FinTech Trend2020:5 ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามอง(II)

FinTech Trend2020:5 ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามอง(II)

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ตั้ง 5 ประเด็นหลักเกี่ยวกับ FinTechTrends ในปีนี้ที่น่าจับตามอง ได้แก่ “คน เงิน ธนาคารระบบ และกฎหมาย”

ซึ่งกล่าวไปแล้ว 2 ประเด็นคือ เรื่องของ คน ซึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้บริโภคในยุค Millennials จนถึง Gen Z และเรื่องของ เงิน ซึ่งได้กล่าวถึงการที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (Fiat USD) จะต้องเผชิญกับการเกิดขึ้นของ Digital Yuan และแนวคิดในการสร้าง Muslim Crypto ของประเทศกลุ่มมุสลิมโดยมีผู้นำอิหร่านเป็นคนยื่นต่อกรกับสหรัฐ

ธนาคาร”: การเกิดขึ้นของ Digital/Virtual Bank และ Blockchain Banking

หากย้อนกลับไปราว 6 ปีก่อน นับตั้งแต่ Webank ซึ่งถือเป็นธนาคารดิจิทัลเจ้าแรกของประเทศจีนได้ถือกำเนิดขึ้น และได้พิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจธนาคารที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนหลักนั้นสามารถดำเนินธุรกิจได้แบบ Completely Automated ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการสร้างสาขาและจ้างแรงงานมากกว่าธนาคารในรูปแบบเดิมได้หลายเท่า และด้วยการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์จัดการ Data อย่างเป็นระบบยังช่วยให้การเปิดบัญชีหรืออนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในอัตราสัดส่วน NPLที่อยู่ในระดับต่ำมากจึงไม่น่าแปลกใจว่ารูปแบบของ Digital/Virtual bank จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จนในเวลาต่อมาประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวันและฮ่องกงจึงได้มีการให้ license การประกอบธุรกิจ Virtual Bank และในปีนี้แน่นอนว่าเราจะได้เห็น Virtual Bank อีกหลายเจ้าแน่นอน ซึ่งแต่ละรายที่จะเกิดขึ้นใหม่นั้นเป็นผู้เล่นที่มีประสบการณ์การให้บริการรูปแบบดิจิทัลอย่างหลากหลาย เช่น Line (ได้ license ในไต้หวัน) และ Grab (กำลังยื่นขอในสิงคโปร์)

อีกประเทศที่น่าสนใจคือ เยอรมนี ซึ่งจะมีกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในปีนี้ โดยจะอนุญาตให้ธนาคารสามารถเสนอขายและเก็บรักษา Bitcoin ได้ไม่ต่างจาก fiat ทั่วไป นอกจากนี้บริษัท Bitwala ซึ่งเป็น Blockchain Startup ในเยอรมนียังจับมือกับ SolarisBank ซึ่งเป็นบริษัท FinTech ที่ได้ license ธนาคารในเยอรมนี เพื่อก่อตั้ง “Blockchain Bank Account” หรือ บัญชีออนไลน์ที่สามารถซื้อขายและเก็บรักษาคริปโท โดยอาศัยระบบปฏิบัติการ Blockchain ซึ่งเชื่อว่า การเกิดขึ้นของ Products ใหม่ ๆ เหล่านี้จะมีผลต่อการพัฒนา FinTech ของธนาคารในอนาคตอันใกล้ซึ่งเยอรมนีถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่เปิดกว้างในการทำธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทของธนาคารในลักษณะดังกล่าว

ระบบ”: เมื่อ RPA ผสานกำลังกับ AI : From Manually to Automated

ในปีที่ผ่านมา RPA (Robotic Process Automation) หรือระบบซอฟต์แวร์อัตโนมัติ เริ่มมีบทบาทและมีการนำมาปรับใช้ในภาคการเงินการธนาคารมากขึ้น ในทางปฏิบัติ RPA คือ ระบบปฏิบัติการอัตโนมัติที่ช่วยลดขั้นตอนในการทำงานของมนุษย์ เช่น ในกระบวนการกรอกข้อมูล ตรวจสอบเอกสาร หรือแม้แต่ประมวลผลสินเชื่อRPA สามารถ integrate ขั้นตอนงานต่างๆ อย่างอัตโนมัติในเวลาที่รวดเร็วและลดปัญหา human errorดังนั้น การพัฒนาซอฟต์แวร์ RPA ที่มีประสิทธิภาพย่อมช่วยให้ workflow ของสถาบันการเงินต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ในปัจจุบันธนาคารและบริษัทประกันภัยเป็นธุรกิจที่นำ RPA มาใช้งานมากที่สุด) ประกอบกับเมื่อพื้นฐานของ RPA คือ Robots ประเภทหนึ่ง ดังนั้น ในปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ จึงพยายามพัฒนา RPA ควบคู่ไปกับ AI และ NLP (กระบวนการที่ทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์)

