แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2563(ตอนที่ 1)

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2563(ตอนที่ 1)

ช่วงต้นปี 2020 นี้ มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เป็นทั้งปัจจัยเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นต่อการลงทุน

งบประมาณผ่านรัฐสภาแล้ว รัฐบาลคงต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายกันเต็มที่ สถานการณ์ภายนอก สหรัฐและจีนเซ็นข้อตกลงการค้าเฟสแรกไปแล้ว 

ข้อตกลงการค้า เฟสแรก ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายมาก คือ จีนจะเพิ่มการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและไม่บังคับการถ่ายโอนเทคโนโลยี จีนจะซื้อสินค้าอุตสาหกรรม พลังงาน เกษตรและบริการอย่างน้อย 2 แสนล้านดอลลาร์ใน 2 ปี และต้องเปิดเสรีทางการเงิน ขณะที่ทางสหรัฐจะลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 1.2 แสนล้านดอลลาร์ลงจาก 15% เป็น 7.5% แต่ยังคงตรึงภาษีในสินค้ามูลค่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์เอาไว้จนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปีนี้ 

บรรยากาศการค้าโลกที่กระเตื้องขึ้น จะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3.5-3.6% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562 ที่เติบโตเพียง 3% (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) จีดีพีโลกปี 2563 คำนวณโดยใช้ IMF Purchasing Power Parity อยู่ที่ 149.53 ล้านล้านดอลลาร์ ผลกระทบของสงครามทางการค้าปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2001-2019 (พ.ศ. 2544-2562) ที่ระดับ 3.9 โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเคยขึ้นแตะระดับ 4.3% ในปี 2543 

ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ล่าสุดกลายเป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง เกิดความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐและอิหร่าน หลังการลอบสังหารผู้นำทางการทหารคนสำคัญ คือ นายพลกาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ด้วย โดรนสังหาร รุ่น MQ-9 Reaper ต้องรอดูสถานการณ์จะพัฒนาอย่างไรต่อไป แนวโน้มล่าสุด ไม่น่าจะเกิดสงครามเต็มรูปแบบสงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่มีความเสี่ยงที่อิหร่านจะตอบโต้ด้วยสงคราจรยุทธ์แบบก่อการร้าย ทางสหรัฐน่าจะสร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้เกิดความล่มสลายลงของระบอบของอิหร่านในปัจจุบัน 

ราคาน้ำมันและราคาทองคำ รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์จะมีความอ่อนไหวต่อพลวัตของความขัดแย้งทางการทหารดังกล่าวมากที่สุด หากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูงกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นเวลานานๆ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ จะสูงกว่าที่คาดการณ์ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความจำเป็นในการต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและทางการคลังเพิ่มขึ้น

คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะอยู่ที่ 1.9-2.1% อัตราการขยายตัวของยูโรโซนอยู่ที่ 1.2-1.5% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.5-0.8% จีนอยู่ที่ 5.8-6% อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกปีนี้ น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัวได้เพียง 1.2-1.2% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเป็นมูลค่าในรูปเงินดอลลาร์ยังคงหดตัวหรือติดลบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว การขยายตัวของการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาค อันเป็นผลจากลักษณะของระบบโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยนแปลงไปและการเผยกระจายของการกีดกันและการปกป้องทางการค้า รวมทั้งอิทธิพลของแนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยมและชาตินิยมทางเศรษฐกิจ คาดว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดการเงินยังคงเป็นบวกจากสภาพคล่องทั่วโลกที่ยังสูงมากและจะปรับเพิ่มขึ้นอีกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและธนาคารกลางจีน ราคาทองคำและดอลลาร์แข็งค่าปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง นักลงทุนมีความต้องการในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง ดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาล และทองคำมากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยบวก คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน อาจจะไม่รุนแรงขึ้น แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในสินค้าไฮเทคเทคโนโลยี จะเกิดสงครามค่าเงินมากขึ้น(Currency War) นอกจากนี้ อาจเกิดความขัดแย้งทางการค้าประเด็นเรื่องการเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจออนไลน์ระหว่างสหรัฐกับยุโรป ส่วนBrexitนั้นจะยืดเยื้อไปอีกนานกว่าจะมีข้อตกลงกันได้

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงมากและยังมีการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ยังไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่หลายท่านเรียกว่า “เผาจริง” แต่อย่างใด หรือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 เพียงแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำต่อเนื่องยาวนาน อันเป็นผลจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันจากคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพการศึกษา การแพร่กระจายของการคอร์รัปชันในทุกระดับ รวมทั้งความเสื่อมศรัทธาอันเป็นผลจากการไม่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรม 

นอกจากนี้ยังไม่สามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิสรัปชันได้อย่างเท่าทัน ทั้งในส่วนของกิจการและธุรกิจต่างๆ ตลอดจนถึงคนงาน จึงทำให้เกิดภาวะเลิกจ้างและว่างงานเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.8-2.9% ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีโดยเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยจะมีจีดีพีต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ในปีนี้ อัตราการขยายตัวจีดีพีโดยเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 6% เศรษฐกิจไทย

การประกาศให้ปีนี้ เป็นปีแห่งการลงทุน จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาและผลักดันอย่างจริงจัง “การลงทุน” ต้องมุ่งไปที่ อนาคตระยะยาวของประเทศมากกว่าปัญหาการเติบโตต่ำของปีนี้ โครงการลงทุนทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วม วางรากฐานอนาคตสำหรับ “ประเทศ” และ “ลูกหลาน” ไทย ไม่สร้างภาระทางการคลังจนสะสมความเสี่ยงวิกฤตฐานะทางการคลังในอนาคต 

นอกจากนี้ ต้องไปหาสาเหตุว่า ทำไม กลุ่มทุนข้ามชาติสัญชาติไทย และ กลุ่มทุนข้ามชาติ จึงลงทุนน้อยกว่าเป้าหมายที่เราได้ตั้งเอาไว้มาก

การประมูล 5G ในเดือน ก.พ. และการนำ 5G มาใช้หลังจากนี้ จะเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจอุตสาหกรรม พฤติกรรมผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ขนาด ความรวดเร็วของพลวัตนี้ จะเข้ามาพลิกโฉม พลิกผัน สร้างความปั่นป่วนให้กับหลายกิจการ ขณะเดียวกันก็เกิดโอกาสอย่างมหาศาลต่อพลวัตดังกล่าว 

แนวโน้มของเทคโนโลยีสำคัญ ที่เราเรียกว่า Strategic Technology Trends จะเห็นอย่างชัดเจนด้วยอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้ธุรกิจล่มสลายในพริบตา รวมทั้งก่อเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมาทดแทนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราจะเห็นแน่ๆ หากมีนโยบายและการกำกับดูแลที่ถูกต้อง คือ Democratization of Expertise and business opportunities คือ การเปิดโอกาสในการเข้าถึงความเชี่ยวชาญความรู้ทางเทคนิค และ การแพร่กระจายของโอกาสทางธุรกิจ และยังเกิดสิ่งที่เรียกว่า Human Augmentation เกิด ระบบ Distributed ของระบบการทำงานของสิ่งต่างๆ ของกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ แทนที่ ระบบ Centralized ของระบบและกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ แนวโน้มนี้เกิดมากขึ้นมากขึ้นจาก Distributed Cloud และ เทคโนโลยี Blockchain ผมจะขออนุญาตยกไปขยายความต่อใน ตอน 2 ครับผม