการวัดอายุทางชีวภาพด้วยตัวเอง ซึ่ง Dr. Horvath ก็รู้สึกแปลกใจกับผลการตรวจอย่างมาก จึงได้ทำการวัดด้วยนาฬิกาทางชีวภาพถึง 4 แบบ (4 different epigenetic clocks)ซึ่งก็ให้ผลเหมือนกันคือชาย 9 คน อายุชีวภาพลดลง 2.5 ปีในช่วงเวลา 1 ปีที่ทำการทดลอง แปลว่าชาย 9 คนดังกล่าว กำไรอายุสุทธิเฉลี่ย 1.5 ปีในช่วง 1 ปีของงานทดลองที่สำคัญคือหลังจากการกินยา 3 ขนานครบ 9 เดือน การหมุนเวลากลับของเซลล์ (ที่ทำให้อายุลดลง) นั้น กลับเร่งตัวเร็วขึ้น (de-aging effect seemed to accelerate) นอกจากนั้นเมื่อวัดอายุชีวภาพของเซลล์หลังการทดลองจบลงไปแล้ว 6 เดือน เซลล์ก็ยังอายุลดลงเช่นเดิม ทำให้สรุปว่าผลของการกินยา 3 ขนานดังกล่าวมีผลยาวนานอย่างน้อย 6 เดือน

มาถึงตรงนี้คงจะไม่ต้องกล่าวเตือนนะครับว่าเราอย่าเพิ่งเอาตัวเองไปเป็นหนูทดลองโดยการเอายา 3 ชนิดดังกล่าวมากิน เพราะเราจะไม่รู้ว่าจะต้องใช้ยาดังกล่าวปริมาณมากน้อยเพียงใดและการทำงานวิจัยที่ใช้คนเพียง 9 คน (ที่เป็นชาวผิวขาวทั้งหมด) ย่อมทำให้มีข้อสรุปได้ว่ายาดังกล่าวจะให้ผลเช่นเดียวกันกับคนทั่วไป ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการทำให้เซลล์อายุลดลงนั้นอาจหมุนเวลาถอยหลังมากเกินไป ทำให้เซลล์สูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเอง (lose cell identity) ซึ่งจะเสี่ยงต่อการที่เซลล์จะแปลงตัวเป็นเซลล์มะเร็งก็ได้ แต่นักวิจัยยืนยันว่าในการตรวจสอบดีเอนเอนั้นไม่พบหลักฐานว่ามีความเสี่ยงดังกล่าวในงานวิจัยนี้แต่อย่างใด

ซึ่งแน่นอนว่าผลของงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ Dr. Fahyและ Stanford Medical Center วางแผนที่จะทำการทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีผู้เข้าร่วมที่มีความหลากหลายมากขึ้น (โดยรวมถึงผู้หญิงและคนผิวสีอื่นๆ) ดังนั้นเราจึงควรดูแลสุขภาพของเราให้ดีเพื่อรอผลงานวิจัยนี้และงานวิจัยอื่นๆ ในระดับเซลล์ที่อาจจะทำให้เกิดความพลิกผันในการดูแลสุขภาพในอนาคตอันใกล้นี้ครับ