ตัวอย่างการใช้ RPA ของธนาคารในต่างประเทศ เช่น ธนาคาร DBS ได้ร่วมมือกับ IBM เพื่อพัฒนา RPA ในงานของธนาคารและให้ RPA สามารถจัดการงานได้หลากหลายมากกว่าที่จะเป็นBack-end operations ให้กับธนาคาร ซึ่งในปัจจุบัน DBS สามารถใช้ RPA ในงานภาคธุรกิจที่ซับซ้อนและหลากหลายมากกว่า 50 รายการ เช่นเดียวกันธนาคาร OCBC ในสิงคโปร์ได้รายงานว่า ด้วย RPA สามารถพิจารณาข้อมูลลูกค้าเพื่ออนุมัติสินเชื่อบ้านจาก 45 นาทีเหลือเพียงแค่ 1 นาทีได้ และระบบสามารถโต้ตอบด้วยระบบอีเมล์และแสดงผลได้ในทันที ในขณะที่ธนาคาร Sumitomo Mitsui สามารถใช้ RPA เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ลงได้ถึง 400,000 ชั่วโมง เป็นต้น

ดังนั้น สำหรับผู้เขียน RPA จะถูกพัฒนาต่อในปีนี้และปีต่อๆ ไปและจะได้ถูกพัฒนาจากทำงาน Back-end operations เป็นหลักมาเป็น Complex tasks มากขึ้นในอนาคตอันใกล้ และด้วยการผสมผสานกับเทคโนโลยี AI RPA ในอนาคตจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในปัจจุบันมาก

กฎหมาย : ส่งเสริมและ คุมเข้ม

เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวมเร็ว แน่นอนว่ากฎหมายก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมเช่นกัน ในกลุ่มแรก คือ การส่งเสริมเพื่อสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม ตัวอย่างของกฎหมายกลุ่มนี้ เช่น จีนได้มีการออก Cryptography law หรือกฎหมายที่สนับสนุนเทคโนโลยีเข้ารหัสซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของ Blockchain ให้มีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ โดยให้มีผลบังคับใช้ในปี 2020 นี้เช่นเดียวกันสวิสเซอร์แลนด์ได้มีการเสนอแผนต่อสภาในการลดข้อจำกัดด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาBlockchain และ DLT (Distributed Ledger Technology)และเยอรมนีตามที่ได้เล่ามาในข้างต้นว่าจะมีการอนุญาตให้ธนาคารสามารถเสนอขายและเก็บรักษา Bitcoin ได้ในปี 2020 นี้เช่นกัน

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มของกฎหมายที่ออกมาเพื่อสร้างมาตรฐานที่เข้มข้นขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการออกแนวนโยบายการรักษาความปลอดภัยของการให้บริการทางการเงินและชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่(Mobile Banking) โดยกำหนดมาตรฐานให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องทำตามในการให้บริการ เช่น ไม่อนุญาตให้เครื่องใช้ root หรือ jailbreak ใช้งาน, ต้องมีมาตรการปกป้องเชิร์ฟเวอร์จากการโจมตี DDos, แอปของธนาคารต้องมีการขอสิทธิ์เท่าที่จำเป็น และต้องมีการป้องกันการขโมยล็อกอินผู้ใช้ เป็นต้น

ท้ายที่สุด ปี 2020 คงเป็นอีกปีที่ FinTech จะเติบโตไปอย่างรวดเร็ว และเราคงได้เห็นผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง FinTech จะพัฒนามากน้อยเพียงใดนั้น ไม่ใช่เรื่องของเอกชนเพียงลำพัง รัฐและการกำหนดนโยบายอย่างมีวิสัยทัศน์ คือ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมนวัฒกรรมทางการเงินให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]