ข้อคิดเรื่องราคาซื้อไฟฟ้าจากชุมชนในมุมสิ่งแวดล้อม

ข้อคิดเรื่องราคาซื้อไฟฟ้าจากชุมชนในมุมสิ่งแวดล้อม

เมื่อกลางเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เราได้เห็นข่าวว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติเกณฑ์จัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนแล้วชอบใจมาก

ในความคิดริเริ่มของภาครัฐโดยเฉพาะคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยการช่วยให้ชาวบ้านสามารถลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น ทั้งนี้โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านกระบวนการ Public Private People Partnership หรือ PPPP นั่นคือให้บริษัทเอกชนกับวิสาหกิจชุมชนจับมือกันร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยมีภาครัฐเป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุน

ในโอกาสเดียวกันนั้น กพช.ก็ได้เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งแปรผันตามลักษณะของต้นกำเนิดพลังงานในราคาตั้งแต่เกือบ 3 บาทไปจนถึง 5 บาทเศษต่อหน่วยไฟฟ้า ดังตาราง ซึ่งเห็นได้ว่าราคาที่รัฐจัดซื้อจากชุมชนนี้แพงกว่าค่าไฟโดยเฉลี่ยที่ประชาชนต้องจ่ายให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นั่นหมายถึงรัฐกำลังซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชนในราคาที่ขาดทุน ยิ่งซื้อมากก็จะยิ่งขาดทุนมาก

แล้วค่าขาดทุนนี้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ประชาชนทั่วไป เราๆ ท่านๆ นี่แหละที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะทั้ง กฟน.และ กฟภ.ตลอดจน กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) จะผลักภาระการขาดทุนนี้ไปบวกอยู่ในค่า Ft ซึ่งสุดท้ายก็กลับมาสู่ค่าไฟที่แพงขึ้นของประชาชนทุกครัวเรือน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะมาช่วยกันพัฒนาสังคมของเราให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนลงผ่านกระบวนการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าของชุมชน

ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในความคิดของเราคนไทยด้วยกันไม่ช่วยกัน แล้วจะไปหวังพึ่งใครมาช่วย

ตารางที่ 1.อัตรารับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชนที่ กพช.ให้ความเห็นชอบ ณ 16 ธ.ค.62*

157969199336

อย่างไรก็ดี เรามีข้อชวนคิดในมุมมองของสิ่งแวดล้อมสำหรับอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าจากชุมชนครั้งนี้อยู่บ้าง ดังนี้

1.อัตรารับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชน มีตั้งแต่ 2.90 ไปจนถึง 5.37 บาทโดยประมาณต่อหน่วยไฟฟ้า ที่ถูกที่สุดคือการรับซื้อจากโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นต้นกำเนิดพลังงาน ส่วนที่แพงที่สุดคือจากโรงไฟฟ้าที่ใช้พืชพลังงานล้วน 100% เป็นแหล่งพลังงาน ส่วนกลางๆ ได้แก่โรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลและ/หรือของเสียเป็นแหล่งพลังงาน (ดูตาราง)

2.ข้อสังเกตรวมทั้งข้อดีข้อด้อยของแต่ละต้นกำเนิดพลังงานในแง่มุมสิ่งแวดล้อมที่เราวิเคราะห์ขึ้น แสดงอยู่ในตารางแล้วเช่นกัน

3.จากข้อวิเคราะห์นั้นเราออกจะเห็นด้วยที่รัฐจะรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในราคาที่ต่ำที่สุด เหตุผลของเราคือมันเป็นการแก้ปัญหาเพียงในมิติเดียวคือมิติพลังงาน ผิดกับอีกบางมาตรการที่แก้ไขปัญหาอื่นได้ไปพร้อมกัน ดังที่จะได้เขียนถึงต่อไป

4.แต่ที่ไม่เห็นด้วยค่อนข้างมากคือราคารับซื้อจากโรงไฟฟ้าพลังงานที่ใช้พืชพลังงานเป็นวัตถุดิบ โดยให้ราคาสูงที่สุดโดยประมาณถึง 5.37 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า และที่ไม่เห็นด้วยนอกจากเหตุผลหรือข้อสังเกตในตารางแล้ว เรายังเห็นว่ามันแย้งกับเหตุผลตามข้อ 3 คือ มันก็ยังเป็นการแก้ไขปัญหาได้ในมิติเดียวคือมิติพลังงานเช่นกัน แต่ราคารับซื้อกลับต่างกันจากต่ำสุดเป็นสูงสุดในกลุ่มในตารางนี้

5.กลับมาที่อัตรารับซื้อระดับกลางๆ คือตั้งแต่ประมาณ 3.70 ถึง 4.85 บาทต่อหน่วย ส่วนนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากของเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวมวลที่มาจากเศษซากวัสดุทางเกษตรซึ่งถ้าไม่มีคนนำไปใช้ทำอย่างอื่นก็จะถูกเผาทิ้ง ก่อให้เกิดมลพิษอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 ที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน ไปจนถึงน้ำเสียที่อาจเป็นน้ำเสียจากฟาร์มสุกร โรงเลี้ยงวัวนม โรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง โรงฆ่าสัตว์ของเทศบาล ฯลฯ

การนำเอาน้ำเสีย/ของเสียเหล่านี้ไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพหรือเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าล้วนเป็นการใช้มาตรการเดียวที่ได้ผลเป็นพหุคุณ การผลิตพลังงานจากภาคส่วนนี้จึงควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนมากที่สุด และราคารับซื้อควรจะได้มากที่สุดตามไปด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการกำจัดมลพิษให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ซึ่งโยงใยไปถึงคุณภาพของทรัพยากรที่จำเป็นของมนุษย์และสังคม ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ดิน และอากาศ

6.จากข้อสรุปทั้ง 5 ข้อข้างต้น เราจึงใคร่ที่จะเสนอให้รัฐปรับปรุงอัตรารับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ให้สอดคล้องกับมุมมองทางสิ่งแวดล้อมในโอกาสต่อไปที่เราคาดหวังว่ารัฐจะทำให้มันเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์แบบบูรณาการที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น

7.เมื่อดูจากอัตรารับซื้อไฟของภาครัฐแล้ว เราเชื่อว่าราคารับซื้อนี้สูงจนเป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนหลายคน ซึ่งก็นำพามาถึงอีกประเด็นคือ ทำเช่นไรจะทำให้ภาคชุมชนซึ่งไม่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจจะสามารถตามภาคธุรกิจได้ทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อของนักลงทุนนักฉวยโอกาสบางคน ส่วนนี้เราคงช่วยอะไรไม่ได้มากเพราะเราก็ไม่ใช่นักธุรกิจเช่นกัน เราจึงได้แต่เพียงขอภาครัฐให้ช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดปมความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีกในสังคมไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน

ขอบพระคุณมากครับ(ค่ะ)

โดย... 

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาฯ

ชนกวรรณ กะตะศิลา

นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล